สธ.เดือดไม่หยุด′รัชตะ′เดินหน้ากม.คุ้มครองผู้ป่วย′แพทยสภา′สวนทันทีต้านถึงที่สุด

วันที่ 9 มีนาคม  ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวถึงการผลักดันร่างพ.ร.บ.กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ…ภายในงานประชุมวิชาการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่า ขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพแห่งชาติ(สบส.) อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นซึ่งตามกำหนดการแล้วน่าจะเหลืออีกประมาณ 1 เดือนจะแล้วเสร็จ
จากนั้นจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  อยากให้มีกฎหมายลักษณะคุ้มครองประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์โดยไม่มีกรพิสูจน์ถูกผิดยกเว้นกรณีที่เกิดขึ้นเพราะความประมาท ในส่วนที่แพทยสภาออกมาคัดค้านว่าไม่ควรมีกฎหมายตัวนี้ แต่ให้ไปแก้ที่มาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาภาครัฐ และขยายวงเงินให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมแทนนั้น ความเห็นต่างตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี ก็ต้องมาหารือกัน
วันเดียวกัน ที่แพทยสภา  โดย ศ. นพ.สมศักดิ์ โลห์เลขา นายกแพทยสภา นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา  นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ  กรรมการแพทยสภา ร่วมแถลงข่าวค้านร่างพ.ร.บ.กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบฯ อย่างถึงที่สุด
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่ให้มีกองทุนขึ้นมาใหม่นั้นถือเป็นการซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณมากเพราะจะต้องมีการตั้งสำนักงานตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการย่อยๆอีก แต่ละคนได้รับเงินเดือนเป็นแสนๆ ซึ่งการตั้งกองทุนชนิดที่เงินเหลือไม่ต้องส่งคืนคลังแบบนี้เยอะมากในวงการสาธารณสุข ในขณะที่มาตรา 41 ของพ.ร.บ.สุขภาพนั้นไม่จำเป็นต้องตั้งอะไรเพิ่มเติม เพราะ สปสช.ก็ดำเนินการได้ดีมาตลอด โดยมีการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ป่วยไปประมาณปีละ 200 ล้านบาท ดังนั้นแพทยสภาจะผลักดันเรื่องมาตรา 41 ให้ขยายวงเงินและครอบคลุมทุกสิทธิสุขภาพภาครัฐ
“แพทยสภาเห็นด้วยในการชดเชยความเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุขแต่ขอวิงวอนให้รัฐบาลดำเนินการปรับแก้มาตรา41แทน โดยขยายวงเงินสูงสุดถึง 2 ล้านบาท และให้ดูแลครอบคลุมกองทุนบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยเป็นการจ่ายชดเชยแบบสิ้นสุดทันที ไม่ให้มีการฟ้องร้องแพทย์ต่อ เรื่องนี้จะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โดยจะเสนอในวันที่ 12 มีนาคม เนื่องจากสปช.จะจัดงานประชุมเรื่องนี้”
นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า  เห็นด้วยเรื่องการคุ้มครองประชาชน แต่ต้องคุ้มครองให้ถูกต้อง ไม่ใช่คุ้มครองแบบประชานิยมแบบนี้เลิกเสียที ยิ่งเรื่องการไม่พิสูจน์ถูกผิด ยิ่งไม่ได้ เพราะอย่างไรเสียต้องมีการพิสูจน์ความจริงว่า มีการรักษาถูกต้องตามหลักวิชาชีพหรือไม่ เพราะหากไม่มี การพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นจะมีได้อย่างไร
นพ.เมธี กล่าวว่า จากการอ่านกฎหมายใหม่อย่างละเอียด พบว่าเป็นหลักการที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับฉบับเดิม แต่มีหลายเรื่องที่ไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เช่น  การรับเงินช่วยเหลือแล้วจบ ไม่ฟ้องร้องต่อ ซึ่งจะเป็นไปได้ในทางคดีแพ่ง   แต่ยังมีการฟ้องทางอาญาอยู่
ไม่เข้าใจว่าจะผลักดันตั้งกองทุนใหม่เพื่ออะไร เพราะขณะนี้ไม่เพียงแต่มาตรา 41 ของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง แต่ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม กำลังผลักดันกฎหมายลักษณะจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีผู้ประกันตนรับผลกระทบเช่นกัน และเชื่อว่าสิทธิข้าราชการกำลังดำเนินการด้วย จะครอบคลุมหมดแล้ว
ที่มา : http://www.matichon.co.th
Tue, 03/10/2015
Copyright © 2018. All rights reserved.