หญิงชาติพันธุ์อาข่าไร้สัญชาติขอถือสัญชาติไทยตามสามี

ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความอยากได้สถานะสัญชาติไทย นางอานุ่ม ยูรึ  จึงเคยตกเป็นเหยื่อของกลุ่มขบวนการแสวงหาประโยชน์ ที่อ้างตนว่ามาจากองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ภาคพลเมือง) เข้ามาชักชวนให้ชาวบ้านทำบัตร   “บัตรแสดงตนสมาชิกวิสามัญ ของ อ.ส.ม.ช.”  โดยชักจูงให้หลงเชื่อว่าบัตรที่ชาวบ้านจะได้รับ สามารถเดินทางออกพื้นที่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ทำให้ชาวบ้านและนางอานุ่ม  จำนวนกว่า 50 ราย ได้หลงเชื่อ เสียเงินให้กับกลุ่มขบวนการเหล่านี้ รายละ 2,000-3,000 บาท  จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ นางอานุ่ม  ไม่กล้าเชื่อใครง่ายๆ อีกต่อไปและยังคงจดจำไว้เป็นบทเรียน   เพราะหลังจากเสียเงินไปบัตรที่ได้มาก็ไม่มีผลใด ๆ ตามที่องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ภาคพลเมือง)  กล่าวอ้างตามสรรพคุณของบัตรที่ตนและชาวบ้านรายอื่น ๆ ถือครองอยู่   การเดินทางไปไหนมาไหนก็ต้องขออนุญาตเหมือนเดิม  ซ้ำร้ายเมื่อตรวจสอบบัตรที่ตนถือก็ไม่มีผลใดๆที่จะกล่าวอ้างกับทางราชการได้เลย   ตนและชาวบ้านต้องตกเป็นเหยื่อเพราะการหลงเชื่อในครั้งนี้

เพราะไม่อยากให้ใครตกอยู่สภาพเดียวกับเธอ เธอจึงตัดสินใจให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI และมีโอกาสได้พบกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา  ที่ทำงานด้านสิทธิและสถานะบุคคล

ต่อมานางอานุ่มพร้อมสามีได้เดินทางมามูลนิธิกระจกเงา  เพื่อขอคำปรึกษาในการคลี่คลายปมปัญหาสถานะที่ประสบมาแสนนาน    การเดินทางมาวันนี้เธอได้รู้ว่าคนต่างด้าวอย่างเธอก็สามารถมีสิทธิขอสัญชาติไทยได้ ในรูปแบบขอถือสัญชาติไทยตามสามี  ซึ่งนับว่าโชคดีที่เธอมีสามีเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด ตามระเบียบ สำนักงานทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง ..2543  เราจึงแนะนำให้นางอานุ่มไปติดต่อยื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียนอำเภอเมืองเชียงราย  ปรากว่าเจ้าหน้าที่อำเภอไม่กล้ารับคำร้อง เพราะไม่เคยพบเจอกรณีดังกล่าว   นายยุทธชัย  จะจู  เจ้าหน้าที่โครงการ ฯ  มูลนิธิกระจกเงา  จึงได้โทรศัพท์หารือกับ นายสนั่น ราชตา เจ้าพนักงานปฏิบัติการจังหวัด   จึงทำให้ทราบว่ากรณีนางอานุ่ม สามารถยื่นคำร้อง ฯ ได้  หากเป็นกรณีที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย จำนวน 20 กลุ่ม  ตามแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ  พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑   ที่ว่า

“ ก. กรณีขอถือสัญชาติไทยตามสามี ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘

๑. ผู้ยื่นคำขอจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยและมีชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓หรือ ท.ร.๑๔)

๒. ผู้ยื่นคำขอจะต้องจดทะเบียนสมรสกับชายไทยถูกต้องตามกฎหมายมาไม่น้อยกว่า ๓ ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ ส่วนกรณีมีบุตรกับคู่สมรสซึ่งเป็นชายไทย จะต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตาม  กฎหมายมาไม่น้อยกว่า ๑ ปี

๓. สามีผู้ยื่นคำขอจะต้องมีอาชีพเป็นหลักฐาน หรือมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว

๓.๑ ผู้ยื่นคำขอเป็นคนต่างด้าวทั่วไป สามีผู้ยื่นคำขอจะต้องมีอาชีพเป็นหลักฐาน โดยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท/เดือน หรือสามีผู้ยื่นคำขอจะต้องมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท

ทั้งนี้จะต้องแสดงหนังสือรับรองเงินเดือน/รายได้ และแสดงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยในรายปีที่ผ่านมาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอประกอบอาชีพ ต้องแสดงหนังสือรับรอง

การประกอบอาชีพจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว หรือสำนักจัดหางาน จังหวัด โดยสามารถนำ รายได้ของตนไปรวมกับรายได้ของสามีเพื่อให้ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนดข้างต้น โดยแสดงหนังสือรับรองเงินเดือน /รายได้ และหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ในประเทศ ไทยในราบปีที่ผ่านมาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย

๓.๒ ผู้ยื่นคำขอเป็นคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย สามีผู้ยื่นคำขอจะต้องมีอาชีพเป็นหลักฐานโดยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท/เดือน หรือสามีผู้ยื่นคำขอจะต้องมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้จะต้องแสดงหนังสือรับรองเงินเดือน /รายได้ และแสดงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้

ในประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอประกอบอาชีพ ต้องแสดงหนังสือรับรองการประกอบอาชีพจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวหรือสำนักจัดหางานจังหวัดโดยสามารถนำรายได้ของตนไปรวมกับรายได้ของสามี เพื่อให้ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนดข้างต้น โดยแสดงหนังสือรับรองเงินเดือน /รายได้และหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย

๔. ผู้ยื่นคำขอจะต้องผ่านการตรวจสอบสถานภาพการสมรสและประวัติจากหน่วย งานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

๔.๑ ตรวจสอบสถานภาพการสมรสจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

๔.๒ ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม (โดยพิมพ์ลายนิ้วมือส่งตรวจสอบ ) จากกองทะเบียนประวัติอาชญากร

๔.๓ ตรวจสอบพฤติการณ์บุคคลและทางการเมืองจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล

๔.๔ ตรวจสอบพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

๔.๕ ตรวจสอบพฤติการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

๔.๖ ตรวจสอบหมายจับจากกองการต่างประเทศ ส านักงานตำรวจแห่งชาติ

๕. ผู้ยื่นคำขอและคู่สมรสจะต้องไม่จดทะเบียนสมรสโดยปกปิดข้อเท็จจริงและต้องผ่านการสัมภาษณ์เพื่อสอบถามเจตนารมณ์ และสังเกตพฤติการณ์ของคู่สมรส จาก

๕.๑ กรณีผู้ยื่นคำขอเป็นคนต่างด้าวทั่วไป หรือเป็นคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ ให้ผ่านการสัมภาษณ์จากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย การขอถือสัญชาติไทยตามสามีและการขอกลับคืนสัญชาติไทย ตามคำสั่งคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ ที่ ๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

๕.๒ กรณีผู้ยื่นคำขอเป็นคนต่างด้าวทั่วไป หรือเป็นคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยและมีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ให้ผ่านการสัมภาษณ์จากคณะทำงานสัมภาษณ์ สังเกตพฤติการณ์ และทดสอบความรู้ภาษาไทยแก่ผู้ยื่นคำขอที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ตามคำสั่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย การขอถือสัญชาติไทยตามสามี และการขอกลับคืนสัญชาติไทยที่ ๑/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒

๕.๓ กรณียื่นคำขอต่อพนักงานทูตหรือกงสุลในต่างประเทศ ให้ผ่านการสัมภาษณ์และสังเกตพฤติการณ์จากคณะทำงานในต่างประเทศ ตามคำสั่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยการขอถือสัญชาติไทยตามสามี และการขอกลับคืนสัญชาติไทย ที่ ๑/๒๕๕๓ ลงวันที่  ๑๒ มกราคา ๒๕๕๓

๖. เมื่อผู้ยื่นคำขอได้รับอนุญาตให้ได้สัญชาติไทยแล้ว กรณีประเทศของผู้ยื่นคำขอมีสถานทูตหรือสถานกงสุลตั้งอยู่ในประเทศไท ย ให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งเรื่องการได้สัญชาติไทยให้สถานทูตหรือสถานกงสุลแห่งประเทศของผู้ยื่นคำขอทราบเกี่ยวกับการได้สัญชาติไทย ส่วนกรณีประเทศของผู้ยื่นคำขอไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลตั้งอยู่ในประเทศไทย ให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแจ้งไปยังประเทศของผู้ยื่นคำขอเกี่ยวกับการได้สัญชาติไทยดังกล่าว

เมื่อทำความเข้าใจในหลักการปฏิบัติ  ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการรับคำร้องของนางอานุ่ม  อยู่รึเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Wed, 03/18/2015

Copyright © 2018. All rights reserved.