ปมค้ามนุษย์ไทยรัฐต้องแก้ไขมากกว่าแก้ตัว

จากการที่ไทยได้ส่งรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยประจำปี 2557 ให้ต่างชาติเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับรายงานดังกล่าว ซึ่งมีข้อเสนอกลับมาว่าอยากให้มีการนำเสนอข้อมูลคดี และเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์มากกว่านี้ ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหามนุษย์ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย เห็นชอบให้มีการแก้ไขรายงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้เพื่อให้ทันกำหนดรอบการประเมินที่จะครบกำหนดวันที่ 31 มี.ค.
พร้อมกันนี้ยังได้วางแผนการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์โดยบูรณาการข้อมูลควบคู่ไปกับการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อให้ต่างประเทศเห็นความตั้งใจจริงของภาครัฐในการแก้ปัญหานี้นั้น
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญมากต่อการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างออกมาตรการต่างๆ นานา มากมายเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกาศใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ได้นำมาดำเนินการอย่างเต็มที่ ส่วนใหญ่ที่ตกเป็นข่าวมีลักษณะแก้ตัวมากกว่าแก้ไข เช่น การประกาศความคืบหน้าแล้วบอกว่า เราทำดีแล้วแต่ไม่มีสิ่งยืนยันที่เป็นรูปธรรมเพื่อสะท้อนสิ่งที่เราบอกว่าเราทำดีแล้วอย่างไร
“เราใช้วิธีการเชิงประชาสัมพันธ์มากเกินไป และมากกว่าการลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ”
ตัวอย่างของเหตุการณ์ค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นมีการแยกประเภทกันไป เช่น การค้ามนุษย์ การกระทำทารุณกับเด็ก แล้วมีการแก้ไขในแต่ละกรณีอย่างไร ผลการจับกุมมีบุคคลระดับใดบ้าง จำนวนเท่าไร แล้วผลการตัดสินเมื่อเข้าสู่กระบวนศาลเป็นเช่นไร
นี่คือผลที่สหรัฐนำมาวัดระดับความรุนแรง ขณะเดียวกัน เมื่อสหรัฐนำข้อมูลเหล่านี้มาชี้แจง บ้านเรากลับปฏิเสธความจริงในข้อมูล และถามหาความน่าเชื่อถือจากแหล่งข้อมูลเหล่านั้น
นายสุรพงษ์ มองว่า สิ่งที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาเพื่อให้ประเทศไทยถูกปรับลดอันดับคือ การค้ามนุษย์โรฮิงญา คือ หัวข้อปัญหาที่สหรัฐทวงติง แต่เรื่องนี้ไม่เคยได้รับการแก้ไข กล่าวคือ เดิมทีตั้งแต่ไทยถูกจัดอันดับความรุนแรงให้อยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 ประเด็นนี้ ก็ไม่ได้อยู่ในนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหา กระทั่งไทยตกอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 เพราะว่าไม่ได้แก้ไขแต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข หรือทำให้เห็นเป็นกรณีตัวอย่างแม้แต่กรณีเดียว
สิ่งที่เตือนเราล้วนมาจากข้อมูลที่ชัดเจนว่า ปัญหาการค้ามนุษย์โรฮิงญา ไม่ว่าจะมาจากเมียนมาร์ หรือบังคลาเทศ ได้เกิดเรื่องนี้ในบ้านเราและเขาก็เตือนแล้วให้ดำเนินการ หากเราไม่ดำเนินการเขาจะใช้เป็นข้ออ้าง
“เมื่อหลายปีก่อน สหรัฐเคยแจ้งเตือนการค้ามนุษย์ในเรือประมงทะเล แต่กลับได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลไทยตั้งแต่ปีแรกที่มีการแจ้งเตือน จนเราได้เทียร์ 2 ปีต่อมาเราจึงยอมรับว่ามีจริง แล้วนำเคสนี้มาแก้ไขปัญหาซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการค้ามนุษย์บนเรือประมง ได้รับการแก้ไขจริงๆ ในหลายเรื่อง แต่เรื่องโรฮิงญายังไม่ได้รับการแก้ไข”
นายสุรพงษ์ เล่าว่า เมื่อปี 2550 ทางการไทยจับกุมผู้อพยพชาวโรฮิงญาทางเรือ โดยส่งดำเนินคดีในชั้นศาลแล้วเพียงครั้งเดียวแต่ปีถัดไป บ้านเราก็ไม่เคยปรากฏพบการอพยพชาวโรงฮิงญาทางทะเลอีกเลย เพราะข่าวแพร่สะพัดไปจนไม่สามารถหลอกได้ว่าหากเดินทางด้วยเรือจะไม่ถูกจับกุม แต่ก็น่าเสียดายตรงที่ หลังจากนั้นในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่ออกทำการจับกุมอีกเลยเช่นกัน
นอกจากปัญหาการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาแล้ว เขายังชี้ว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยถือว่าอยู่ในช่วง “ขยายตัว” เพราะในระยะหลังมีข้อมูลชนชาติต่างๆ เริ่มใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อการเดินทางไปยังประเทศที่ 3 เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุยกูร์ หรือชาวปาเลสไตน์จากซีเรีย หรือกลุ่มชนที่มีปัญหากับรัฐบาลเวียดนาม และเมื่อการเดินทางระยะไกลต้องผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมืองตามท่าอากาศยานนานาชาติและค่าประสานงานอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการลักลอบเข้าประเทศที่ 3 อยู่ในระดับหลักล้านบาท
จากปัญหาเหล่านี้จึงถึงเวลาที่ภาครัฐจำเป็นต้องมีความจริงจังต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา อาจจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดนโยบาย ไม่ควรมีวาทะที่ว่า “ตรวจสอบแล้วไม่ใช่เป็นการค้ามนุษย์แต่เป็นเพียงการขนถ่ายคน” เพื่อเป็นการปฏิเสธความจริงของปัญหา หรือมองคนเหล่านี้ในฐานะผู้ต้องหาหลบหนีเข้าเมือง ไม่มีกระบวนการสอบสวนเพื่อค้นหาความจริงในกระบวนการที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมาย และขยายผลเล่นงาน “ตัวการใหญ่” ของขบวนการค้ามนุษย์ที่ยังลอยนวลอยู่จนถึงทุกวันนี้
โดย สิทธิชัย นครวิลัย
ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 มี.ค.2558
ภาพประกอบ : www.banglamungdistrict.go.th
Wed, 03/25/2015
Copyright © 2018. All rights reserved.