UN-องค์กรผู้ลี้ภัย เรียกร้อง 9 ข้อ วอนไทย-มาเลย์-อินโดฯช่วยผู้อพยพ

หน่วยงานของสหประชาชาติและองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยต่างๆ ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ช่วยเหลือผู้อพยพที่ติดค้างอยู่กลางทะเลอย่างเร่งด่วน โดยระบุว่า ให้คำนึงถึงการช่วยเหลือชีวิตเป็นอันดับแรก…

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์), สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์), องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) และผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ (เอสอาร์เอสจี) เพื่อการพัฒนาและการย้ายถิ่นฐาน ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ร้องขอให้ประเทศไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ช่วยเหลือผู้อพยพที่ติดค้างอยู่บนเรือกลางทะเลในอ่าวเบงกอล และทะเลอันดามัน รวมทั้งระบุข้อเรียกร้องเอาไว้ 9 ข้อ

แถลงการณ์ร่วมระบุว่า “พวกเราซึ่งร่วมลงนามไว้แล้วในข้างท้าย ขอเรียกร้องอย่างรุนแรงต่อผู้นำของประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และไทย ให้ปกป้องผู้อพยพและผู้ลี้ภัยซึ่งติดค้างอยู่บนเรือในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน, อำนวยความสะดวกในการนำพวกเขาขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย และให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือชีวิต, ปกป้องสิทธิ และเคารพในคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นลำดับแรก

“สถานการณ์วิกฤติในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา อันเกี่ยวเนื่องกับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวโรฮีนจา และอื่นๆ จากบังกลาเทศ และเมียนมา เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า ผู้ด้อยโอกาสทั่วโลกกำลังเคลื่อนไหวเพื่อค้นหาความปลอดภัยและความภาคภูมิ, หลบหนีการข่มเหงรังแก ความยากจนอันอย่างน่าเวทนา การถูกทอดทิ้ง การแบ่งแยก และการทารุณกรรม โดยการเดินทางซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายเช่นนี้ ไม่ว่าจะทางบก, ทางทะเล หรือทางอากาศ กลายเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลกไปแล้ว

“ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนมากกว่า 88,000 คน เสี่ยงภัยออกเดินทางทางทะเลตั้งแต่ปี 2014 รวมไปถึง คน 25,000 คน ผู้เดินทางไปถึงจุดหมายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เชื่อว่าเกือบ 1,000 ชีวิต ต้องดับสิ้นไปในทะเล จากปัจจัยแวดล้อมของการเดินทางที่ไม่ปลอดภัย และเพราะการถูกทารุณกับความขาดแคลนในเงื้อมมือของขบวนการค้ามนุษย์ ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในอ่าวเบงกอล รับประทานเพียงข้าวขาว และตกเป็นเหยื่อความรุนแรง รวมทั้งความรุนแรงทางเพศ ผู้หญิงถูกข่มขืน เด็กต้องพลัดพรากจากครอบครัวและถูกทารุณ ผู้ชายถูกทุบตีและโยนลงจากเรือ

“เราเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อรายงานที่ว่า เรือซึ่งเต็มไปด้วยชาย หญิง และเด็กด้อยโอกาส ไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ และต้องลอยลำอยู่กลางทะเลโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำ และยา ซึ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วน เราขอเรียกร้องต่อรัฐต่างๆในภูมิภาค ให้ปกป้องชีวิตของคนบนเรือเหล่านี้ ด้วยการอนุญาตให้พวกเขาขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย”

 

แถลงการณ์ยังขอให้เหล่าผู้นำทำตามข้อเรียกร้องดังนี้ด้วยการสนับสนุนจากประชาคมอาเซียน :

1. ยึดถือเรื่องการช่วยชีวิตเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ด้วยการยกระดับความเข้มแข็งของปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย

2. หยุดการผลักดันเรือและมาตรการต่างๆ ที่ช่วยให้เรือเหล่านั้นออกจากน่านน้ำ ขณะที่รับประกันด้วยว่า มาตรการทั้งหมดที่ใช้นั้นสอดคล้องกับข้อปฏิบัติของหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนอื่นๆ

3. เตรียมการเพื่อนำเรือเข้าฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพและพยากรณ์ได้ ไปยังสถานที่ปลอดภัยที่มีการต้อนรับทางมนุษยธรรมอย่างพอเพียง

4. หลีกเลี่ยงการจับกุมผู้อพยพและมาตรการลงโทษอื่นๆ และรับรองด้วยว่าสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทั้งหมดจะได้รับการคุ้มครอง และการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จะต้องถูกชี้นำด้วยผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก

5. จัดตั้งกระบวนการคัดกรองด้วยเจ้าหน้าที่ร่วมจากรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อจำแนกแยกแยะสถานการณ์ของผู้อพยพแต่ละคน ว่าเป็น ก. ผู้อพยพที่ต้องการความคุ้มครองเช่น หลบภัย ลี้ภัย หรือ เป็นบุคคลไร้สัญชาติ ข. เป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์หรือผู้มีความเสี่ยง ถูกทรมานหรือการทารุณอื่นๆ หากถูกส่งกลับประเทศที่พวกเขาจากมา ค. ผู้อพยพที่มีปัญหาสุขภาพต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน และ ง. ผู้อพยพที่สมัครใจเดินทางกลับมาตุภูมิด้วยตัวเอง

6. เพิ่มช่องทางเพื่อการอพยพอย่างถูกกฎหมายและปลอดภัย โดยเฉพาะสำหรับแรงงานอพยพในทุกระดับทักษะ

7. เพิ่มความพยายามในการดำเนินคดีเอาผิดกับสมาชิกขบวนการค้ามนุษย์และผู้ขนส่งคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อสิทธิมนุษยชน และเคารพสิทธิ์ของผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างเต็มที่ด้วย

8. เพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศเป็น 2 เท่า เพื่อหาทางแก้ไข ‘ปัจจัยผลักดัน’ และรากเหง้าของปัญหาที่ทำให้เกิดการอพยพและลี้ภัย โดยเฉพาะการแบ่งแยก, การถูกทอดทิ้ง, การข่มเหงรังแก และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

9. ออกมาตรการเฉพาะเพื่อต่อสู้กับการหวาดกลัวชาวต่างชาติ และการแบ่งแยกใดๆ บนพื้นฐานของเชื้อชาติ, เพศ, ภาษา, ศาสนา, ชนเผ่า, สัญชาติ, ถิ่นกำเนิด หรือสถานะอื่นๆ

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 20 พ.ค. 2558 01:16

Wed, 05/20/2015
Copyright © 2018. All rights reserved.