เรือขนควาย รหัสเฉพาะในหมู่เรือเมื่อไปรับผู้อพยพชาวโรฮีนจา และเบื้องหลังการมีชีวิตอยู่บนเรือ

ในหมู่ชาวเรือแถวระนอง และแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน เรียกหมู่เรือเหล่านี้ว่า “เรือขนควาย” หรือ “เรือบรรทุกควาย”

และควายฝูงนั้นคือ ผู้อพยพชาวโรฮิงญา หรือ โรฮีนจา ตามศัพท์บัญญัติใหม่ของราชบัณฑิตยสถาน

นับย้อนหลังไปนานราว 6-7 ปี ในทุกปีเมื่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้สงบลง ตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม ทะเลอันดามันจะราบเรียบปราศจากคลื่นลม

เมื่อนั้น ฤดูกาลแห่งการอพยพย้ายถิ่นฐานทางเรือของชาวโรฮิงญาจะเริ่มต้น และดำเนินไปตลอดหกเดือนที่คลื่นลมสงบเงียบในทะเลอันดามัน

ชีวิต ความอยู่รอด และความตาย ดำรงหมุนเวียนในทะเลนี้ไม่สิ้นสุด

รหัสเฉพาะที่ใช้ขึ้นเสียงทางวิทยุคุยกันในหมู่เรือเมื่อไปรับผู้อพยพชาวโรฮิงญา คือ “ไปขนควาย” หรือ “ไปบรรทุกควาย”

เรือเหล่านั้นจึงได้ชื่อเฉพาะว่า “เรือขนควาย” หรือ “เรือบรรทุกควาย”

ปีต่อๆ มาเมื่อมีความเข้มงวดจากทางการมากขึ้น การขึ้นเสียงทางวิทยุเรื่อง “ไปขนควาย” จึงลดน้อยลง หันมาใช้โทรศัพท์ดาวเทียมคุยกันมากขึ้น

ในยุคแรกของการอพยพ เรือรุ่นแรกที่ใช้ขนชาวโรฮิงญา เป็นเรือขนาดเล็กเช่นเรืออวนลอยขนาดเล็ก เรือจับปูจั๊กจั่น หรือเรือระเบิดปลา เรือรุ่นนี้เป็นเรือขนาด 200-300 ถัง เทียบได้กับเรือขนาด 50-60 ตัน ไม่เกิน 100 ตัน ความยาวประมาณ 9 วา หรือ 18 เมตร ไม่เกินไปกว่านี้

ถึงจะเป็นเรือขนาดเล็ก แต่เรือยุคนั้นก็ขนชาวโรฮิงญาได้ลำละ 100-200 คน นอนยัดทะนานกันมาบนดาดฟ้า และสุมกันอยู่ในซองนอนใต้ท้องเรือ ในยุคนั้นการตรวจตราของทางการยังไม่เข้มงวด เรือขนควายยุคแรกจึงนำชาวโรฮิงญามาส่งขึ้นฝั่งได้จนถึงชายหาดและแนวป่าโกงกางชายแดนระนองต่อกับอำเภอคุระบุรี จ.พังงา


ภาพ AFP

ชาวมุสลิมชุดแรกเข้ามาสู่แคว้นยะไข่ (Rakhine State) หรือรัฐอาระกัน (Arakan State) ภาคเหนือของพม่า จากการชักนำของอังกฤษผู้กำลังทำสงครามยึดครองพม่าในยุคนั้น โดยนำเข้ามาเป็นกำลังรบเพื่อยึดครองพม่าภาคเหนือ

มุสลิมชุดนี้มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในอินเดียซีกที่ต่อมากลายเป็นบังกลาเทศ เมื่ออังกฤษยึดครองยะไข่และพม่าได้ทั้งประเทศ ก็ปล้นเอาทรัพย์สิน ทับทิม เพชรพลอยของราชวงศ์พม่าขนกลับไปลอนดอนจนหมด มุสลิมกลุ่มนี้ได้ข่มเหง ทำร้ายชาวยะไข่ในฐานะผู้ยึดครอง แถมอังกฤษให้ลงหลักปักฐานสร้างบ้านเรือนในยะไข่ และมีผู้อพยพเข้ามาสร้างบ้านเรือนเพิ่มเติมอีก

สร้างความเคียดแค้นไม่รู้จบให้ชาวพม่า

ต่อมาเมื่ออังกฤษออกจากพม่า มุสลิมชุดนี้จึงตกค้างและไม่เป็นที่ยอมรับของชาวยะไข่ และโดนแก้แค้นเอาคืนจากพม่า ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมานานกว่าร้อยปีแล้ว แต่ลูกหลานมุสลิมกลุ่มนี้ที่ถือกำเนิดในพม่า ก็ไม่ได้รับสัญชาติพม่า ไม่ได้รับการศึกษา การรักษาพยาบาล แต่อย่างใด

มุสลิมกลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า ชาว “โรฮิงญา”

เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อลูกสาวของหัวหน้าหมู่บ้านชาวพุทธแห่งหนึ่งในแคว้นยะไข่ ที่กำลังจะเข้าสู่พิธีแต่งงาน ถูกชาวมุสลิมฉุดไปข่มขืน

การแก้แค้น ทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยชาวพุทธในแคว้นยะไข่ร่วมกับทหารเมียนมาร์จึงรุนแรงสุดขีด ชาวโรฮิงญาจำนวนนับพันถูกฆ่า เอาศพมาวางเรียงบนถนนยาวเหยียดสุดสายตา บ้านเรือนถูกเผาทำลายราบคาบ

การอพยพหนีความตายอันไม่สิ้นสุดของชาวโรฮิงญาทั้งแม่ลูกอ่อน เด็กทารก คนหนุ่มสาว จนถึงคนชราอายุกว่า 60 ปี จึงเริ่มต้นนับแต่บัดนั้น

นี่คือความจริงอันน่ารันทดที่ไม่มีการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ ความจริงที่น่าเศร้าใจที่สุด คือ โรฮิงญาเกือบ 2 ล้านคนคือมนุษย์ไร้สัญชาติ อยู่ในแคว้นยะไข่ ถือกำเนิดที่นั่น แต่ไม่ได้รับสัญชาติเมียนมาร์ จะข้ามชายแดนเข้าไปแถบเมืองค็อกซ์พลาซ่าหรือเมืองจิตตะกองของบังกลาเทศ ถิ่นกำเนิดเดิมของบรรพบุรุษ ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากบังกลาเทศ เพราะที่นั่นก็ยากจนอยู่แล้ว ขืนแบกรับโรฮิงญาจากยะไข่เข้าไปอีก จะเอาอาหารที่ไหนมาแบ่งกันกิน

ในเมียนมาร์ มีชนเผ่าชาติพันธุ์เกือบ 140 เผ่า แต่พม่าไม่เคยยอมรับว่ามีชนเผ่าโรฮิงญาในบันทึกของทางการ

ทางออกของโรฮิงญามีทางเดียว คืออพยพทางเรือมาสู่มาเลเซียหรืออินโดนีเซีย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ในยุคแรก เจ้าของเรือจะได้รับค่าขนควายหัวละ 10,000 บาท แบ่งให้ไต๋ผู้ควบคุมเรือหัวละ 500 บาท เมื่อส่งผู้อพยพเรียบร้อยจะได้รับเงินตามจำนวนคนที่ขนมา ส่วนลูกเรืออีก 4 คน ได้ค่าแรงเที่ยวละ 30,000 บาทต่อคน

ผ่านจากยุคแรก เรือขนควายพัฒนาเป็นเรือขนาดใหญ่ขึ้น ขนได้ 500 คนต่อเที่ยว บางแหล่งข่าวบอกว่าเรือรุ่นใหม่บางลำขนได้ถึงเที่ยวละเกือบ 1,000 คน มองจากภายนอกจะเหมือนเรือประมงอวนลากทั่วไป แต่ภายในระวางเรือ ใต้ดาดฟ้าเรือที่เคยเป็นห้องเย็นบรรทุกปลา จะทำเป็นซองนอนเป็นเตียงเรียงขึ้นไปเป็นชั้นๆ นอนหันหัวไปทางแคมเรือ หันเท้ามาทางช่องกลางเรือที่ทำเป็นทางเดิน ติดโบว์เออร์เป็นพัดลมตลอดท้องเรือ เพื่อดูดอากาศเข้าออก ระบายความร้อน ให้นอนอยู่ในท้องเรือได้อย่างสบาย มีเครื่องทำน้ำจืดจากน้ำทะเล ช่วยให้มีน้ำจืดพอเพียงสำหรับผู้อพยพ เว้นแต่อาหารที่อาจจะหมด ถ้าต้องอยู่ในทะเลนานวัน แต่น้ำจืดก็หมดได้ถ้าเรือเครื่องยนต์เสีย

มีห้องส้วม ทำเป็นห้องสี่เหลี่ยม เอาไม้ปูให้นั่งยองๆ ทำธุระ ติดไว้ที่แคมเรือ ข้างละหนึ่งห้อง ต่อคน 500 คน ถ้าเข้าคิวไม่ทัน ก็ขับถ่ายบนพื้นเรือข้างรูน้ำ เสร็จเรื่องก็เอาน้ำฉีดลงทะเลเลย

ทุกวันนี้ เรืออวนลากลำไหนที่มีซองนอนอยู่ในระวางเรือ จะถูกเจ้าท่าระนองอายัดเรือทั้งหมด

ในยุคแรก เรือขนควายจะใช้เวลานับจากออกจากฝั่งระนอง ไปรับผู้อพยพจนส่งขึ้นฝั่ง ประมาณครึ่งเดือน หรือนานสุดไม่เกินหนึ่งเดือน

เรือขนควายจะวิ่งจากชายแดนระนอง ขึ้นไปอ่าวเบงกอล ผ่านทะเลพม่า เข้าไปแอบทิ้งสมอรอรับผู้อพยพที่อ่าวหลังเกาะเซนต์มาติน (St. Martin”s Island) เกาะลูกเล็กๆ มีพื้นที่เพียง 8 ตาราง ก.ม. อยู่ที่ Lat 20 ในเขตบังกลาเทศที่ติดกับชายแดนเมียนมาร์ ห่างฝั่งเมืองค็อกซ์ บาร์ซ่า ของบังกลาเทศเพียง 9 ก.ม. ขาไปมีไต๋และลูกเรือแค่ 5 คน

แต่ขากลับทั้งลำมีหลายร้อยคน

ผู้อพยพจะมาด้วยเรือแจวมาสู่เรือใหญ่ แจวออกมาจากชายป่าโกงกางตามชายฝั่ง บางครั้งเรือแจวจะเจอคลื่นลมแรงระหว่างทางจนเรือจม ผู้อพยพเสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเรือใหญ่

ความเสี่ยงภัยเริ่มตั้งแต่พ้นแนวป่าโกงกางรัฐยะไข่ออกสู่ทะเลใหญ่

ผู้อพยพทุกคนต้องเป็นคนมีฐานะ เพราะต้องจ่ายค่าเดินทางให้กับนายหน้าที่แคว้นยะไข่ ตั้งแต่ก่อนลงเรือที่อ่าวเซนต์ มาร์ติน ถ้าไม่มีเงินก็เดินทางไม่ได้ ในยุคหลังนายหน้าแคว้นยะไข่เป็นพม่ามุสลิม ชื่อ บังสัน เขาคนนี้เป็นพม่าผู้กว้างขวางในระนอง เป็นเอเย่นต์นำเรือจับปลาพม่ามาขายปลาที่สะพานปลาระนอง

เงินที่เก็บจากผู้อพยพแคว้นยะไข่ก้อนนี้ จะโอนมาที่ผู้ประสานงานรับโรฮิงญาในประเทศไทย แล้วส่วนหนึ่งจะโอนให้เจ้าของเรือเมื่อส่งผู้อพยพขึ้นฝั่งแล้ว

ในส่วนของเรือขนควายก็มีความเสี่ยงภัยนับตั้งแต่ออกจากฝั่งระนอง ขณะที่กำลังเดินทางขาขึ้น เรือหลายลำถูกเรือรบพม่าจับไป ไต๋ติดคุกพม่า แต่ถ้าถูกเรือรบพม่าตรวจพบขากลับ เรือรบพม่าจะไม่จับกุม เพียงแต่วิ่งตีคู่ไปส่งจนพ้นทะเลพม่า เพราะมีนโยบายผลักดันชาวโรฮิงญาออกไปอยู่แล้ว

ส่วนเรือรบบังกลาเทศที่ชาวเรือเรียกกันว่า ไอ้เอฟ เพราะหัวเรือจะพ่นตัวอักษร F ลำที่เป็นเรือรบรุ่นเก่าจะเป็นเลข 2 ตัวเช่น F16, F18 ส่วนเรือรบรุ่นใหม่จะเป็นเลขสามตัวขึ้นต้นด้วยเลข 4 ลำที่ดุดันคือ F448 และ F488 ถ้าเจอกันเมื่อใด ไม่ว่าจะเป็นขาไปหรือขากลับ เรือขนควายเสร็จทุกที ทุกลำ

ขณะนี้มีไต๋เรือคนไทย 2 คน ต้องนอนคุกบังกลาเทศ 8 ปี ไต๋คนหนึ่งขนควายเที่ยวแรก ได้ส่วนแบ่งมาหลายแสนบาท ปิดซอยเลี้ยงเพื่อนบ้านที่ระนอง พอออกเที่ยวที่สองก็มาโดนจับที่บังกลาเทศ ต้องรออีก 8 ปีถึงจะได้กลับบ้าน

ใช่แต่จะมีเรือขนควายจากเมืองไทยเท่านั้น หากแต่เรืออพยพของบังกลาเทศที่ล่องมาสู่มาเลเซียก็มีมาทุกปีเช่นกัน เรือพวกนี้จะเป็นเรือเก๋งเตี้ยๆ หัวงอนๆ บรรทุกผู้อพยพได้แค่ร้อยคน ล่องมาปีละไม่กี่ลำ ส่วนใหญ่ออกจากเมืองเทคนาฟ (Teknaf) ทางใต้ของชายฝั่งบังกลาเทศ ผู้อพยพบนเรือไม่ใช่ชาวโรฮิงญาแต่เป็นชาวบังกลาเทศทั้งลำ

ในระยะเริ่มแรก เจ้าของเรือขนควายจะได้ค่าขนผู้อพยพสูงถึงหัวละหนึ่งหมื่นบาท ไต๋ได้ส่วนแบ่งหัวละ 500 บาท สองสามปีที่ผ่านมา เหลือค่าหัวหัวละ 7,000-8,000 บาท บางครั้งเหลือค่าหัวแค่หัวละ 6,000 บาทก็ยังมี เพราะมีเรือประมงมาทำกันมากลำขึ้น ปีละหลายสิบลำ ราคาค่าหัวต้องลดลง แต่ไต๋ได้ค่าหัวเพิ่มขึ้นเป็นหัวละ 1,000 บาท เพราะมีความเสี่ยงภัยในการเดินทางมากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น

การจ่ายเงินค่าหัว จะเคลียร์กันเมื่อส่งมอบผู้อพยพเรียบร้อยแล้ว

โดยเฉลี่ยแล้ว เรือขนควายจะมีรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วเที่ยวละประมาณ 2 ล้านบาท

ในยุคเริ่มแรก เรือขนควายจะใช้เวลาเดินทางเที่ยวละไม่เกินหนึ่งเดือน แต่ในช่วงสุดท้ายเมื่อต้นปีนี้ ใช้เวลาขนส่งนานถึง 3 เดือน เพราะมีความยากลำบากในการส่งมอบผู้อพยพ เนื่องจากความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตามชายฝั่งไทย

การส่งมอบผู้อพยพจะใช้เรือสปีดโบ๊ตขนถ่ายจากเรือใหญ่ที่จุดนัดพบ พาเข้าฝั่ง จุดนัดพบจะมีตั้งแต่ชายฝั่งคุระบุรี ไล่ลงไปจนสุดชายแดนที่ตำมะรัง จ.สตูล อ่าวไหน เกาะแห่งไหน ชายป่าโกงกางแห่งไหน ที่เงียบสงบ หรือ “เคลียร์” เส้นทางกันแล้ว ใช้เป็นจุดขนถ่ายได้ทั้งนั้น ส่วนการเดินทางบนบกจากชายฝั่งจนเข้าเขตมาเลเซีย จะเป็นเรื่องของผู้ดำเนินงานในท้องถิ่นแต่ละแห่งจัดการกันไป

ปรัชญาของผู้ที่ทำเรือขนคนอพยพ อันดับแรกคือ เพื่อเงิน

แต่อีกเหตุผลหนึ่ง ก็เพื่อช่วยเหลือคนที่ถูกทำร้ายไล่ฆ่า ให้รอดไปสู่แผ่นดินใหม่

พวกเขาไม่ใช่พวกค้ามนุษย์ เพราะไม่ได้นำผู้อพยพไปค้าแรงงาน หรือนำผู้อพยพหญิงไปค้าประเวณี เพียงแต่ช่วยส่งผ่านผู้อพยพไปสู่ถิ่นที่อยู่ที่ดีกว่า_ _เท่านั้น

เรือขนควายทำกันในหมู่เถ้าแก่เรือระนอง และเถ้าแก่อ่าวอื่นที่มาปักหลักอยู่ที่นั่น หลายคนที่เคยพลั้งพลาดในเรื่องการทำเรือจับปลาจนแทบหมดเนื้อหมดตัว ก็กลับมาตั้งตัวได้จากการทำเรือขนควาย หลายคนอยู่ในระดับเจ้าพ่อที่ถูกรวบตัวอยู่ตอนนี้

ทุกวันนี้ ในช่วงเช้าวิทยุสื่อสารตามแพปลาต่างๆ ที่ระนอง จะมีแต่รายงานของไต๋เรือที่กำลังลอยลำอยู่กลางทะเล พร้อมด้วยผู้อพยพหลายร้อยคนบนเรือ เขารายงานว่าเสบียงอาหารกำลังจะหมด หรือหมดแล้ว เรือเหล่านี้มีไม่น้อยกว่า 15 ลำ ลอยลำอยู่ในทะเลรูปสามเหลี่ยม จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย

พวกเขาถึงทางตัน ไม่มีที่จะไป นายหน้าที่เคยรับชาวโรฮิงญาขึ้นบกก็ถูกจับ หรือหนีเตลิดเปิดเปิงไปแล้ว ไม่รู้จะพาผู้อพยพไปขึ้นฝั่งที่ไหน

ไต๋บางลำทิ้งเรือ โดดลงเรือเล็กหนีขึ้นฝั่ง ปล่อยให้ผู้อพยพโรฮิงญาลอยลำอยู่บนเรือที่ไร้คนควบคุมเรือ แถมบางลำเครื่องยนต์ขัดข้อง ติดเครื่องไม่ได้ ล่องลอยไปในทะเลตามยถากรรม

นักข่าวรายงานจากเรืออพยพที่ลอยลำอยู่ใกล้เกาะหลีเป๊ะว่า บนเรือขาดแคลนน้ำดื่ม จนผู้เป็นแม่ต้องเอาภาชนะรองรับ “น้ำปัสสาวะ” ให้ลูกดื่ม

เทคนิคของผู้อพยพคือ เมื่อเรือลอยเข้ามาใกล้ฝั่ง ต้องรีบจมเรืออย่าให้เรือรบลากจูงเรือออกไปได้ วิธีนี้อาจจะมีผู้อพยพจำนวนหนึ่งจมน้ำตาย แต่ผู้อพยพส่วนใหญ่จะรอดขึ้นฝั่งได้ เพราะเรือรบจำใจต้องช่วยเหลือไม่ให้จมน้ำตาย (ที่จริงเป็นเพราะมีผู้สื่อข่าวตามออกไปทำข่าวต่างหาก)

ทั้ง 3 ประเทศ อินโดนีเซีย มาเลย์เซียและประเทศไทย ต่างผลักไล่ไสส่งหมู่เรืออพยพเหล่านี้ออกจากทะเลอาณาเขตของตนเอง อย่างดีที่สุดเมื่อตรวจการณ์พบเรืออพยพก็คือ ช่วยเติมเสบียงอาหารให้เท่านั้น แล้วผลักไล่หรือเอาเรือรบลากจูงออกไปให้พ้นทะเลอาณาเขตของตน

ไม่มีประเทศไหนเมตตารับผู้อพยพโรฮิงญาขึ้นบก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขณะนี้มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาลอยลำอยู่บนเรือในทะเลอันดามันประมาณ 8,000-10,000 คน

เมื่อไม่มีเสบียงอาหารหลงเหลืออยู่ เรือขนควายก็อาจจะต้องแอบเข้ามาชายเขต ขอปลาจากเรืออวนลากที่กำลังลากปลาอยู่ แบ่งปันอาหารให้พออยู่รอดไประยะหนึ่ง

ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แห่งทะเลอันดามันจะเริ่มพัดโหมกระหน่ำปลายเดือนพฤษภาคมนี้ คลื่นทะเลสูงกว่า 2 เมตร และจะพัดนานต่อเนื่องถึงหกเดือน บางครั้งพัดรุนแรงจนเป็นพายุไซโคลนเข้าถล่มอ่าวเบงกอล และเมื่อถึงเดือนมิถุนายนหน้า ร่างโรฮิงญา 8,000-10,000 ชีวิต จะทับถมจมทะเลอันดามัน

ชาวโรฮิงญาในทะเลไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกที่ควรได้รับความเมตตาเลยหรือ

ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์

Fri, 06/05/2015
Copyright © 2018. All rights reserved.