ดันกฎหมายจัดตั้งสภาชนชาติพันธุ์และชนเผ่า หวั่นวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกทำลายสิ้น “ชาวเล”วิกฤตหนัก-ไม่มีแผ่นดินจะอยู่

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้มีการจัดการสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “แนวทางพัฒนานโยบายเกี่ยวกับชนพื้นเมืองในประเทศไทย” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีวิเคราะห์ทบทวน ระดมแนวทางพัฒนานโยบายเกี่ยวกับชนพื้นเมืองในประเทศไทย ให้เกิดการทบทวนบทเรียนการทำงานด้านนโยบาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันหาแนวทางพัฒนานโยบายเกี่ยวกับชนพื้นเมืองในประเทศไทย โดยมี นักวิชาการ คนทำงาน และตัวแทนภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่เราพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติสภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เนื่องจากต้องการให้เกิดกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิด้านชาติพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายใดให้การคุ้มครอง และเพื่อเป็นร่มในการทำงานขับเคลื่อนด้านต่างๆ จึงจำเป็นจำเป็นต้องผลักดันเกิดการจัดตั้งสภาชาติพันธุ์และชนเผ่าขึ้น เพราะสถานการณ์ของทุกกลุ่มชาติพันธุ์กำลังประสบกับปัญหามากมายสะสม โดยเฉพาะปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ปัญหาด้านที่ดิน ปัญหาการสูญเสียอัตตลักษณ์ รวมไปถึงต้องการมีส่วนร่วมในการค้นหาแนวทางและจัดการปัญหาต่างๆ ดังนั้นจึงเตรียมที่จะมีการจัดเวทีสมัชชาชนเผ่าระดับชาติครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดการจัดตั้งสภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยอาศัยธรรมนูญชนเผ่าพื้นเมืองเป็นกรอบการขับเคลื่อนในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยจะมีการเลือกผู้แทนของสภาฯ ที่เป็นตัวแทนจากแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เข้ามาร่วมกันกำหนดแผนในการแก้ปัญหาต่างๆ และจะมีการวางแนวทางการทำงานร่วมกันต่อไป

นายศักดิ์ดา แสนมี่ ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทเรียนสำคัญที่ผ่านมา คือเราได้มีโอกาสเปิดพื้นที่การเรียนรู้กับพี่น้องมากขึ้น มีการร่วมกันออกแบบการขับเคลื่อนขบวนการร่วมกัน ทำให้เห็นความหลายหลากจากต่างภูมิภาคมาร่วมมือกัน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาของชาติได้ดี ส่วนเรื่องที่ยากนั้นคิดว่าคือการทำอย่างไรให้ชาติพันธุ์ต่างๆ มีความเข้าใจพร้อมกัน และเกิดการจัดการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ซึ่งในแง่การกำหนดกฎหมายอาจเป็นเรื่องยาก แต่ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาหนุนเสริมในมิติด้านต่างๆ ที่จะไปผลักดันให้เกิดนโยบายที่ส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งตอนนี้ยังขับเคลื่อนไปได้ไม่มากนัก

ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมีความชัดเจนขึ้นหลังจากเหตุการณ์สึนามิ เมื่อที่ดินชาวบ้านถูกนายทุนยึดไป จึงเป็นที่มาของแนวคิดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจำเป็นต้องทำให้สังคมร่วมตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะถ้าจะพิสูจน์ได้ว่าที่ดินชาวบ้านถูกรัฐกันออกไป จำเป็นต้องมีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์และเกิดการจัดการอย่างเป็นธรรม ขณะที่ประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากร หรือการจัดการไร่หมุนเวียน ซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความพิเศษของวัฒนธรรมกะเหรี่ยงกลับไม่ได้รับความสนใจ จึงทำให้คนกะเหรี่ยงรู้สึกเจ็บปวด โดยเฉพาะที่บ้านหินลาดใน บ้านมอวาคี ไล่โว่ และเลอตองคุ

ดร.มาลี กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีกะเหรี่ยงที่แก่งกระจาน ซึ่งเดิมชาวบ้านมีวิถีทำเกษตรไร่หมุนเวียน จะหมุนทุก 1-2 ปี และจะรู้ว่าพื้นที่ไหนเหมาะแก่การเพาะปลูก มีผลไม้พออยู่พอกิน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในการจัดการตนเอง แต่เมื่อคนกะเหรี่ยงถูกไล่ออกมาจากป่า กลับไม่มีที่ดินทำกินเพราะไม่ได้รับการจัดสรร จึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัด

“ถ้าเราปล่อยให้ชาวบ้านแก่งกระจานอยู่ที่นี่ไปอีก 5 ปี วิถีปฏิบัติจะหายไป นั่นคือความหลากหลายของชุมชน ความรู้จากคนเฒ่าคนแก่ที่สั่งสมวิถีของการพึ่งพิงกับป่าจะหายไป ถ้าเราไม่สามารถให้เขากลับไปอยู่ข้างบนได้ ก็จะกลายเป็นคนที่ปักผ้า และปลูกผักสวนครัว ชุมชนไม่มีสิทธิที่จะอยู่ตามวิถี แล้วจะทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจสิทธิทางวิถีวัฒนธรรม ที่ควรจะเป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ไม่ใช่เรื่องของการแสดงวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ที่รัฐพยายามจะให้แก่งกระจานกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว”ดร.มาลี กล่าว

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มีความพยายามเรียกร้องเรื่องสัญชาติและการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นมาตั้งแต่เมื่อปี 2541 แต่สภาความมั่นคงมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงที่ประเทศไทยยังไม่พร้อม เช่นเดียวกับกรณีของเมียนม่าร์ที่มองว่าชาติพันธุ์อื่นเป็นผู้มาทีหลัง รวมไปถึงมาเลเซียที่กำหนดให้คนเชื้อชาติมาเลย์เป็นภูมิบุตร ประเทศไทยเองมีมุมมองคล้ายกัน คือไม่ยอมรับชนเผ่าพื้นเมือง แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยได้มีการลงนามในข้อตกลงหรือกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมือง ซึ่งสามารถนำใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงบทเรียนของกลุ่มชาติพันธุ์ในต่างประเทศ ที่ประสบปัญหาจากกระแสการพัฒนาต่างๆ เช่น โครงการเขื่อน การขุดเจาะก๊าซ นโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่กำลังเป็นปัญหาทั่วโลก

“แนวทางการแก้ปัญหาที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มได้ประโยชน์จากกฎหมายที่กำลังร่วมกันผลักดัน ซึ่งจะมีการกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษ จำเป็นต้องให้นิยามของคำว่าชนเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ให้ชัดเจน ว่าแนวทางแก้ปัญหาจะก้าวไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มรวมไปถึงควรจะต้องให้ความคุ้มครองกับผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยด้วย”ดร.ชยันต์กล่าว

ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ที่ว่าด้วยสิทธิทางชาติพันธุ์และสิทธิทางวัฒนธรรม รวมถึงปฏิญญาสากลจำนวนมากที่ความสนับสนุนความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น แม้อนุสัญญาหรือปฏิญญาเหล่านี้จะไม่มีบทลงโทษและไม่มีอำนาจบังคับให้ปฏิบัติตาม แต่ข้อตกลงเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศไทยที่จะได้รับความกดดันจากสังคมโลกหากไม่ปฏิบัติตาม เพราะถือเป็นสิ่งที่สังคมโลกกำหนดให้เป็นกติการ่วมกัน ซึ่งถึงแม้ไม่ได้มีการลงนามก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนได้และจำเป็นต้องปฏิบัติตาม

ศ.ดร.อมรา กล่าวอีกว่า ในขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก มีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่สามารถใช้สนับสนุนด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ พระราชบัญญัติสัญชาติมีการแก้หลายครั้ง โดยเฉพาะกรแก้ไขที่มาของสัญชาติไทย ดังนั้นการขอมีสัญชาติไทยหลังปี 2551 เป็นช่องทางที่ทำได้ แต่อุปสรรคที่พบกลับอยู่ที่ระดับอำเภอ ซึ่งพบว่าการยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยติดค้างอยู่ที่นายอำเภอเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งนายอำเภอโยกโย้จนต้องมีการออกหนังสือจี้ไปที่อำเภอให้เร่งดำเนินการ ซึ่งในแง่การผลักดันเรื่องนี้รวมไปถึงร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ในขณะนี้ ถือเป็นจังหวะที่ดีที่ทุกฝ่ายจะช่วยกันขับเคลื่อน

นายจำนงค์ จิตรนิรัรัตน์ ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นช่วงสุดท้ายของวิกฤติชาวเลแล้ว ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ชาวเลได้อยู่อย่างมั่นคง อีกสิบปีบ้างหน้าวิถีชาวเลจะต้องล่มสลายอย่างแน่นอน จึงอยากเสนอให้ทุกฝ่ายเร่งร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งชาวบ้าน ภาคประชาชน ภาควิชาการ โดยเฉพาะการผลักดันร่างพระราชบัญญัติสภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ให้ออกมาเป็นกฎมายบังคับใช้ น่าจะเป็นพลังสำคัญค้ำยันสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รอดพ้นจากวิกฤตินี้ได้

“ตอนนี้บนเกาะพีพีไม่มีที่ดินของชุมชนสักตารางนิ้วเดียว หลีเป๊ะก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าชาวเลจะไดรับที่ดินคืนหรือไม่ ส่วนที่ราไวย์แม้จะมีการพิสูจน์สิทธิ์ด้วยการตรวจกระดูกชี้ชัดว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน แต่ก็ไม่แน่ว่าอธิบดีกรมที่ดินจะเพิกถอนโฉนดของนายทุนหรือไม่ เกาะพระทอง อุทยานกำลังจะประกาศเขตห้ามล่าทับที่ดินชุมชน ล้วนเป็นปัญหาที่ทำให้ชาวเลอาจต้องล่าถอยจากการถูกทำร้ายทั้งจากเอกชนและรัฐ ถ้ายังไม่มีมาตรการมารองรับภายในสิบปี เราอาจจะเจอชาวเลในชื่อของไทยใหม่ตลอดฝั่งอันดามัน จะไม่มีพิธีลอยเรือ ไม่มีรองเง็ง ไม่มีวิถีชาวเลเหลืออยู่เลย”นายจำนงค์กล่าว

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิชุมชนและเขตภูเขา กล่าวว่า ปัญหาร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์คือเรื่องสิทธิในการจัดการทรัพยากรที่ทำกิน พื้นที่พิธีกรรม จะเห็นได้ชัดเจนจากวิถีของชาวปากาเกอญอที่อาศัยการทำไร่หมุนเวียน ที่มีส่วนช่วยให้ป่ามีความสมบูรณ์ จนกลายเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภายหลัง แต่กลับกลายเป็นว่าวิถีการทำไร่หมุนเวียนกลับถูกทำให้ย้อนมาทำร้ายตัวเอง เพราะถูกกันไม่ให้กลับไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่เดิมที่เคยทำ แม้หลักวิชาการจะยืนยันว่าการทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีที่สร้างให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ต้นน้ำ จึงเป็นการผลักให้ชาวบ้านต้องตกเป็นเหยื่อของระบบเกษตรแบบพันธสัญญาหรือการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งกำลังก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันและทำลายความอุดมสมบูรณของป่า เป็นต้นเหตุของการทำลายพื้นที่ป่า

นางเตือนใจ กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือการเมืองที่สมัยใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีดั่งเดิม จากเดิมที่ผู้นำชุมชนจะมาจากคนที่มีคุณธรรม แต่เมื่อการเมืองการปกครองสมัยใหม่เข้ามา และยังไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน จึงทำให้เป็นช่องทางให้เกิดการใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะการออกบัตรเลยศูนย์หรือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่บางพื้นที่มีราคาหลักแสนบาท หรือแม้แต่ใบออกนอกพื้นที่ก็ตกเป็นช่องทางหาประโยชน์ตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน รวมถึงระดับอำเภอ ดังนั้นจึงหวังว่าหากมีการจัดตั้งสภาชนเผ่าน่าจะเป็นส่วนสำคัญช่วยถ่วงดุลต่อการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเหล่านี้

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา กล่าวว่า เรื่องสำคัญคือต้องผลักดันให้สังคมยอมรับว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีอยู่จริงในสังคมไทย ซึ่งจะทำให้เกิดระบบรองรับตามมา และต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งมีสามเรื่องสำคัญ คือหนึ่งต้องมีคำความชนพื้นเมืองหรือมีการพูดถึงกลุ่มคนพื้นเมืองให้ชัดเจน สองต้องระบุถึงการไม่เลือกปฏิบัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สามต้องมีการระบุถึงสิทธิทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงสิทธิของประชาชนที่จะมีสิทธิทางวัฒนธรรม และสิทธิทางวัฒนธรรมเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องส่งเสริม โดยจะต้องผลักดันให้เห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนเก่าแก่ขอวงประเทศที่จะมีสิทธิทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน

————–

ที่มา : https://www.facebook.com/paskorn.jumlongrach/posts/925653930811226:0

Copyright © 2018. All rights reserved.