ความเป็นไทยที่ต้องแลก ด้วยเงิน

บนถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ ชาวบ้านจากอำเภอแม่ฟ้าหลวง 22 คน บนรถตู้ 2 คัน กำลังเดินทางสู่โรงพยาบาลสวนดอก ดวงตาของแม่ลูกแต่ละคู่ เปี่ยมไปด้วยความหวังว่าจะได้เป็นคนไทยอย่างถูกกฎหมาย แต่ก็เจือความเศร้าที่พวกเขาต้องขายทรัพย์สินหรือไปกู้ยืมเงินคนอื่นมาใช้…ใช้ ซื้อความเป็นไทยให้ตัวเอง
การเดิน ทางของพวกเขาในครั้งนี้ เพื่อที่จะตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์ว่ามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกันจริง เพราะพ่อและ แม่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว แต่ลูกๆของพวกเขายังไม่ได้เป็นคนไทย เนื่องจากบางครอบครัวไม่มีเงินพอจะเดินทางไปแจ้งเกิดที่อำเภอ
ขั้นตอนการตรวจดีเอ็นเอนั้น เมื่อไปถึงโรงพยาบาล จะต้องไปติดต่อที่ส่วนนิติเวชเพื่อทำบัตรตรวจ เจาะเลือด และรอผล อีก 2 สัปดาห์ มีค่าใช้จ่ายต่อคน 2,050 บาท ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ พวกเขาต้องนำผลตรวจนี้ไปยื่นต่ออำเภอเพื่อพิสูจน์ว่าเขาเป็นคนในครอบครัว จริงและมีสิทธิความเป็นคนไทย
เป็น จำนวนเงินที่อาจจะไม่มากสำหรับคนเมือง แต่มันอาจหมายถึงรายได้หลายเดือนของชาวบ้านกลุ่มนี้หากมอง กันถึงสาเหตุแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่พวกเขาไม่ได้รับสัญชาติไทยเพราะไม่ได้เดินทางไปแจ้ง เกิดกับอำเภอ แต่หากมองในมุมของชาวบ้านที่รายได้ทั้งปีไม่ถึงเงินเดือน 1 เดือนของคนในเมือง พวกเขาต้องเสียทั้งเวลาและเงินจำนวนมากเพื่อไปติดต่อหน่วยงานราชการ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาเลือกจะไม่ไปติดต่อกับสถานที่ที่ตั้งอยู่ห่าง ไกลจากบ้าน การทำนาทำไร่เพื่อให้มีข้าวกินเป็นสิ่งที่สำคัญ กว่าสำหรับชาวบ้าน
ปัญหา เหล่านี้คงไม่มีข้อยุติว่าใครผิดใครถูก แต่ความจริงที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คำว่า “ความเท่า เทียม”กับ “สังคมไทย” ยังคงห่างไกลกันนัก ในขณะที่หลายๆคนเดินไปที่อำเภอ ให้เอกสาร ถ่ายรูป ก็ได้บัตรประชาชนคนไทยกลับไป แต่บางคนต้องผ่านขั้นตอนมากมาย เสียเงินทอง เป็นหนี้สิน เพื่อที่จะได้รับการพิสูจน์ว่าเขาเป็นคนไทยจริง ทั้งๆที่พ่อและแม่ก็มีสัญชาติไทยอยู่แล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกภาค ส่วนในสังคมจะให้ความสำคัญกับระบบการแจ้งเกิดเพื่อให้คนที่อยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับสัญชาติไทยโดยทั้งส่วนราชการและประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ห่างไกลความ เจริญได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด คำถามนี้คงใช้เวลาอีกนานที่จะแก้ไขได้ แต่ก็คงไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นแก้ปัญหา
อาเบียกับการตรวจดีเอ็นเอ
“เดี๋ยวจะ ต้องเจาะเลือดนะ กลัวเข็มมั้ย?” “ไม่ครับ” อาเบีย เด็กชายวัย 13 ปีที่ร่างกายส่วนล่างแทบไม่มีเรี่ยวแรง ตอบด้วยสายตาที่เป็นประกาย
วันนี้ อาเบียกับแม่และชาวบ้านรวม 22 คน เดินทางจากอำเภอแม่ฟ้าหลวงมาที่โรงพยาบาลสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจะเข้ารับการตรวจดีเอ็นเอ พิสูจน์ว่าเขาเป็นลูกของแม่ที่มีสัญชาติไทยแล้วจริงๆ ฉันคิดว่า ความดีใจที่อาเบียจะได้มีสิทธิเป็นคนไทยอย่างถูกกฎหมายคงกลบความกลัวเข็ม เจาะเลือดได้หมดสิ้น
อาเบีย เป็นเด็กที่พิการมาตั้งแต่กำเนิด เมื่อแรกเกิด ขาของอาเบียอาการหนักกว่านี้ เรียกได้ว่าเดินไม่ได้เลย ท่าทางอ่อนแอจนดูเหมือนจะไม่สามารถมีชีวิตรอดต่อไปได้ ประกอบกับความยากจนและอยู่ในที่ห่างไกล ครอบครัวของเขาจึงไม่ได้เดินทางไปแจ้งเกิดกับอำเภอ
จนเมื่อ โตขึ้น ขาของเขาเริ่มมีแรงมากขึ้น สามารถลุกขึ้นยืนได้ แต่การเดินเหินก็ต้องมีคนช่วยประคองอยู่ตลอด ปัจจุบันพ่อของเขาเสียชีวิตแล้ว อาศัยอยู่กันสามคนกับแม่และหลานในเขตตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง แม้จะ อายุ 13 ปีแล้ว แต่พัฒนาการของเขาทำให้อาเบียยังเรียนอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหมู่บ้าน ครอบครัวของเขาเริ่มตระหนักว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไป อาเบียก็จะกลายเป็นคนต่างด้าวที่ขาดสิทธิในประเทศไทยไปโดยปริยาย
ฉันทั้ง ดีใจและเศร้าใจไปพร้อมๆกันที่เห็นเด็กผู้ชายตัวเล็กกว่าเด็กคนอื่นในวัย เดียวกัน แม้ร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย แต่ก็รีบเร่งที่จะเข้าไปในห้องเจาะเลือดเพื่อจะได้มีหลักฐานว่าเป็นลูกหลาน ของคนไทยจริง ที่ดีใจคือ อีกไม่นานเขาก็จะได้มีสิทธิต่างๆ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาลเช่นคนไทยคนอื่น แต่ที่เศร้าใจก็คือนอกจากความลำบากในชีวิตประจำวันแล้ว แม่ของเขายังต้องดิ้นรนยืมเงินจากญาติพี่น้องมากว่า2พันบาทเพื่อการตรวจดี เอ็นเอครั้งนี้ หากเพียงมีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ เด็กชายที่ขาแทบไม่มีแรงและแม่ของเขาคงไม่ต้องลำบากเสียเวลา เสียเงิน เพื่อให้ได้สัญชาติไทย
กรณีของอาเบียเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็น ความลำบากของคนที่ไม่มีเงินทอง ไม่มีศักยภาพที่จะเดินทางไปหาหน่วยงานภาครัฐ ฉันไม่โต้เถียงว่า วิธีตรวจดีเอ็นเอเป็นวิธีที่น่าเชื่อถือที่สุดที่จะระบุว่าคนๆนั้นเป็นลูก หรือไม่ แต่ฉันคิดว่ายังมีอีกนับร้อยนับพันครัวเรือนที่อาจจะลำบากกว่าอาเบีย ที่อาจจะไม่มีแม้แต่โอกาสเดินทางออกมานอกหมู่บ้าน ในฐานะที่พวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ถือกำเนิดและเติบโตบนแผ่นดินไทย ควรจะมีการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ในการติดต่อประสานงานกับทางราชการ เหล่าประชาชนบนพื้นที่สูงไม่มีอะไรที่เหมือนกับคนในเมืองเลย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา โอกาสทางสังคม วิถีชีวิต ฯลฯ ยกเว้นเพียงสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ “ความเป็น มนุษย์”
กรวิกา วีระพันธ์เทพา/26 ต.ค.50
Sun, 04/07/2013
Copyright © 2018. All rights reserved.