ที่ตรงนี้…ยัง มีคนไร้สัญชาติ

กราบ เรียน รัฐมนตรีที่เคารพ   ข้าพเจ้า เด็กชาวอาข่าทุกคนซึ่งยังไม่ได้สัญชาติไทย แต่พวกหนูเกิดในประเทศไทย พ่อแม่พวกหนูก็เกิดในประเทศไทย แต่พวกหนูยังไม่ได้สัญชาติไทย พวกหนูมีสิทธิได้สัญชาติไทย 100 % พวกหนูก็กำลังศึกษาอยู่ บางคนเรียนหนังสือจนจบม.6 แต่อาจเรียนต่อไม่ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน ความฝันของหลายคนต้องพังลงไป เพียงแค่ท่านไม่ให้สัญชาติไทยกับพวกหนู เวลาทางโรงเรียนให้ทุนการศึกษา ไม่ได้ เพราะไม่มีบัตร แถมพวกหนูเป็นชาวอาข่า พ่อแม่ก็แค่ทำนา ทำไร่ ทำสวน รายได้ก็ไม่พอต่อการใช้จ่ายภายในครอบครัว ไปโรงเรียนก็ต้องเดินไปเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารถ ถ้าหากพวกหนูมีบัตร พ่อแม่พวกหนูอาจได้ไปทำงานที่มีรายได้ดี ทำให้พวกหนูมีชีวิตที่ดีขึ้น ขอ ความกรุณาความเห็นใจจากท่าน โปรดอย่ามองข้ามพวกหนูด้วย พวกหนูก็เป็นเด็กไทยคนหนึ่ง ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร พวกหนูอาจจะรักประเทศไทยมากกว่าคนมีสัญชาติไทยก็ได้ พวกหนูขอสัญญาว่าจะเป็นคนดีของสังคม ไม่แน่พวกหนูอาจเป็นเด็กไทยคนหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยก็ได้ พวกหนูก็เป็นคนไทย คนซึ่งเป็นอนาคตของชาติไทย

ท้าย นี้ ขอให้ท่านนายกมีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง

เด็ก ไร้สัญชาติ : 08/01/2008

เด็กไทยไร้สัญชาติ

ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไม่ใช่ปัญหาใหม่ในสังคมไทย แต่คนไทยเลือกที่จะปิดหูปิดตา ที่กล้าพูดแบบนี้เพราะเชื่อว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่า “คนไร้รัฐ” หรือ “คนไร้สัญชาติ” เป็นใคร???? หรือที่ร้ายไปกว่านั้นอาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ายังมีกลุ่มคนซึ่งประสบชะตากรรม เช่นนี้อยู่ผืนแผ่นดินเดียวกัน แม้ว่าวันนี้จะมีการพูดถึงประเด็นปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เฉพาะบางกลุ่มคนเท่านั้น และดูเหมือนว่าปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือ เจ้าของปัญหายังมีพื้นที่ในการนำเสนอปัญหาของตัวเองน้อยมาก

จดหมายฉบับ นี้จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ที่บรรจุ“สาร” ซึ่งเด็กๆช่วยกันกลั่นออกมาจากเบื้องลึกของความรู้สึกในฐานะคนซึ่งไม่มี สัญชาติไทยที่ยังรอการเหลียวแล เพื่อจะ “สื่อ” ถึงผู้ใหญ่ของสังคมที่เขาเรียกว่า“คณะรัฐมนตรี” ผู้ซึ่งเขาเชื่อเหลือเกินว่าจะสามารถช่วยให้เขาเป็นคนไทยเต็มใบได้

“หนูอยากมีสัญชาติไทย อยากมีสิทธิเลือกตั้ง เพราะจะได้เลือกคนดีเข้ามาพัฒนาหมู่บ้าน” นี่เป็นคำบอกเล่าของ อาซอ เพิงเจกู่ เด็กหญิงวัย 15 ปี

อาซอ เป็นตัวแทนของเด็กไร้สัญชาติอีกนับร้อย นับพันที่คิดแบบเดียวกันนี้ พวกเขาไม่เพียงหวังให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทยเท่านั้น แต่สิ่งที่เขาต้องการมากไปกว่านั้นคือสิทธิในการแสดงความคิดเห็นระดับชาติ ซึ่งจะพ่วงติดมากับบัตรประจำตัวประชาชนไทยด้วย ทำไมเด็กๆเหล่านี้จึงร้องหาสิทธิในการออกเสียง หรือที่ผ่านมาพวกเขาถูกจำกัดสิทธิ หรือพวกเขาคือเสียงที่ไม่ได้ยินภายใต้ข้อจำกัดของการเป็นคนไร้สัญชาติ

…คงไม่ต่างจากเสียงกู่ร้องแห่งความอดสูของผู้ใหญ่อย่าง อาถู่ เม่อโป๊ะ ที่รู้สึกว่าตัวเองถูกลิดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นในเรื่องของตัวเองก็ตาม

“ผมไม่มีปัญญาต่อสู้ กับเขาหรอก เราแตกต่างกันมาก เวลาไปคุยกับเขา เขาก็ไม่หยุดพูด พูดอย่างเดียวไม่ฟังเราเลย” อาถู่ พรั่งพรูความรู้สึกยามเข้าพบเจ้าหน้าที่อำเภอ

“วันนี้ ผมได้มาที่นี่ ได้มาเข้าค่าย 7 ทวิฯ ทำให้ผมมีความมั่นใจขึ้นมาก ได้บอกเล่าถึงปัญหาของตัวเองและได้รับความรู้เรื่องกฎหมายแม้ว่าจะเข้าใจ บ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็ดีกว่าเมื่อก่อนที่ไม่รู้อะไรสักอย่าง ทั้งๆที่เกี่ยวกับปัญหาของตัวเอง จะพูด จะเถียงอะไรกับเขาก็ไม่ได้ เพราะเราไม่มีความรู้ที่จะไปสู้กับเขา”

ฟังเผินๆเหมือนจะเป็นแค่การตัดพ้อต่อว่าจากคนซึ่งรู้สึก ว่าถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรม แต่มันกลับเป็นเงาสะท้อนที่ชี้ชัดขึ้นว่าพวกเขามิอาจเข้าถึงสิทธิขั้น พื้นที่ฐานที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและนำเสนอปัญหาของตนเองซึ่งสังคมควรมีส่วนเข้ามา รับรู้และร่วมกันแก้ไขปัญหา

วันนี้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคงต้องมองปัญหาคน ไร้สัญชาติอย่างรอบด้านมากขึ้น เพราะบางครั้งเส้นชัยก็ไม่สำคัญเท่าการเข้าถึงเส้นชัย เช่นเดียวกับคนไร้สัญชาติ แม้ว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเขาคือการได้มาซึ่ง “สัญชาติไทย” แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการที่เขาได้รับสิทธิและถูกปฏิบัติอย่างเท่า เทียม

…ไม่มีพื้นที่ใดในโลกจะงดงามไปกว่า พื้นที่ของหัวใจคน

ปกีรณัม 08/01/2008

Sun, 04/07/2013
Copyright © 2018. All rights reserved.