คนไทยไร้สัญชาติ

การไม่ได้รับการรับรอง จากรัฐบาล ในฐานะบุคคลสัญชาติไทย ทั้งที่เกิดบนแผ่นดินไทย พูดภาษาไทย เรียนหนังสือไทย ไม่ได้ส่งผล แค่ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ยังเป็นที่มา ของการถูกริดรอนสิทธิ อันพึงมีพึงได้หลายประการ เหตุการณ์ทำนองนี้ เป็นความทุกข์ร่วมกัน ของคนจำนวนไม่น้อย และรอวันที่จะได้รับการแก้ไข กิ่งอ้อ เล่าฮง หยิบยกเรื่องราว ของชาวบ้านแม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก มานำเสนอ เป็นกรณีตัวอย่าง
?คิงบ่ใจ้ คนไทย อย่ามารังแกเฮาเน้อ ปะเดี๋ยวจะฟ้องพ่อ ให้ตำรวจมาจับ?น้ำเสียงใสๆ ของน้องอิง หรือ เบญจรัตน์ ศรีวัง เด็กหญิงวัย 4 ขวบร้องปรามแกมขู่ วัง ศรีวัง พี่ชายวัย 14 ปี แทบทุกครั้งเมื่อทั้งสองเล่นด้วยกันแล้วถูกขัดใจ คำพูดดังกล่าวนี้ หากใครผ่านมาได้ยินอาจจะคิดว่าเป็นแค่การขู่ว่าตามประสาเด็กเท่านั้น
หากทว่าสำหรับอีกหลายๆ คนในหมู่บ้านแม่ปะ เขต อ.แม่สอด จ.ตากแล้ว สิ่งที่ได้ยินมันสะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาที่กลายเป็นปมด้อยและไม่เคยมีใคร เข้าไปแก้ปัญหาให้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นหลังๆ ที่ถือกำเนิดเติบโตมาบนแผ่นดินไทยมากว่าค่อนชีวิต แต่กลับไม่ได้ถูกรับรองสถานะจากรัฐบาลว่า ‘พวกเขา’ คือ คนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์
ที่บ้านแม่ปะตั้งแต่หมู่ 1 ถึงหมู่ 10 กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรที่นี่ไม่มีบัตรประชาชนแสดงตนเป็นคนไทย ไม่มีมีสิทธิเลือกตั้ง และไม่ได้รับการบริการอันควรพึงมีพึงได้จากภาครัฐ ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ที่ระบุรูปถ่าย ชื่อ-สกุล และช่องสัญชาติที่ระบุข้อความว่า ‘ไร้สัญชาติ’ ดูจะเป็นสิ่งเดียวที่แสดงให้รู้ว่าคนเหล่านี้มีตัวตนอยู่จริง
ไม่เพียงน้องอิงและน้องวังเท่านั้นที่มีใบเกิด ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการที่ ‘ขัดกัน’ ครอบครัวเดียว แต่คนที่มีนามสกุล เช่น ป๋าจันทร์, รินคำ, ปุดตา, กันทะวงศ์และอีกหลายตระกูลก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน
?ตัวลุงถือบัตรประชาชนไทย แต่เมียไม่มีบัตร ถือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ตอนมีลูกแล้วไปแจ้งเกิดที่อำเภอ ทั้ง 6 กลับไม่ได้รับสัญชาติไทย ลูกๆ ทุกคนถูกระบุในใบสำคัญถิ่นที่อยู่ว่าเป็นคนไร้สัญชาติ ส่วนในใบทร.14 หรือสำเนาทะเบียนบ้านกลับเขียนว่าเป็นพม่า ตรงนี้ลุงก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อลูกสาว-ลูกชายเกิดในแผ่นดินไทยแท้ๆ แต่ไม่ได้เป็นคนไทย? คำถามของชายชราวัยกว่า 70 ปี
หากเป็นคนที่มีวัยปูนลุงติ๊บ การจะมีหรือไม่มีบัตรประชาชนไว้ในความครอบครองดูเหมือนไม่ใช่ความจำเป็นที่ สุดในชีวิตอีกต่อไปแล้ว และแม้จะได้มาในขณะนี้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะชีวิตประจำวันไม่ได้ออกไปไหน ไม่ต้องติดต่อใคร การทำมาหากินก็อยู่แต่ในพื้นที่นาและอาณาบริเวณบ้านของตนเท่านั้น
แต่สำหรับคนรุ่นหลังการมี ‘บัตรประชาชน’ นอกจากจะหมายถึงการมี ‘สิทธิ’ เบื้องต้นตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นสิ่งเดียวที่สามารถลบปมจากการถูกล้อเลียนจากเพื่อนฝูงและคนอื่นๆ ว่า เขาก็คือ คนไทยคนหนึ่งที่เกิดบนผืนแผ่นดินนี้ ไม่ใช่คนชายขอบที่พลัดถิ่นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
การมีตัวตนตามทะเบียนบ้านของลุงติ๊บและลุงป๋า ติ๊บเฮียง วัย 65 ปี แม้จะแตกต่างกันตรงที่ลุงติ๊บมีบัตรประชาชน และคู่หูอย่างลุงป๋ากลับไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า คือ คนไทยทั้งๆ ที่สำเนียงภาษาพื้นบ้านที่สื่อกับลูกๆ และเด็กในหมู่บ้าน ก็คือ เหน่อ ลำพูน ลำปาง นั่นเอง
ลุงป๋า เล่าว่า เขาเป็นคนไทยแต่ไปเกิดที่เขตห้วยซ่านในฝั่งพม่า เพราะพ่อ-แม่ไปทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน คนยุคนั้นที่อพยพไปจากเมืองลำพูน ลำปาง โดยเฉพาะจากเขต อ.เถิน อ.แม่พริก เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่จ.ตาก ยังเป็นชื่อเมืองละแหง และพื้นที่ไทย-พม่า ยังไม่มีการขีดเส้นแบ่งพรมแดน คนไทยเหนือส่วนใหญ่เข้าใจว่า ห้วยซ่าน เป็นพื้นที่ในเขตไทย เพราะมีวัดศรีบุญเรือง ซึ่งน่าจะเป็นวัดไทยตั้งอยู่
?พ่อเล่าให้ลุงฟังว่า เหตุที่พากันอพยพมาจากเมืองลำปาง เพราะเป็นยุคที่เกิดภาวะข้าวยาก หมากแพง หากใครมีไร่นาจะต้องเสียภาษีไร่ละ 4 บาท คนเฒ่าคนแก่จึงพาลูกหลานมาตั้งหลักแหล่งที่นี่ โดยแต่ละคนที่มาก็ไม่เคยมีบัตรไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บัตรประชาชน มีหน้าตาอย่างไร? คนวัยดึกเล่าเรื่อยๆ
การไม่ถูกรับรองสถานะว่าเป็นคนไทยของลุงป๋าและพรรคพวกที่อพยพเข้ามาตั้งหลัก แหล่งในหมู่บ้านแห่งนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ดูเหมือนจะไม่เป็นอุปสรรคในการทำมาหากินมากนัก เพราะทุกครอบครัวก็มีลักษณะเช่นนี้ ยกเว้นเสียแต่ว่า หากต้องการมีที่ดินเป็นของตนเอง ก็ต้องใช้วิธีซื้อฝาก นั่นก็คือ ซื้อในนามบุคคลอื่นที่อาจจะเป็นญาติ พี่น้อง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ถือบัตรประชาชน แต่ตัวเองและครอบครัวไม่มีสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น สัญญาระหว่างผู้รับฝากและผู้จ่ายเงินคือ ‘สัญญาใจ’
แน่นอนว่า ในยุครุ่นปู่ย่าตายายอาจจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น แต่เมื่อครอบครัวมีการขยายเครือญาติมากขึ้นจึงทำให้รุ่นลูกของคนพลัดถิ่น เหล่านี้อดรู้สึกกังวลต่อสิทธิตรงนี้ไม่ได้ ไม่เพียงเรื่องนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของคนสูงอายุ การไม่มีสิทธิได้รับเงินสงคราะห์คนชรา และการได้รับค่าแรงตามเกณฑ์ขั้นต่ำ
?ตรงนี้เป็นปัญหาที่เกิดกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา ซึ่งเขาก็ต้องยอมรับชะตากรรมตรงนั้นไป แต่มาถึงรุ่นผม น้องผม และลูกผมจะทำอย่างไร กระทรวงมหาดไทยมาสำรวจนับครั้งไม่ถ้วน บอกว่า พ่อแม่เราเป็นคนไทยตกสำรวจ แต่บัตรที่เขาออกให้ คือ บัตรคนต่างด้าว ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย มาฟังสำเนียงพูดก็รู้ว่า เราเป็นคนไทยเหนือ ไม่ใช่พม่า กะเหรี่ยงที่ไหน ?สมเพชร สังตา วัย 35 ปี กล่าวและบอกด้วยน้ำเสียงน้อยใจว่า
??ตรงนี้มันเจ็บปวดใจมาก ผมเป็นประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งของตำบลนี้ ได้รับรางวัลและใบประกาศวุฒิบัตรมาตั้งแยะ แต่กลับไม่มีสิทธิกู้เงินจาก ธกส.มาลงทุน เพราะว่า ถือบัตรคนต่างด้าว ทั้งๆ ที่เราอยู่นี่มาตั้งแต่เกิด แต่กลับไม่ได้เป็นคนไทย ทั้งๆ ที่เรียนจบ ม.3 จากโรงเรียนแม่ปะวิทยาคม อ.แม่สอด มีวุฒิบัตรรับรอง ? ประธานชมรมเลี้ยงกุ้งบ้านแม่ปะกล่าว
ในขณะที่ สม กันทะวงศ์ วัย 42 ปี คนไม่มีสิทธิในหมู่บ้านเดียวกับสมเพชร เล่าให้ฟังว่า พ่อ-แม่พาเขาเข้ามาอยู่ที่นี่ตั้งแต่อายุ 12 ขวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้เขาก็ยังไม่ได้รับบัตรประชาชน แม้ว่าปัจจุบันจะมีลูกแล้ว 2 คน และเด็กก็ถือกำเนิดในแผ่นดินไทย คลอดที่โรงพยาบาลแม่สอด แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทำบัตรแจ้งเกิดให้ทั้งสองคน ทั้งๆ ที่แม่ของเด็กก็ถือบัตรประชาชนไทยแล้วก็ตาม
?จริงๆ ลูกผม ควรจะได้สัญชาติไทยตามแม่ เพราะว่าแม่เป็นคนไทยในหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งแต่เกิด ส่วนผมแม้จะเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่เนื่องจากพ่อกับแม่เป็นคนไทยที่ไปหากินในฝั่งพม่า โดยที่ไม่รู้ว่าเขตไหนเป็นพม่าหรือไทย ไปทำไร่ ทำนา อยู่โน่น กลับมาอีกทีกลายเป็นคนพม่าไปแล้ว ทั้งๆ ที่พูดพม่าไม่ได้สักคำ? เป็นถ้อยร้องทุกข์ของสม
เขายังเล่าอีกว่า ปัญหาการได้สถานภาพความเป็นประชาชนไทยในเขต 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ท่าสองยาง อ.แม่ระมาด อ.พบพระ อ.อุ้มผาง และอ.แม่สอดนั้น จากการสอบถามผู้ที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน ล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรแต่จะขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนและนาย อำเภอเป็นหลัก
?ตอนนี้ลูกผมยังเป็นสัญชาติพม่าอยู่เลย จริงๆ การจะออกบัตรให้นั้น ส่วนใหญ่ในเขต 5 จังหวัดชายแดนนี้ จะขึ้นอยู่กับอารมณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ หากวันไหนเขาอารมณ์ดีก็ทำให้ แต่ถ้าวันใดเขาเกิดทะเลาะกับสามี ภรรยา หรือเจ้านาย เขาก็ไม่ทำให้ ไม่สนใจเลย ทุกวันนี้ผมก็รอว่าเมื่อไหร่กระทรวงมหาดไทยจะออกให้สักที เพราะว่ามาสำรวจไปหลายครั้งแล้ว ทั้งสภาทนายความ ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา กระทรวงยุติธรรม กรรมการสิทธิฯก็ยังไม่เห็นทำอะไรได้เลย ? คนไทยพลัดถิ่น กล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว สิ่งที่สมกลัวมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ การใช้ชื่อคนอื่นซื้อที่ดิน ในลักษณะการซื้อฝากเหมือนกันอีกหลายครอบครัว เพราะเป็นการกระทำที่ไม่มีสัญญา ดังนั้นจึงเกรงว่าหากถูกโกงขึ้นมาวันหนึ่งวันใดก็คงต้องหมดตัว
จากผลการสำรวจคนไทยที่ไม่บัตรประชนชนในเขต ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก มีจำนวน 10 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นการสำรวจร่วมระหว่างชาวบ้านและคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ และผู้พลัดถิ่น พบว่ามีประชากรถึง 1,500 คนที่ไม่ได้สัญชาติและเชื้อชาติไทย
?เด็กๆ จะมีปมด้อยกว่าผู้ใหญ่ เพราะเวลาไปโรงเรียนมักจะถูกเพื่อนๆ เรียกว่า ไอ้หม่อง ไอ้กะเหรี่ยงทั้งๆ ที่เด็กเหล่านี้อยู่บนแผ่นดินไทยมาตั้งแต่เกิด ส่วนพ่อแม่ซึ่งเป็นเกษตรกร แม้จะไม่ได้บัตรประชาชน แต่ก็ต้องเสียภาษีให้รัฐบาลทุกปี โดยเฉพาะภาษีดอกหญ้า และอื่นๆ ? สม กล่าว
และย้ำอีกว่า เขาและคนไทยที่ไม่มีบัตรที่หมู่บ้านแห่งนี้ พูดภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำ ได้รับการศึกษาในโรงเรียนของรัฐบาล ดังนั้นจึงสมควรได้รับการพิจารณาให้ได้รับบัตรประชนชนไทยเป็นกลุ่มแรกๆ ด้วยซ้ำไป
แต่กับคนบางคนหรือหลายๆ คนที่พูดภาษาไทยไม่ชัดเลย แต่มีบัตรประชาชน เพียงแค่มีเงินจ่ายใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ ส่วนคนที่พูดภาษาเดียวกันกับเจ้าหน้าที่กลับไม่ได้รับความเหลียวแลเลย
เมื่อถูกถามว่า หากคนในหมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการรับรองความมีตัวตนจากราชการไทยแล้ว สิ่งที่จะทำอันดับแรกคืออะไร กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า จะโอนที่ดินกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองทันที รวมทั้งการสมัครเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อนำเงินมาลงทุน ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม
และการได้รับพิจารณาชดเชยค่าเสียหายพืชผลทางการเกษตรในยามที่เกิดอุทกภัย หรือวาตภัย เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้รัฐจะสำรวจพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ แต่ก็ไม่เคยได้รับค่าชดเชยแม้แต่บาทเดียว เพราะว่า เจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ใช่คนไทย ก็เลยไม่ทราบว่าจะจ่ายให้ได้อย่างไร
?พื้นที่ทำกินของเรา ไร่นา เสียหายกี่ไร่ เขาก็จดไป แต่เงินชดเชยที่รัฐจัดสรรให้ เราไม่เคยได้รับแม้แต่บาทเดียว ไปถามเจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่า คุณไม่มีบัตรประชาชน เป็นคนต่างด้าว?อ้าว! ผมก็ถามกลับไปว่า แล้วคุณมาสำรวจทำไม ผมเสียภาษีทุกปีนะ ผมเป็นคนไทย ก็ยัดเยียดว่าเป็นคนพม่า มันจะเป็นไปได้ยังไง ในเมื่อพูดไม่ได้เลย ? เสียงชายหนุ่มในกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเล่าอย่างมีอารมณ์ก่อนจะเดินจากไป
คนในหมู่บ้านแม่ปะแห่งนี้ อาจเป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่สะท้อนให้เห็นภาพของปัญหาในสังคมชนบท โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชายแดนที่อยู่ห่างไกลจากระบบสำรวจของข้อมูลทะเบียน ราษฎร์ ได้เป็นอย่างดี คนเหล่านี้แม้บางส่วนจะได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐอย่างถูกกฎหมาย มีสิทธิใช้ชิวิตในชุมชน แต่ก็มีไม่น้อยที่ยังตกระกำลำบากเป็นคนไทยพลัดถิ่นอยู่บนแผ่นดินไทย
Sun, 04/22/2012
Copyright © 2018. All rights reserved.