เกาะพยายาม ชุมชนมอแกนอีกแห่งในประเทศไทย

การเดินทางเริ่มต้นแล้ว ผมในนามตัวแทนเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิกระจกเงา ได้เดินทางร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอำเภอเมืองจังหวัดระนอง และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเด็ก เพื่อเข้าไปสำรวจชุมชนมอแกน ที่มีที่ตั้งของชุมชนอยู่บนเกาะพยาม ต.เกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง ทีมงานของเรา เริ่มเดินทางกันตั้งแต่เช้าของวันที่ 10 กันยายน 2548 โดย เริ่มต้นการเดินทางกันที่ท่าเรือด่านศุลกากรจังหวัดระนอง โดยมีเรือทางของอำเภอเมืองระนองเป็นยานพาหนะใช้ในการเดินทางล่องทะเลไปเกาะ พยามในครั้งนี้
ระยะทาง 21 ไมล์ทะเลกับเวลาการเดินทางประมาณ 1 ชัวโมง คณะสำรวจทั้งหมด ถึงท่าเทียบเรือเกาะพยาม ครั้งแรกที่เหยียบเท้าขึ้นบนท่าเทียบเรือเกาะพยาม ทำให้ผมหยุดคิดไปว่าที่นี่เหรอที่มีชุมชนมอแกนอยู่ มันต่างจากชุมชนมอแกนที่ผมไปเยือนมาหลายๆที่ เพราะว่าที่นี่เป็นเสมือนเกาะท่องเที่ยว มีร้านค้า Super Market , Internet Cafe , Resort ,ร้านอาหาร …. ดินแดนเกาะแห่งนี้ มันช่างเจริญหู เจริญตา สะดวกสะบายดีเหลือเกิน แล้วชุมชนมอแกนที่เราจะเข้าไปเยือน เขาอยู่กันที่ไหนละนี่…..เป็นคำถามที่อยู่ในใจ
อีก 7 กิโลเมตรถึงชุมชนมอแกน ตามคำบอก เล่าของเจ้าหน้าที่อำเภอที่มาด้วยกัน พี่ๆจากทางอำเภอบอกว่า หากต้องการล่วงหน้าเดินทางไปชุมชนมอแกนก่อน ต้องออกเดินทางไปจากท่าเทียบเรือนี้อีก 7 กิโลเมตรไปทางทิศ ตะวันตก จะถึงชุมชนมอแกน มีวิธีเดินทางไป 2 วิธี ด้วยกัน วิธีแรกคือการขับรถมอเตอร์ไซด์ไป วิธีที่สองคือนั่งเรืออ้อมหัวเกาะไปอีกฝั่ง แต่ผมและทีมงานเลือกที่จะขับมอเตอร์ไซด์ไป โดยหาเช่ารถมอเตอร์ไซด์ แถวๆบริเวณนั้น….เวลาประมาณ 30 นาที
มอเตอร์ไซด์ คู่ใจพาผมไปถึงที่หมายโดยปลอดภัย ส่วนพี่ๆทางอำเภอมีธุระต้องประชุมชาวบ้านประจำเดือนที่เกาะพยามก่อน ตอนบ่ายจะตามเข้าไปที่ชุมชนมอแกน
คณะสำรวจอำเภอเมืองระนอง ท่านปลัดจรูญ เชาวนรังค์ หัวหน้าชุดสำรวจของทางอำเภอเมืองระนอง โดยในทีมงานของอำเภอจะมีเจ้าหน้าที่อำเภอและส่วนงานที่เกี่ยวข้องอีกหลาย ท่าน ที่ไปสำรวจในครังนี้ อาทิพี่ต้อม พี่วาสนา ป้าลี และพี่ท่านอื่นๆอีกหลายท่าน…..
มอแกนเกาะพยาม 20 หลัง 75 คน เจ้าหน้าที่อำเภอได้เริ่มสำรวจชุมชนมอแกนที่นี่ ด้วยการกำหนดเลขที่บ้าน โดยทำสัญญลักษณ์บ้านเป็นตัวเลขสีแดง พ่นด้วยสีติดกับตัวบ้าน หลังจากกำหนดเลขบ้านครบแล้ว จะเดินไปที่บ้านแต่ละหลังและทำการถ่ายรูปครอบครัวบุคคลในบ้านไว้ให้ครบทุกคนจากนั้น จะเรียกเป็นรายครอบครัว มาถ่ายรูปเดี่ยวหน้าตรง และเริ่มทำการสัมภาษณ์ถึงข้อเท็จจริงต่างๆเพื่อกรอกข้อมูลของชาวบ้านแต่ละคน ลงในแบบฟอร์มที่เตรียมมา สัมภาษณ์เสร็จก็จะทำการพิมพ์ลายนิ้วมือของคนนั้นๆลงแบบฟอร์ม
ความสัมพันธ์เชิงครอบครัวของชุมชน ส่วนทีมของมูลนิธิกระจกเงาและมูลนิธิเด็กในครั้งนี้การสำรวจมิได้ทำเหมือน ครั้งก่อน แต่ทีมงานเราเลือกที่จะทำในสิ่งใหม่ คือการสำรวจหาความสัมพันธ์ทางครอบครัวของชุมชมมอแกน ออกมาเป็นโครงสร้างทางความสัมพันธ์ของแต่ละคน โดยทีมงานเรามีความเชื่อว่าหากคนชุมชนเป็นกลุ่มที่เป็นญาติพี่น้องกันแล้ว ที่มาของแต่ละคนจะสัมพันธ์กัน สามารถเชื่อมโยงกันไปมาได้ กิจกรรมการสำรวจลักษณะนี้ ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆมาจากการบอกเล่าของคนในชุมชน จากบุคคลที่ค่อนข้างมีอายุ หรือไม่ก็เป็นคนสำคัญในชุมชน ที่ไปเกี่ยวข้องรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆของชุมชน ทำให้ทราบจุดเกาะเกี่ยวของแต่ละครอบครัวและแต่ละคนในชุมชนได้
การหากินคือวิถีชีวิตที่ขาดไม่ได้ การสำรวจ สถานะบุคคลชาวบ้านมอแกนในครั้งนี้ มีชาวบ้านมอแกนบางครอบครัวไม่อยู่ในวันที่ทำการสำรวจข้อมูล เนื่องจากต้องออกไปทำมาหาอาหารเลี้ยงชีพในทะเล และไม่กลับมาในวันที่ทางอำเภอมาทำสำรวจ ทำให้ทางอำเภอต้องประสานกับผู้นำชุมชน เพื่อให้ประสานงานกับชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ ให้มาสำรวจให้ครบทุกครอบครัว
นี่ เป็นอีกจุดเริ่มต้น ของพัฒนาการเพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลให้ชาวบ้าน มอแกนที่นี่ ถึงแม้ยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสถานะบุคคลฯ จะมีนโยบายในการสำรวจคนตกหล่นในประเทศไทยในอีกหนึ่งปีข้างหน้า แต่ที่นี่อำเภอเมืองระนองเริ่มแล้ว…เริ่มที่จะเข้าไปแก้ปัญหาสถานะบุคคล ให้แก่ชาวมอแกนในประเทศไทย….
ผม และทีมงานที่ร่วมเดินทางในฐานะคนทำงานจากองค์กรพัฒนาเอกชนขอชื่นชมการทำงาน ในครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่อำเภอทุกคน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความดีที่ต้องนับถือ…..
โดย โจ้..มูลนิธิกระจกเงา
Tue, 05/07/2013
Copyright © 2018. All rights reserved.