มอแกนเกาะเหลา

วันนี้เมื่อโลกใบใหม่กำลังเข้ามาแทนที่โลกใบเก่า กลุ่มชาติพันธุ์มอแกนเกาะเหลาก็เหมือนกับอีกหลาย ๆ พื้นที่เช่นเดียวกัน มอ แกน (Moken) หรือ พรานทะเล สิงห์ทะเลหรือเรียกอีกอย่างว่า มาซิง เมื่อครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตและเวลาส่วนใหญ่ในเรือ ที่เป็นเหมือนบ้านและยานพาหนะ ที่จะนำพาชีวิตพวกเขาไปสู่เกาะแก่งใหญ่น้อย ในท้องทะเลมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เป็นที่ที่พวกเขายกให้เป็นทั้งพ่อและแม่ที่ต้องเคารพและรักษาไว้ วิถีชีวิตที่สอดคล้องกับฤดูกาล
ในเรื่องปรัชญาในการ เรียนรู้ความสัมพันธ์ทางธรรมชาติ เมื่อท้องทะเลนิ่งสงบอากาศดี มอแกนจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเรือเพื่อออกเดินทางหาปลา งมหอย หาปู เพื่อการดำเนินชีวิต และเมื่อถึงเวลาที่มีคลื่นลมมรสุมมอแกนก็จะรู้จักการหาฝั่งเพื่อเข้าหลบลม มรสุม โดยจะหาที่จอดเรือ มอแกนจะเรียก เรือว่า (ก่าบาง) ซึ่งหมายถึง พาหนะหรือบ้านที่ลอยในน้ำได้
มอแกนมีชีวิตที่ผูกพันกับเรือ (ดังคำกล่าว ที่ว่าถ้าไม่มีเรือก็ไม่มีมอแกน) ซึ่งพวกเขาจะสร้างเรือจากการขุดไม้ใหญ่บางชนิดที่อยู่ในป่า นำมาสร้างเรือ ประเทศไทยจะได้รับลมมรสุม 2 ฤดู คือฤดูฝน ช่วงเดือน (พฤษภาคม-ตุลาคม) และช่วงฤดูแล้ง (พฤศจิกายน-เมษายน) มอแกนมีความผูกพันกับทะเลมาก เมื่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากการไม่สามารถที่จะล่องทะเลไปในที่ไหน ๆ ได้เช่นเคย ประกอบกับการปักหลักเขตแดนในพื้นที่น่านน้ำของแต่ละประเทศ มอแกนจึงต้องตั้งถิ่นฐานอยู่ตามบริเวณชายฝั่งหรือบนเกาะ แต่ก็ยังยึดอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทะเลอยู่
การสร้างบ้านเรือนของมอแกนก็เป็นแบบเรียบง่าย โดยการใช้ไม้ไผ่มาทำฝา และมุงหลังคาด้วยใบเตยหนามและใบค้อ หมู่บ้านมักจะตั้งอยู่ริมหาด
มอแกนจะมีประเพณีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “การลอยเรือ” โดย จะทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 (ปีหนึ่งจะทำ 2 ครั้ง) มอแกนมีความเชื่อที่ว่าการลอยเรือนั้น จะช่วยให้นำสิ่งที่ชั่วร้ายที่มีอยู่ในร่างกายออกไป แล้วเรือจะนำสิ่งชั่วร้ายนี้ไปทิ้งในทะเลลึก เพื่อให้ชีวิตมีความสุขและดีขึ้น จากวิถีชีวิตดังกล่าวบ่งบอกให้เห็นว่า มอแกนมีชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติเพียงใด
มอแกนเกาะเหลา เป็นพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อเขตแดนไทยพม่า ในทางฝั่งพื้นที่จังหวัดระนองของประเทศไทย ปัจจุบันประกอบไปด้วยชุมชน กว่า 70 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 320 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังยึดหลักการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการประมงอยู่ และในบางครั้งก็ดำรงชีพแบบเรียบง่ายด้วยการเก็บ หอยหวาน หอยติบ และหอยราก มาปรุงเป็นอาหาร ซึ่งหาได้ตามบริเวณแนวชายฝั่งในเวลาที่น้ำลด หรือบางทีก็ออกเรือไปวางอวนหาปลา บริเวณใกล้ๆ เกาะ มายังชีพ เวลาที่ไม่ได้ออกเรือไปไหน สาเหตุหนึ่งก็คือ ไม่มีเงินพอสำหรับการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงมาใส่เรือ ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันภาวะราคาน้ำมันภายในประเทศมีราคาที่สูงมาก ตามกระแสตลาดโลก อิทธิพลดังกล่าว ส่งผลทำให้วิถีชีวิตของมอแกนประสบปัญหาเป็นอย่างหนัก เพราะถ้าไม่ออกเรือก็ไม่มีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว
จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลทำให้มอแกนบางกลุ่มต้องไปยึด การประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย ด้วยการออกเรือไประเบิดปลา โดยการออกไปรับจ้างกับกลุ่มนายทุน แถวบริเวณท่าเรือสะพานปลา ซึ่งอัตราค่าจ้างอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต่ำ ซึ่งจากหลายครั้งในการออกเรือไประเบิดปลา ทำให้มอแกนเกาะเหลาต้องประสบกับอุบัติเหตุจากแรงระเบิด ถึงขั้นพิการ และในบ้างครั้งก็ถูกทางเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม ประกอบกับการเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ (มอแกนเกาะเหลาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ บัตรในการถือสัญชาติไทย) เกิดปัญหาทับซ้อนขึ้นกับมอแกนอีกลำทับหนึ่ง
ในทางด้านการศึกษา มอแกนเกาะเหลาส่วนใหญ่จะมีความรู้ทางด้านการศึกษาในระดับที่ยังต่ำอยู่ แม้จะมีโรงเรียนเกาะเหลาตั้งอยู่ในพื้นที่ก็ตาม เด็กมอแกนบางส่วนยังต้องติดตามพ่อแม่ไปออกเรือหาปลาในทะเล ระยะเวลาในการออกเรือหาปลาในแต่ล่ะครั้ง ใช้เวลาประมาณ 20 กว่าวัน ถึงจะเข้าฝั่ง จะมีเพียงเยาวชนภายในหมู่บ้านไม่กี่คน ที่มีโอกาสได้เข้ารับการศึกษา
จากข้อมูลที่ทำการสำรวจพบว่า มีเพียงประมาณ 10 กว่าคน จากจำนวนเด็กทั้งหมด คิดเป็นเด็ก แรกเกิด – 3 ปี จำนวน 48 คน และเด็ก 3 ปี – ชั้นระดับประถมศึกษา 80 คน
ปัจจุบันเด็กมอแกนเกาะเหลา สามารถที่จะมีสิทธิในการเข้ารับการศึกษา ได้ภายใต้มาตรการ จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ. ศ. 2548 เห็นชอบมาตราการการจัดการการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน โดยการให้ทางกรมการปกครองออก (แบบ 89) ทำการสำรวจ ผู้ที่มีปัญหาในเรื่องการเข้ารับศึกษาในสถานศึกษา
อย่างไรก็ดี ปัญหาในเรื่องของการเป็นกลุ่มคน ที่ไม่มีสัญชาติของมอแกนเกาะเหลา ไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เพราะปัญหาจากการที่เป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำให้พวกเขาถูกตัดสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่พึ่งจะได้รับในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเข้ารับรักษาพยาบาล เมื่อเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย บางคนต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แบบตามมีตามเกิด เพราะไม่สามารถที่จะสู้กับค่าใช้จ่ายที่สูงในแต่ละครั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เข้ามาผูก อยู่ในวิถีชีวิตของมอแกนเกาะเหลา อย่างแก้ลำบาก ถ้าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือมีมาตราการมารองรับอย่างดีพอ
ณ วันนี้มอแกนเกาะเหลา จะสามารถตั้งรับกับคลื่นทางวัฒนธรรมที่ถาโถมเข้ามาไม่ต่างกับคลื่นยักษ์สึนา มิ ได้หรือไม่ คำถามเหล่านี้คงอยู่ในใจของเขา มอแกนเกาะเหลา
สฤษดิ์ มีตาลีป
ทีมสัญชาติกระจกเงา พังงา
Copyright © 2018. All rights reserved.