หนังตัวอย่าง ‘ไร้สัญชาติ’ ปัญหาใหญ่กว่าที่คิด !

” เด็กสามารถสอบเข้าแพทย์ได้ ผมคิดว่าน่าจะให้เด็กคนนั้นเป็น พลเมืองไทย ดีกว่า ถ้าจะให้ไล่กลับเวียดนาม ผมว่าผมเก็บไว้ดีกว่า อย่าเป็นศรีธนญชัยมาก อย่าไปรังเกียจ จุดอ่อนของเราคือระบบราชการตีความ”
…เป็นคำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อกรณี น้องกุ้ง-ยุทธนา ผ่ามวัน นักเรียนไทยเชื้อสายเวียดนาม หลังจากคณะกรรม การสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับเรื่องร้องเรียนของยุทธนา ที่สอบติดคณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่มีปัญหาเรื่องการเข้าเรียน เพราะ “ขาดคุณสมบัติ”
“ไม่มีสัญชาติไทย” ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน…
รายของ “ยุทธนา” อาจจะจบ…แต่รายอื่น ๆ ยัง !!
“สิทธิ-เสรีภาพ” ทั่วทุกมุมโลกต่างอ้างถึงกันอึงมี่ แต่ขณะเดียวกัน… ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ถูกละเมิดสิทธิหรือ “ไม่ได้รับสิทธิ” โดยเฉพาะสิทธิในความเป็นประชาชนพลเมืองของประเทศที่ตนพำนักอาศัย
เด็กจำนวนไม่น้อยที่เกิดในประเทศไทย “ไร้สัญชาติ” ไม่มีการแจ้งเกิด ถูกปฏิเสธที่จะให้สิทธิต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายอย่างถูกต้อง จึงตกเป็น “คนไร้รัฐ”
ภาวะไร้สัญชาติทำให้เด็กและ เยาวชนจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการศึกษาจน จบหลักสูตร ไม่ได้รับวุฒิการศึกษา และเป็น “จุดบอด” ในการเข้าทำงาน แม้ตาม พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว อนุญาตให้เด็กและเยาวชนเข้าทำงานได้ แต่เมื่อเด็กไร้สัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน การจะเข้าทำงาน หรือแม้แต่การเรียน ก็มี “อุปสรรค”เด็กที่ เกิดในประเทศไทยจากการไร้ สัญชาติของผู้เป็นพ่อ-แม่ ไม่มีใบสำคัญประจำตัวต่างด้าว ถือว่าเป็นบุคคลเข้าเมืองอย่าง “ผิดกฎหมาย” ทำให้เด็กต้องมีความผิดในสิ่งที่ตนเองไม่ได้กระทำ
“น้องกุ้ง-ยุทธนา” มิใช่รายแรก-รายเดียว !?!
เตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.เชียงราย ระบุถึงเรื่องนี้ว่า… ไม่เพียงยุทธนาเท่านั้น…เพราะยังมีเด็กกว่าหมื่นคน ที่มีปัญหาเรื่อง “สัญชาติ” จากจำนวนผู้ที่มีปัญหาเรื่องนี้ทั้งหมดประมาณกว่าแสนคน
เพราะ พ.ร.บ.สัญชาติ มาตรา 7 กำหนดว่าผู้ ที่จะได้รับสัญชาติไทย พ่อ-แม่ต้องมีสัญชาติไทย ซึ่งกระบวนการในการขอสัญชาตินั้นต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติ
อย่างเช่น ที่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ชาวเขาที่นั่นมีถิ่นฐานในเขตไทย อยู่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว พ่อ-แม่เกิดในประเทศไทย มีลูก-หลานเกิดในประเทศไทย ก็ยังมีสัญชาติไทยไม่หมด เพราะด้วยกระบวนการที่ต้องผ่านอำเภอส่งต่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จากผู้ว่าฯ ไปสู่กรมการปกครอง แล้วจึงถึงรัฐมนตรี “ขั้นตอนต่าง ๆ นี้ใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี” ซึ่งในแต่ละปีก็สามารถอนุมัติได้เพียงพันกว่าคนเท่านั้น
ทั้งนี้ เรื่องสัญชาตินั้นเป็นเพียงส่วนย่อยของ “สถานะ ทางกฎหมาย” ซึ่งรัฐจะ “รับรอง การมีตัวตนตามกฎหมาย” ณ อาณาเขตของรัฐนั้น โดยแบ่งการมีตัวตนออกเป็น 3 ส่วนคือ…
1.การมีสัญชาติ ก็คือผู้ที่เกิดในประเทศไทย มีบัตรประชาชน 2.คนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่อาศัยเป็น หลักแหล่ง จะได้บัตรต่างด้าว พร้อมกับบัตรที่อยู่อาศัยถาวร และ 3.คนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกฎหมายชั่วคราว และไม่มีถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ซึ่งก็หมายถึง “ผู้ลี้ภัย” หรือ “แรงงานต่างด้าว” ที่เข้ามาทำงาน ก็จะมีบัตรต่างด้าวเพียงอย่างเดียว
ส.ว.เตือนใจ บอกว่า…”ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล” ย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยประชาชนชาวไทยไม่ว่าแหล่งกำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน ตามที่ มาตรา 4-5 ในบททั่วไปได้กำหนดไว้
และใน หมวด 3 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของ ชนชาวไทย ในมาตรา 30 ระบุไว้ว่า…บุคคลย่อมเสมอ กันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐ ธรรมนูญ จะกระทำมิได้
มาตรการที่รัฐ กำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้ เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม..!!
“กรณีชาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ นั้น เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะมีคำสั่งให้ชาวแม่อายจำนวน 1,243 คน ออกจากทะเบียนราษฎร (ทร.14) จนเมื่อศาลปกครอง พิพากษาเห็นว่าเป็น คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงคืนสัญชาติให้กับชาวแม่อาย…”
นอกจาก นี้ ส.ว.เชียงราย ยังกล่าวย้ำอีกว่า…ผู้ที่เกิดในประเทศไทยต้องมีสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งก็คือ “การเป็นพลเมือง” มีสิทธิทางการเมือง สังคม การศึกษา วัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม เรื่องการศึกษา…น่าเสียดายที่เด็กที่เรียนดี-เรียนเก่ง กลุ่มนี้ถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐ เด็กเหล่านี้จะได้เพียง “ใบรับรองความรู้” เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถจะไปเรียนต่อได้ในสถานศึกษาบางแห่ง โดยเฉพาะในระดับสูง ๆ ขึ้นไป จึงควรจะต้องได้รับการแก้ไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด
“ส่วนเรื่อง คน 2 สัญชาติ จริง ๆ แล้วไม่มีปัญหา เพราะเป็นสิทธิการมีตัวตนเช่นกัน เมื่อพ่อ-แม่เป็นคนละสัญชาติลูกก็มีสิทธิที่จะเลือกสัญชาติ หรือทั้ง 2 สัญชาติได้ แต่ผู้ที่ถือทั้ง 2 สัญชาติ นั้นต้องทำตามกฎหมายของอาณาเขตของรัฐ ๆ นั้น”…ส.ว.เตือนใจกล่าว
“ยุทธนา” มิใช่เยาวชนที่เกิดในไทยรายเดียวที่มีปัญหานี้
ปัญหา “ไร้สัญชาติ” ต่อไปจะยิ่งยุ่งขึ้นเป็นลำดับแน่นอน ?!?!.
Tue, 02/02/2010
Copyright © 2018. All rights reserved.