สรุปเวทีสาธารณะจังหวัดตาก “เด็กกับความหวังการได้เป็นคนถูกกฎหมายและได้สัญชาติไทย” ตามมาตรา ๗ ทวิวรรคสอง และมาตรา ๗ ทวิวรรคสาม ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

เวทีสาธารณะ จังหวัดตาก “เด็กกับความหวังการได้เป็นคนถูกกฎหมายและได้สัญชาติไทย” ตามมาตรา ๗ ทวิวรรคสอง และมาตรา ๗ ทวิวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

 ๑. ความเป็นมา

การรอคอยของเด็กและบุคคลที่เกิดในประเทศไทยภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๓  เห็นชอบให้กำหนดสถานะของบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยและอาศัยอยู่มานาน โดยกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะบุคคลตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กหรือบุคคลที่จะได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิวรรคสองกำหนดว่า

มาตรา ๗ ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว

(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรค

หนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะ

ใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๕  แต่หลักเกณฑ์ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม คนที่บัตรเป็นหัว “๐” บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน จะมีก็เฉพาะบุคคลที่จบการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาตรี ถึงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ วันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล นอกจากนั้นยังมีปัญหาด้านการกำหนดหลักเกณฑ์ ค่อนข้างยุ่งยากในทางปฏิบัติ ทำให้การดำเนินการล่าช้าถือว่าเป็นความไม่เป็นธรรม และที่สำคัญเด็กหรือบุคคลเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองหรือเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับ นับว่าเป็นการซ้ำเติมตีตราบาปให้กับเด็ก ได้ผิดหลักเกณฑ์ตามหลักสิทธิพลเมืองและสิทธิเด็ก ตามที่รัฐบาลไทยเป็นสมาชิกรัฐภาคี

เวทีสาธารณะ “เด็กกับความหวังการได้เป็นคนถูกกฎหมายและได้สัญชาติไทย”ตามมาตรา ๗ ทวิวรรคสอง และมาตรา ๗ ทวิวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นอีกเวทีหนึ่งที่กลุ่มเจ้าของปัญหาโดยเฉพาะ   เด็ก ๆ ที่ไร้สัญชาติ จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และนำเสนอผลกระทบจากปัญหาที่ตนเองและกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ ให้กับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ช่วยพิจารณาเร่งรัดในการดำเนินการแก้ไขปัญหา

โครงการการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ (SCPP) และเครือข่ายใน ๕ จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, แม่ฮ่องสอน และจังหวัดตากและองค์กรเครือข่าย ๓๑ องค์กร จึงได้ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ เพื่อให้กลุ่มเจ้าของปัญหา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาครัฐ มีเวทีในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประเด็นปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ใน ๔ จังหวัด เป็นการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและมีทิศทางในการขจัดปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล และเตรียมพร้อมในการจัดการประชากร เพื่อการเปิดประตูสู่อาเซียนในปี ๒๕๕๘ ร่วมกัน

๒. วัตถุประสงค์

๒.๑  เพื่อให้กลุ่มเจ้าของปัญหาสถานะและสิทธิ ของบุคคล ที่เข้าข่ายมาตรา ๗ ทวิวรรคสอง วรรคสาม ได้มีเวทีในแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สิทธิของตนเองและได้แลกเปลี่ยนผลกระทบต่อปัญหา และสิทธิที่ตัวเองจะได้รับตามกฎหมาย

๒.๒ เพื่อให้กลุ่มเจ้าของปัญหาได้เสนอความคิดเห็นและสรุปผลกระทบ รวบรวมเป็นข้อเสนอถึงหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะบุคคลให้เกิดความครอบคลุมทุกกลุ่ม

๒.๓ เพื่อผลักดันให้มีนโยบาย แนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือแนวทางในทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับการรับรองสิทธิของบุคคลไร้สัญชาติ

๓. กิจกรรม

๓.๑  เวทีสาธารณะ

๓.๒ กิจกรรมห้องเรียนสถานะและสิทธิบุคคล

๓.๓ จัดกระบวนการตรวจเอกสารและยื่นคำร้อง

๔. กลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๑๐๐ คน ประกอบไปด้วย

๔.๑  เจ้าของปัญหา

– เด็กนักเรียน

– ผู้ปกครองนักเรียน

– บุคคลไร้สัญชาติ

๔.๒ ครู

๔.๓ องค์กรพัฒนาเอกชน

๔.๔ นักวิชาการ

๔.๕.หน่วยงานภาครัฐ

๔.๖ สื่อมวลชน

๔.๗ ผู้ที่สนใจทั่วไป

๕. วันเวลวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๖

๖. สถานที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่อุสุ

๗. ที่อยู่  ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน

เลขที่ ๗ หมู่ ๒ ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๕๘๑๑๐

โทรศัพท์/โทรสาร ๐๕๓-๖๑๘๐๖๗  อีเมล์ : dccn_salaween@hotmail.com

๘. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๘.๑  กลุ่มที่ตกค้างภายใต้  ที่เข้าข่ายมาตรา ๗ ทวิวรรคสอง และวรรคสาม ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

๘.๒ กลุ่มเจ้าของปัญหาได้นำเสนอสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบสู่สาธารณะ

๘.๓ ผู้แทนรัฐบาลได้รับข้อเสนอนำไปสู่การปรับปรุงแนวนโยบาย

๙. องค์กรที่รับผิดชอบและร่วมจัด

๙.๑ ที่ทำการปกครองจังหวัดตาก

๙.๒ มูลนิธิกระจกเงา จังหวัดเชียงราย

๙.๓ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จังหวัดเชียงราย

๙.๔ บ้านแสงใหม่ จังหวัดเชียงราย

๙.๕ ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน/ตาก

๙.๖ ภาคีต่อต้านการค้าเด็กและหญิง ประเทศไทย จ.เชียงใหม่

๙.๗ กลุ่มละครชุมชน กั๊บไฟ จังหวัดเชียงใหม่

๙.๘ องค์กรสิทธิชุมชน จังหวัดพะเยา

๙.๙ โครงการพัฒนาสิทธิในสังคม

๙.๑๐ คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน

๙.๑๑ คริสตจักรภาคที่ ๑๙ สภาคริสตจักรประเทศไทย

Thu, 10/24/2013
Copyright © 2018. All rights reserved.