เตือนใจ ดีเทศน์ จุดยืนชีวิตไม่ผันเปลี่ยน

เตือนใจ ดีเทศน์ จุดยืนชีวิตไม่ผันเปลี่ยน

“คนเราเกิดมา เรียนหนังสือ แต่งงาน ทำงาน สร้างเงินทองบ้านช่อง รถราคันใหญ่โต แล้วก็ตายไป เราจะเป็นแค่นี้หรือ? หรือเราจะเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้สังคม?”

ประโยคดังกล่าวเป็นคำถามจาก เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ ครูแดง อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย นักพัฒนารุ่นบุกเบิกที่ผ่านการทำงานรับใช้สังคมมาตลอดชีวิต ตั้งคำถามคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน ถึงการแสวงหาคุณค่าและความหมายของตัวเอง

คำถามนี้ดูจะเข้ากับบรรยากาศเดือนตุลา ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการรำลึกเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค. 2519 เป็นช่วงเวลาที่พลังนักศึกษาเบ่งบานถึงขีดสุด ต่างจากคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ให้ค่านิยมกับวัตถุภายนอกและมองแต่ตัวเอง ขณะที่ค่านิยมการรับใช้สังคมค่อยๆ จางหายไป

คำถามดังกล่าวจะเป็นเพียงแค่เสียงเพรียกหาวิญญาณในอดีตอันหอมหวาน หรือจะจุดประกายไฟกระตุ้นคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน ให้หันกลับมาทบทวนคุณค่าและความหมายของตัวเองอย่างลึกซึ้ง…คุณเท่านั้นที่จะเป็นผู้ให้คำตอบ

จะโถมกายเป็นทางเพื่อมวลชน

เตือนใจ ดีเทศน์ เกิดเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2495 เป็นบุตรีของ พล.ท.ม.ล.ขาบ กุญชร และอุไร เปรมัษเฐียร สมรสกับ ธนู ดีเทศน์ ปัจจุบันทำหน้าที่ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา

ชีวิตของครูแดง กล่าวได้ว่าเป็นชีวิตที่งดงาม เป็นแบบอย่างสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี จากหญิงสาวในราชสกุล กุญชร ณ อยุธยา จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2516 ซึ่งยุคนั้นมหาวิทยาลัยไม่ได้มีมากมายกลาดเกลื่อนเหมือนปัจจุบัน และคนที่เป็นบัณฑิตยิ่งมีน้อย ยิ่งเรียนจบจากสถาบันการศึกษาอันดับ 1 ของประเทศ ถือว่ามีโอกาสมากมายที่จะไขว่คว้าหาความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

ทว่า ครูแดง กลับเลือกที่จะมาเป็นครูดอยอยู่ที่หมู่บ้านปางสา อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งการเดินทางลำบาก ต้องเดินเท้าจากตัวอำเภอถึง 4 ชั่วโมง และตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ทำงานด้านการพัฒนาชุมชุน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาทั้งชีวิต

“บรรยากาศก่อนยุค 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 นับเป็นยุคของพลังคนหนุ่มสาว ที่ตั้งคำถามแสวงหาคุณค่าความหมายของชีวิต จะมีบทกวี มีหนังสือที่ทำให้นิสิตนักศึกษาต้องถามตัวเอง เช่น บทกวีของวิทยากร เชียงกูล ที่ว่า ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหา มีเพลงเพื่อชีวิตมากมาย มีเพลงเช่น ถ้าหากฉันเกิดเป็นเม็ดทราย จะโถมกายเป็นทางเพื่อมวลชนฯ”

ครูแดง ชี้ว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยปลุกจิตสำนึกคนหนุ่มสาวยุคนั้นว่าชีวิตต้องมีคุณค่า ถ้าไม่ได้เป็นดอกกุหลาบ ก็เป็นดอกหญ้า ดอกหญ้าก็มีคุณค่าแบบดอกหญ้า ถ้าไม่ได้เป็นเพชร ก็เป็นกรวดเป็นทราย คือไม่ได้คิดว่าต้องเด่นที่สุด แต่เป็นอะไรเล็กๆ ที่เป็นประโยชน์ได้

นอกจากนี้ จุดเด่นในยุคนั้นมีชมรมในมหาวิทยาลัยเยอะแยะมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะนิสิตนักศึกษาไม่ใช่แค่เรียนเฉพาะทฤษฎี แต่ได้เรียนภาคปฏิบัติ ได้รู้จักเพื่อน พี่ ครูบาอาจารย์จากคณะต่างๆ

“เดือน พ.ค. 2514 ก็ได้ไปออกค่ายสร้างฝายน้ำล้นให้ชาวเขาที่ จ.แพร่ ซึ่งการไปค่ายทำให้ได้เห็นอีกโลกหนึ่งที่หาไม่ได้ในกรุงเทพฯ เป็นโลกที่อยู่กับธรรมชาติ ตอนเช้าได้เห็นพระอาทิตย์ส่องแสงสีทองมาทาบผืนป่า มันน่าอัศจรรย์มาก เราอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่เห็นแบบนี้ ก็เลยคิดว่าทำไมเราถึงไปจมปลักกันอยู่แต่ในกรุงเทพฯ เรียนจบแล้วก็ทำงานกันอยู่ในกรุงเทพฯ ทำไมเราจึงไม่หลุดออกไปอยู่ในที่ที่ผู้คนมีจิตใจดีงาม และได้อยู่กับธรรมชาติ”

แม้จะหาความหมายและคุณค่าชีวิตตัวเองเจอแล้ว แต่ก็ยังมีบางเวลาที่สับสนถึงจุดหมายชีวิตตัวเอง นั่นคือ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 3 ซึ่งเพื่อนๆ เริ่มวางแผนชีวิต บ้างก็จะสอบชิงทุนไปต่างประเทศ บ้างก็วางแผนจะสอบเป็นข้าราชการกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ทำให้ครูแดงเริ่มสับสนว่าชีวิตจะไปทางไหนดี เพราะถ้าจะวางแผนชีวิตแบบเพื่อนๆ ใจก็ไม่อยากเป็นแบบนั้น ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจไปเรียนประกาศนียบัตรชั้นสูง บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลือกไปทำงานในหมู่บ้านปางสา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยไปออกค่ายตอนปี 4 เพราะชาวบ้านที่นั่นอยากให้ไปอยู่ ไปช่วยสอนลูกหลานให้

“เหตุผลที่ตัดสินใจไป เพราะคิดว่าความสุขคือการได้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับชุมชนที่พึ่งพาอาศัยกัน ถ้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เราก็เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกลไกใหญ่ๆ แล้วก็จมหายไปในระบบของเมืองใหญ่ ซึ่งไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรให้กับชีวิต และไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับคนที่เขาต้องการเรา ตอนนั้นมันอาจเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ไปอยู่ในที่ที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีถนน ไม่มีปัจจัยความสะดวกเหมือนในเมือง แต่เราคิดว่านั่นคือความสุขและคุณค่าของชีวิต”

จากครูดอยสู่นักพัฒนาระดับโลก

ครูแดง ทำงานในหมู่บ้านถึง 10 ปี ตั้งแต่ปี 25172527 แต่ระหว่างนั้นก็ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่สำหรับชาวเขาด้วย และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) ก็ให้ทุนเรื่องการพัฒนารูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับชุมชนชาวเขา จึงเกิดโครงการครูอาสาสมัคร หรือที่เรียกว่า ครูดอย ซึ่งเมื่อเงินทุนจาก USAID หมดลง ครูแดงจึงคิดตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา แล้วย้ายพื้นที่ทำงานไปอยู่ต้นน้ำแม่จันแม่สลอง ซึ่งเป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง เพราะเป็นเขตสู้รบระหว่างขุนส่า ราชายาเสพติดในสมัยนั้นกับว้าแดง การทำงานก็ปรับจากงานด้านการศึกษาไปเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มอีกด้วย

กระทั่งปี 2533 ครูแดงได้รับรางวัล Global 500 จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล จากนั้นในปี 2537 ก็ได้รางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมน ในฐานะผู้แทนของทวีปเอเชีย

“ตอนนั้นได้เห็นคนที่ได้รับรางวัลระดับโลก เขาขยับมาทำงานการเมือง ก็เลยเริ่มคิดว่าแทนที่คำตอบจะอยู่ในหมู่บ้านอย่างเดียว ก็ต้องคิดเชื่อมโยงกับการเมืองภาพรวมของประเทศ เพราะชาวบ้านต้องมีตัวแทนเข้าไปอยู่ในระบบรัฐสภา พอมีการเลือกตั้ง สว.เลยลงสมัคร วิธีการทำงานก็เปลี่ยนไป แทนที่จะอยู่กับภาคปฏิบัติระดับรากหญ้าอย่างเดียว ก็ต้องมาทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารและกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งทำให้ทำงานได้กว้างขึ้น”

ผลงานของครูแดงครั้งทำงานในฐานะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ คือ เรื่องเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งมีการเปิดประเด็นนี้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของรัฐ เกิดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา และมีการปรับปรุงเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับเด็กไร้สัญชาติ และครูแดงก็ยังทำงานด้านเด็กไร้สัญชาติมากระทั่งทุกวันนี้

หนุ่มสาวเอย จงออกไปแสวงหา

เมื่อหันกลับมามองคนยุคปัจจุบัน ครูแดงสะท้อนภาพว่าสังคมมีการกระตุ้นการบริโภคตั้งแต่เด็กจนโต เช่น ตอนเด็กถูกกระตุ้นด้วยโฆษณาขนมกรุบกรอบ โตขึ้นมาอีกหน่อยก็ถูกกระตุ้นว่าต้องมีผิวขาว คางเรียวยาวแบบเกาหลี ซึ่งเป็นการให้ค่านิยมทางเปลือก แต่ไม่ได้ให้ค่านิยมทางจิตวิญญาณ ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคม แต่รับใช้ระบบเศรษฐกิจการค้าแทน

“นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กลายเป็นว่านักศึกษาต้องรีบเรียน เพราะค่าหน่วยกิตแพง ถ้าหากเรียนด้วยทำกิจกรรมไปด้วยจะจบช้าและเปลืองสตางค์ ค่านิยมรับใช้สังคมก็หายไป”

อย่างไรก็ตาม ครูแดงมองว่านิสิตนักศึกษาที่มีจิตสำนึกดีก็ยังมีอยู่ แต่ต้องการแรงบันดาลใจจากผู้ใหญ่มากกว่านี้ ซึ่งจุดนี้สื่อมวลชนกระแสหลักและโซเชียลมีเดียจะทำหน้าที่ได้มากในการนำแนวคิดแนวปฏิบัติของบุคคลที่เป็นต้นแบบไปขยายผลให้แก่เด็ก

“ประเด็นเรื่องต้นแบบแรงบันดาลใจเนี่ย สังคมไทยถูกชี้นำโดยธุรกิจบันเทิง ดารากลายเป็นแบบอย่างเด็กรุ่นใหม่ว่าต้องหน้าขาวใส ต้องอย่างนี้อย่างนั้น แต่อย่างงาน 100 ปีพระสังฆราช รัฐให้ความสำคัญน้อย ทั้งๆ ที่ท่านเป็นแบบอย่างแห่งพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่ผ่านๆ มาเราให้ความสำคัญกับการปลูกฝังทางจิตวิญญาณน้อยเกินไป เด็กจึงหลงทางไปกับฟองสบู่ หลงกับความสวยงามภายนอก ไม่ได้คิดถึงความมั่นคง ความสงบในจิตใจของตัวเอง”

ครูแดง แนะนำว่าคนหนุ่มสาวยุคที่อยากค้นหา แสวงหาความหมายและคุณค่าชีวิตว่าต้องลองออกไปเจอกับสังคมภายนอก เช่น ไปทำกิจกรรม ไปเยี่ยมคนป่วย ป้อนข้าวป้อนน้ำคนแก่ ช่วยงานวัด ช่วยงานองค์กรสาธารณประโยชน์ เยี่ยมเด็กกำพร้า คนพิการ ฯลฯ

“เราจะได้รู้ว่าชีวิตเราจะกอบโกยประโยชน์ส่วนตน หรือว่าเน้นความสะดวกสบายไปทำไม ในเมื่อคนอื่นที่ทุกข์ยากกว่าลองมองรอบๆ ตัวเรามีคนที่มีปัญหาอยู่มากมาย การที่เรามีผิวขาวกระจ่างใส หรือมีร่องอกใน 6 วินาที มีคางเรียวแบบเกาหลี มันเป็นคุณค่าจริงไหม ชีวิตที่อยู่กับความสะดวก ดูหนัง ฟังเพลง มันคือความเพลิดเพลิน แต่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริง คือ ความรู้สึกอิ่มเอิบที่ได้ทำความดี”

ปกติแล้วครูแดงใช้ชีวิตอยู่ที่ จ.เชียงราย แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมงานเปิดตัวหนังสือ “แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2528 ในเล่มครูแดงเล่าประสบการณ์ชีวิตบัณฑิตอาสาที่ทำงานในชุมชนชาวเขา นอกจากเป็นงานเขียนที่ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างชาวไทยพื้นราบกับชาวเขาแล้ว ยังสะท้อนถึงความเป็นผู้เสียสละ และอุทิศตนเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วยจิตใจแน่วแน่มั่นคงของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ได้อย่างชัดเจน

แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน และสายน้ำจะผันเปลี่ยนไปอย่างไร … จุดยืนของ เตือนใจ ดีเทศน์ ยังคงเดิม

โดย…วิทยา ปะระมะ / ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

Copyright © 2018. All rights reserved.