ฝันของน.ร.ชายแดน สิทธิ-สัญชาติไทย

เด็กน้อยเดินเรียงแถวมาลงชื่อ เพื่อให้ข้อมูลเรื่องปัญหาสิทธิสถานะบุคคล และฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาของพวกเขา เมื่อแล้วเสร็จต่างพากันไปรวมตัวในห้องประชุมนั่งฟังการบรรยายปัญหาเด็กไร้สัญชาติของนักเรียนชายแดน

เด็กโตที่ฟังรู้เรื่องต่างฟังอย่างตั้งใจ ขณะที่เด็กเล็กที่ไม่เข้าใจเนื้อหาการบรรยาย ก็พากันเล่นสนุกหยอกล้อเย้าแหย่กับเพื่อนไม่สนใจฟัง

เด็กๆ เหล่านี้ คือคนที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อ และมีจิตวิญญาณเหมือนกับคนทั่วไป

แต่ด้วยวิถีชีวิตที่พวกเขายังชีพอยู่ในป่าเขาตามแนวชายแดน ซึ่งข้ามไปมาระหว่างประเทศพม่าและไทย ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ทำให้ภายหลังการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ ที่ขีดเส้นกำหนดเขตแดนประเทศอย่างชัดเจน ส่งผลให้พวกเขากลายเป็น “คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ”

ทั้งที่ก็เป็นคนเหมือนกับเรา แต่แตกต่างเพียงแค่สังกัดในนาม “รัฐชาติ”เท่านั้น

ด้วยปัญหาของเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ยังมีจำนวนมากในประเทศ ไทย คณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของนักเรียนโรงเรียน ตชด. สภาการพยาบาล ลงพื้นที่โรงเรียน ตชด.บ้านถ้ำหิน และโรงเรียน ตชด.ตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่อยู่ติดกับประเทศพม่า เพื่อรับทราบข้อมูลและสภาพปัญหาของนักเรียน จะได้หาหนทางช่วยเหลือด้านสถานะทางทะเบียนตามข้อเท็จจริงให้ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยร่วมกับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และสำนักทะเบียน อ.สวนผึ้ง มาจัดทำทะเบียนประวัติให้เด็กนักเรียน

ขณะที่ฝ่ายนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจเลือดเด็กนักเรียนบางรายที่มีพ่อหรือแม่เป็นคนไทย แต่ไม่ได้แจ้งเกิด ในโครงการตรวจพิสูจน์พันธุกรรมให้กับบุคคลไร้สัญชาติ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

โรงเรียน ตชด.บ้านถ้ำหิน มีนักเรียนทั้งหมด 285 คน ในจำนวนนี้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ประมาณ 100 กว่าคน เป็นเด็กที่มีบัตรประจำตัวขึ้นต้นด้วย 7 ทั้งหมด 23 คน

ด.ต.หญิง สายพิณ ยิ้มแย้ม หรือครูสายพิณ ครูประจำชั้น ป.6 โรงเรียน ตชด.บ้านถ้ำหิน เล่าถึงปัญหาว่าปัญหาเกิดจากผู้ปกครองไม่ไปแจ้งเกิด เพราะส่วนหนึ่งพวกเขาไม่รู้หนังสือ และไม่รู้ว่ามี หรือต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง และมีปัญหาเด็กที่เกิดในศูนย์อพยพของสหประชาชาติ ซึ่งทุกครั้งที่มีหนังสือทางราชการมาให้เด็ก จะสั่งให้เขานำหนังสือไปอ่านให้ผู้ปกครองฟัง

“กระบวนการขอสัญชาติของเด็กที่มีสิทธิค่อนข้างล่าช้า ต้องใช้เวลา 3-4 ปี เด็กบางคนไม่มีหลักฐานอะไรเลย ต้องใช้เวลาในการสอบสวน จึงอยากให้กระทรวงมหาดไทยเร่งพิจารณามอบสัญชาติให้เด็กที่มีเอกสารหลักฐานครบ และสามารถยื่นเรื่องขอสัญชาติได้ เพื่อให้พวกเขามีสิทธิที่เขาควรจะได้” ครูสายพิณบอกเล่าปัญหา

ด้าน น้องปอ ด.ญ.ดวง ดาว โทจา อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ป.4 ที่มีบัตรหมายเลข 7 เล่าว่าพ่อแม่มาจากพม่า เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว ตอนนี้มีบัตรหมายเลข 6 โดยตามสิทธิสามารถขอสัญชาติไทยได้ และก่อนหน้านี้ครูเคยพาไปขอสัญชาติแล้ว แต่ยังติดขัดปัญหาหลายอย่างทำให้ยังไม่ได้รับสัญชาติ

“หนูอยากได้สัญชาติเร็วๆ อยากเป็นคนไทย เพราะกลับไปอยู่พม่าคงไม่ได้แล้ว ถ้าได้สัญชาติไทยชีวิตหนูคงจะดีขึ้น จะได้มีสิทธิด้านต่างๆ เดินทางไปไหนก็สะดวก เมื่อโตขึ้นสามารถหางานทำได้ง่าย หนูฝันว่าอยากเป็นแอร์โฮสเตส จะได้มีเงินมาเลี้ยงครอบครัว” น้องปอพูดถึงความฝัน

ขณะที่โรงเรียนตะโกปิดทอง มีนักเรียน 218 คน เป็นเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนถึง 169 คน นักเรียนส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง พม่า ปกาเกอะญอ โพล่ว และมอญ เป็นเด็กที่มีบัตรประจำตัวขึ้นต้นด้วย 7 ทั้งหมด 31 คน

พ.ต.ต.สมชีพ บัวชุม ครูใหญ่โรงเรียน ตชด.ตะโกปิดทอง เล่าว่าปัญหาเกิดจากส่วนมากเป็นคนกะเหรี่ยงที่ไม่ได้แจ้งเกิด เพราะไม่เห็นถึงความสำคัญ ทำให้มีปัญหาเรื่องสถานะทางทะเบียนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โรงเรียน ตชด.พยายามจัดทำสถานะทางทะเบียนให้กับเด็กทุกคน ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามช่วยเหลือแก้ปัญหาให้เด็กบางส่วน โดยทำคำร้องให้อำเภอมาออกหน่วยที่โรงเรียน

พ.ต.ต.สมชีพเล่าต่อว่า ส่วนนักเรียนอีก 169 คนนั้น ยังไม่รู้ว่าจะทำได้อย่างไร แต่จะพยายามให้ได้รับสถานะทางทะเบียนทั้งหมด เพราะการที่ไม่มีสัญชาติ หรือไม่มีสถานะอะไรเลยนั้น ทำให้ลำบาก และเมื่อเรียนจบก็ออกไปหางานทำไม่ได้ เป็นไปได้ให้พวกเขาได้สถานะทุกคน แต่ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายปกครองว่าจะดำเนินการอย่างไร

“ทำเรื่องขอสัญชาติ และสถานะทางทะเบียนให้กับเด็กในโรงเรียนไปแล้ว 100 กว่าเรื่อง แต่เรื่องก็ยังติดอยู่ที่อำเภอ จึงอยากให้อำเภอเร่งดำเนินการ และมาลงพื้นที่รับเรื่องของเด็กในโรงเรียนให้มากขึ้น” ครูใหญ่โรงเรียน ตชด.ตะโกปิดทอง เล่าปัญหาการขอสัญชาติ

น้องแก้ว ด.ญ.ณัฐสุดา คังฟุ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ป.4 ที่มีบัตรหมายเลข 7 เช่นเดียวกัน ร่วมเล่าว่าพ่อแม่หนีการสู้รบมาจากพม่า เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว โดยตัวหนูมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติไทยตามหลักเกณฑ์ของรัฐ แม่ก็เคยพาไปยื่นกับผู้ใหญ่บ้าน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับสัญชาติ และยังมีขั้นตอนในการดำเนินการที่ต้องใช้ระยะเวลาอยู่พอสมควร

ด.ญ.ณัฐสุดาเล่าต่อว่า อยากได้สัญชาติไทยเร็วๆ เพราะสัญชาติไทยมีความจำเป็นต่อคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาก มีรุ่นพี่ในโรงเรียนที่ยังไม่มีสัญชาติ เมื่อเดินทางออกนอกพื้นที่ก็ถูกตำรวจจับ จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเร่งดำเนินการ และลดขั้นตอนขอสัญชาติ เพื่อให้เด็กอีกจำนวนมากที่ยื่นเรื่องขอสัญชาติได้รับสัญชาติโดยเร็ว

“หนูหวังและฝันที่จะเป็นคนไทย ถ้าทำได้ตอนนี้หนูก็อยากได้ตอนนี้เลย เพราะเมื่อเป็นคนไทยแล้วจะเดินทางไปไหนก็จะได้สะดวก ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลก็ไม่ถูกตำรวจจับ ทั้งยังสามารถหางานดีๆ ทำ เอาเงินมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้” น้องแก้วเล่าความฝัน

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก อนุกรรมการแก้ไขปัญหาการไร้สถานะและสิทธิของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สรุปปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เด็กที่พบส่วนใหญ่อยู่ในสถานะที่ไม่มีสถานะและหลักฐานอะไรเลย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีอยู่หลายสาเหตุทั้งบางคนพ่อแม่เป็นไทย แต่ไม่ได้ไปแจ้งเกิดให้ลูก ขณะที่เด็กบางคนมีสถานะที่มีสัญชาติอยู่แล้ว แต่พวกเขาไม่รู้

นายสุรพงษ์ขยายความต่อว่า ทั้งที่ตามหลักกฎหมาย ใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ระบุอย่างชัดเจนว่าให้ทำทะเบียนคนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะอะไรก็ตาม เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลบริหารจัดการประเทศ ที่จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งการกำกับดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ โดยเร่งรัดคุ้มครองให้เด็กที่อยู่ในโรงเรียนก่อน แต่ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึง

“มีเด็กส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว และได้รับการขึ้นทะเบียนชนกลุ่มน้อย สามารถขอสัญชาติไทยได้ตามมาตรา 7 ทวิ ในพ.ร.บ.สัญชาติ ซึ่งน่าห่วง แม้ว่ามีมติครม.วันที่ 7 ธ.ค.2553 ที่รัฐต้องให้สัญชาติไทย และการให้สถานะคนต่างชาติเข้าเมือง โดยชอบด้วยกฎหมายแก่กลุ่มคนเหล่านี้แล้ว แต่ผ่านมากว่า 5 ปี และมีคนยื่นขอสัญชาติตามหลักเกณฑ์นี้นับหมื่นคนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังทำงานล่าช้า และกำหนดขั้นตอนกระบวนการไว้ค่อนข้างมาก ที่น่าตกใจคือยังไม่มีใครได้สัญชาติไทยตามมติ ครม.นี้เลย”

“ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งรัดดำเนินการพิจารณาให้รวดเร็วขึ้น และลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น คณะกรรมการในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และกรรมการกลั่นกรองในส่วนกลาง ซึ่งทำงานซ้ำซ้อนกัน ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับสัญชาติไทย ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.2553 แล้ว” นายสุรพงษ์สรุปและชี้ถึงทางแก้ไขปัญหา

เด็กน้อยเดินเรียงแถวกลับเข้าห้องเรียน หลังบอกเล่าปัญหาแล้วเสร็จ โดยพวกเขาต่างฝันว่าสักวันหนึ่งจะได้เป็นคนมีสัญชาติเหมือนกับคนทั่วไป ความฝันของพวกเขาจะเป็นจริงหรือไม่ ก็อยู่ที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย จะเร่งแก้ปัญหาที่คาราคาซังอยู่จริงจังแค่ไหนหากยังเป็นเหมือนที่ผ่านมา คงยากที่ความฝันของเด็กชายแดนจะเป็นจริง

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1439460455

Fri, 08/14/2015

Copyright © 2018. All rights reserved.