เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ชีวิตที่ไร้หลักประกัน

เด็กชายศรี และพี่น้องรวม 4 คน เป็นกลุ่มลูกแรงงานเคลื่อนย้ายข้ามชาติที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐาน จากรัฐฉาน พม่า ติดตามครอบครัวเข้ามาในประเทศไทย และเข้ารับการศึกษาที่ #ศูนย์การรียนไร่ส้มวิทยา พร้อมน้อง ๆ อีกสองคน พ่อแม่เคลื่อนย้ายข้ามแดนมาขายแรงงานในภาคการเกษตรในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ศรีและพี่น้องไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคใด ๆ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคมักเสี่ยงเป็นโรค และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด

วันนี้ศรีป่วยด้วยโรคหัด ซึ่งจัดเป็นโรคติดต่อที่มีโอกาสติดเชื้อได้สูง และต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการผื่นขึ้นและเป็นไข้ร่วมด้วย ทว่าแนวทางการรักษาพยาบาลที่มีตั้งหลักเกณฑ์ ตั้งเงื่อนไขสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ยังไร้รัฐไร้สัญชาติ มันเป็นเงื่อนไขที่ผู้ป่วยและผู้ปกครองต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอม ผู้ป่วยที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ ต้องวางเงินมัดจำสำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล จำนวน 5,000 บาท ซึ่งหากผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวเพียง 3 คืนจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่สามพันบาท ไม่รวมค่ายา และทางโรงพยาบาลจะคืนเงินส่วนที่เหลือ แต่หากนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป ผู้ปกครองก็ต้องชำระค่ารักษาพยาบาลตามจำนวนวันที่เข้ารับรักษาพยาบาล และนั้นยังไม่รวมค่ายา

เด็กชายศรี ผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพเมื่อเข้ารับการรักษายังประสบปัญหาการปฏิบัติที่แตกต่าง คือถูกเรียกค่ารักษาที่แพงกว่าและนี่คือปัญหาการเข้าถึงสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือไร้สถานะในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง ทั้งที่จริงแล้วปัญหาเหล่านี้ถือเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้ไข รัฐไทยจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาจัดการช่วยเหลือให้คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน

สำหรับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่มีทั้งผู้มีเลขและไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน สิทธิที่จะได้รับก็จะแตกต่างกัน การแบ่งกลุ่มคนไร้รัฐในที่นี้มี 3 ประเภท คือ

กลุ่มที่มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 0 และในหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 89 (0-xxxx-89xxx-xx-x) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการสำรวจในปี 2549 และ 2552 อยู่ระหว่างรอเปลี่ยนสถานะ ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาล

กลุ่มที่มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 0 และในหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 00 (0-xxxx-00xxx-xx-x) กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นบุตรหลานของคนกลุ่มแรก ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล และต้องเสียค่าใช้จ่ายเองเมื่อเข้ารับการรักษา

กลุ่มที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน เป็นกลุ่มคนที่ตกหล่นยังไม่ได้รับการสำรวจ หรือไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ คนกลุ่มนี้จะไม่มีสิทธิใด ๆ และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับกลุ่มที่ 2

ปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลในพื้นที่ก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย เพราะการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขที่แจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะให้งบตามจำนวนประชากรที่มีสัญชาติไทยในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ตามแนวชายแดนหรือพื้นที่สูงที่มีคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ อาศัยอยู่จำนวนมาก มักได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จริง ภาระค่าใช้จ่ายที่มากกว่างบประมาณสนับสนุนที่ได้รับ อาจส่งผลให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง การบริหารงานในโรงพยาบาลอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะดูแลคนไข้ได้ทุกคน เพราะขาดงบประมาณ ขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ หรือกระทั่งขาดบุคลากร ซึ่งพื้นที่ตามแนวชายแดนถือเป็นพื้นที่ที่ต้องมีการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด การป้องกันและควบคุมโรคตามแนวชายแดนถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเข้ามาในประเทศไทย เพราะกลุ่มคนที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอยู่ในประเทศไทย อาจทำให้โรคติดต่อหลายประเภทที่หายไปจากประเทศไทยแล้วกลับเข้ามาแพร่ระบาดได้อีก เพียงเพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิและเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลที่พวกเขาพึงได้รับ โดยเฉพาะ “เด็ก”

ถึงเวลาหรือยัง ที่จะร่วมกันป้องกันและมีส่วนร่วมในการป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออย่างจริงจัง

ถึงเวลาหรือยังที่จะให้โอกาสเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลแบบไม่มีเงื่อนไข

ทีมาแหล่งข่าว : https://web.facebook.com/Raisomwitdhaya/posts/2411161262252816?__tn__=K-R

Copyright © 2018. All rights reserved.