แผนการดำเนินการจัดประชุมรับฟังปัญหา อุปสรรค ให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผุ้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับปัญหาด้านสถานะและสิทธิของบุคคล กลุ่มงานทะเบียนบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน จังหวัดเชียงราย

เช้าวันนี้  11 มีนาคม 2557 เวลา 09.00 น. ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จะมีการประชุมติดตามการปฏิบัติงานโดย คณะทำงานศึกษาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของบุคคล (คณะที่ 2 ) อันเนื่องมาจากผลของมติที่ประชุม
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ให้คณะทำงานและผู้รับผิดชอบของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง สำนักทะเบียนจังหวัด สำนักทะเบียนอำเภอ/สำนักทะเบียนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ที่ประกอบไปด้วยองค์กรพัฒนาภาคเอกชนที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลในจังหวัดเชียงราย รวมถึงภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของกรณีศึกษาจากกลุ่มม้งที่มาจากถ้ำกระบอก กลุ่มที่พบข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน และกลุ่มที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่จริงในหมู่บ้าน ในชุมชน แต่ยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน หรือมีแต่เคยถูกจำหน่าย โดยมิได้แจ้งให้ทราบก่อนการจำหน่าย จะร่วมกันหารือในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. ปัญหาและแนวทางการแก้ไข กรณีการดำเนินการต่อกลุ่มอดีตม้งถ้ำกระบอก ในพื้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และพื้นที่อื่นๆ
1.1. กลุ่มอดีตม้งถ้ำกระบอก รวมถึงรุ่นบุตร หลาน ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 6-1996-68XXX-XX-X หรือที่มีพยานหลักฐานอื่นๆ ที่สืบค้นได้ว่า เป็นเครือญาติกัน ขณะนี้เตรียมการยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 สำนักทะเบียนอำเภอต้องการตรวจสอบรายการบุคคลจากแบบพิมพ์ประวัติฉบับจริง ซึ่งค้นหาแล้ว แต่ไม่พบ อ้างเหตุขัดข้องโดยมีข้อมูล ว่า ตัวแทนจากสำนักทะเบียนกลางเก็บกลับไป และการที่ผู้ยื่นคำร้องไม่มีบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย เป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการได้ สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนต้องการทราบแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อจะได้ดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยมีประเด็นเพิ่มเติมที่จะขอทราบ ดังนี้
1.1.1. หากไม่สามารถหาต้นฉบับทะเบียนประวัติได้ มีแนวทางแก้ไขอย่างไร สำเนาทะเบียนประวัติที่มีสำเนาอยู่ จะสามารถใช้ตรวจสอบบุคคลได้ หรือไม่ อย่างไร
1.1.2. บุคคลที่จะยื่นคำร้องไม่มีบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย จะดำเนินการอย่างไร
1.1.3. กลุ่มนี้จะสามารถยื่นคำร้องตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551ได้หรือไม่
1.2. กลุ่มอดีตม้งถ้ำกระบอก รวมถึงรุ่นบุตร หลาน ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 0-5708-89XXX-XX-X หรือที่มีพยานหลักฐานอื่นๆ ที่สืบค้นได้ว่า เป็นเครือญาติกัน ก็เช่นกันกำลังเตรียมการยื่นคำร้องตามมาตรา 23 แต่สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน ต้องการแนวทางปฏิบัติจากสำนักทะเบียนกลางเช่นกัน
2. ปัญหาและแนวทางการแก้ไข กรณีบุคคลที่ถูกจำหน่ายรายการทางทะเบียนโดยที่เจ้าตัวไม่ได้รับทราบเรื่องก่อน และกรณีการแจ้งการเกิดของเด็กที่เป็นบุตร หลานของกลุ่มต่างๆ ที่ไม่รับแจ้งการเกิด
3. ปัญหาและแนวทางการแก้ไข กรณีบุคคลที่ได้รับการอนุมัติลงรายการสัญชาติไทยแล้ว แต่ขั้นตอนการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน(เลข 13 หลัก) นานเกินไป
4. ปัญหาและแนวทางการแก้ไขกรณีการสำรวจผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ตามยุทธศาสตร์ การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ทั้งกลุ่มเด็กในสถานศึกษาหรือบุคคลในชุมชนที่เคยยื่นแบบ 89 มาถึงสำนักทะเบียนอำเภอภายในกำหนดแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการให้ครบจนกระทั่งถึงการจัดทำบัตรประจำตัวฯ และบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชนจริง แต่ตกหล่น หรือไม่ได้รับการสำรวจ จะนำมาตรา 38 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 มาใช้ในการขอเพิ่มชื่อ รายการบุคคลตามที่มีกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ และหนังสือสั่งการมาใช้ได้อย่างไร หรือไม่ ถ้าไม่ได้มีเหตุผลใดบ้าง
เรื่องนี้ คุณแสง แสงยาอรุณ อนุกรรมการ/คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการของคณะทำงานฯ(คณะที่ 2) ที่ มท.1 มีคำสั่งแต่งตั้ง ได้ยื่นคำร้องเรียนต่างๆ โดยตรงกับมือของนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2555 ส่วนนายกรัฐมนตรีจะสั่งการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร หรือไม่ พวกเราไม่ทราบความคืบหน้า แต่ข้อขัดข้องของพี่น้องยังอยู่และเกิดผลกระทบตามมาหลายประการ วันนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้พบกับกรณีศึกษาและรับฟังข้อมูลต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ส่วนบรรยากาศวันนี้จะเป็นอย่างไร คงได้นำข่าวมาแลกเปลี่ยนให้ท่านได้ทราบต่อไป
รัชนีวรรณ  สุขรัตน์ : รายงาน
เครดิต : คุณมานะ งามเนตร์
Tue, 03/11/2014
Copyright © 2018. All rights reserved.