รวบ 220 ชาวอุยกูร์โยงนายหน้า’โรฮิงญา’

ปฏิบัติการคุมตัวต่างด้าวจำนวน 220 คน  ซึ่งเป็นชาย 78 คน หญิง 60 คน และเด็ก 82 คน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา ภายในบริเวณสวนยางพารา หมู่ 10 บ้านคลองต่อ ต.รัตภูมิ อ.รัตภูมิ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา พร้อมชาวโรฮิงญาอีกกว่า 10 คน กลายเป็นปมร้อนที่หลายฝ่ายให้ความสนใจขึ้นมาพลัน

               ที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่สามารถระบุสัญชาติให้ประจักษ์ เนื่องจากไร้เอกสารใดๆ ติดตัวยืนยันสัญชาติ

เรื่องนี้ “สุนัย ผาสุข” ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบทราบว่า คนต่างด้าวกลุ่มนี้ไม่ใช่ชาวตุรกีที่จะลี้ภัยไปประเทศที่สาม แต่เป็นชาว “อุยกูร์” หรือกลุ่มชนพื้นเมืองของ มณฑลซินเจียง จากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ประสงค์จะลี้ภัย เพื่อเดินทางไปยังประเทศที่สาม สาเหตุเนื่องจากชาวอุยกูร์ มีปัญหากับทางการจีนมาเป็นเวลานาน

จากอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์กลายเป็นปัญหาที่น่าสนใจ สุนัย ชี้ว่า ทางการจีนมองว่าชาวอุยกูร์ เป็นกลุ่มคนมุสลิมที่มีชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมเป็นพวกเติร์ก แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากชาวจีน ซึ่งที่ผ่านมาชาวอุยกูร์พยามหลอมรวมตนเองเข้ากับดินแดนเอเชียกลาง และรัฐต่างๆ ของชาวเติร์กมาโดยตลอด

การลี้ภัยครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเข้าควบคุมตัวเชื่อว่า กลุ่มคนต่างด้าวที่ยังไม่สามารถระบุสัญชาติได้นั้น น่าจะเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการลักลอบนำเข้าและส่งต่อชาว “โรฮิงญา” ที่หลบหนีจากประเทศพม่าผ่านภาคใต้ เพื่อเดินทางต่อไปประเทศที่สาม  มาเลเซีย และออสเตรเลีย เพราะจากการสอบถาม “โรฮิงญา” ที่มารวมกับกลุ่มคนต่างด้าวที่อ้างว่า เดินทางมาจากประเทศตุรกี

“ชาวโรฮิงญาบอกว่าได้รับคำสั่งให้เดินทางมาสมทบกับกลุ่มคนต่างด้าวกลุ่มนี้ เพื่อรอคนมารับตัวไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาจับกุมตัวก่อนหน้าที่จะถูกจับกุม 2 วัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า กลุ่มคนที่เป็นนายหน้านำพาคนต่างด้าวกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มเดียวกันกับขบวนการนำพาโรฮิงญา”

ขณะเดียวกัน น่าสังเกตได้ว่าสถานที่กลุ่มคนต่างด้าวรวมตัวเพื่อรอคนมารับเป็นพื้นที่ใกล้เคียงที่เคยจับกุม “โรฮิงญา” หลบหนีเข้าเมืองกว่า 100 คน เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ภายในสวนยาง ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ และ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่

สอดรับกับการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ที่ได้เดินทางลงมาในพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือ บอกว่า การเดินทางเข้ามาในครั้งนี้จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพราะในกลุ่มจะมีเด็กและสตรีจำนวนมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ โดยกลุ่มคนที่เป็นนายหน้าหรือผู้ประสานงาน ต้องมีเครือข่ายอยู่ในพื้นที่ เพื่อดำเนินการพาตัวส่งต่อไปยังประเทศที่สาม

“แม้ว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่มีข้อมูลที่จะสาวไปถึงนายหน้าหรือผู้ประสานงาน แต่การที่คนต่างด้าวกลุ่มนี้ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการให้ข้อมูลใดๆ เป็นการบ่งบอกว่าได้รับคำสั่งจากนายหน้าหากถูกจับกุมห้ามให้ข้อมูลโดยเด็ดขาด รวมถึงความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นภาวะปกติของคนที่หนีออกจากประเทศของตัวเองในรูปแบบการลี้ภัยอยู่แล้ว”

น่าสนใจว่า “เป้าหมาย” ของกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ประสงค์จะอยู่ในประเทศไทยแต่ต้องการจะลี้ภัยไปในประเทศที่สาม คือ มาเลเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งปรากฏการณ์ที่มีกลุ่มคนต่างด้าวใช้เส้นทาง จ.สงขลา เป็นจุดพัก เพื่อผ่องถ่ายไปยังประเทศที่สาม จึงสะท้อนให้เห็นว่าการปราบปรามกลุ่มนายหน้าที่หาประโยชน์จากการส่งต่อคนต่างด้าวใน จ.สงขลา ไม่สิ้นซากไปจากพื้นที่ แต่กลับเติบใหญ่ขยายกลุ่มยิ่งขึ้น

จากข้อมูลที่กล่าวมาเบื้องต้นสอดคล้องกับข้อมูลของแหล่งข่าวในชุดสืบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่า ชาวอุยกูร์ที่ถูกจับได้มาจากเขตปกครองซินเจียงอุยกูร์ โดยส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่เนื่องจากมีปัญหากระทบกระทั่งกับทางการจีนจึงต้องการอพยพออกจากพื้นที่เพื่อเดินทางไปใช้ชีวิตในประเทศตุรกี

ปัจจุบันมีขบวนการนำพาชาวอุยกูร์ออกจากพื้นที่โดยเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชาวบังกลาเทศ ชาวไทย และชาวปากีสถาน ซึ่งอาศัยอยู่ในมาเลเซีย โดยคิดราคาค่าบริการในการนำพาจำนวน 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ล้านบาทเศษต่อราย

“ชาวบังกลาเทศจะเป็นนายหน้าในการติดต่อนำพาชาวอุยกูร์ออกจากซินเจียงพื่อไปใช้ชีวิตที่ตุรกี โดยคิดค่าบริการต่อหัวประมาณ 1 ล้านบาท โดยวิธีการนำพาจะเริ่มจากการนั่งเครื่องบินจากซินเจียงลงที่คุนหมิง จากนั้นเดินทางต่อด้วยรถไฟมายังสิบสองปันนา ก่อนจะนั่งรถโดยสารเข้าไทยใน 3 เส้นทาง โดยเส้นทางแรกจากสิบสองปันนาเข้าประเทศพม่ามายังชายแดน อ.เชียงของ อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เส้นทางที่ 2 จะเดินทางจากสิบสองปันนา เข้ามาที่หลวงพระบาง หรือเวียงจันทน์ ประเทศลาว เข้าไทยทาง จ.มุกดาหาร หรือหนองคาย เส้นทางที่ 3 จากสิบสองปันนา เดินทางมาเวียดนามเข้ากัมพูชา ผ่านมายังตะเข็บชายแดนด้าน อ.คลองลึก จ.ตราด”

ชาวอุยกูร์ จะถูกขบวนการนำพาเข้าไทยทางช่องทางธรรมชาติ โดยจะมีเครือข่ายจากไทยเข้าไปรับช่วงต่อตามจุดนัดหมาย ก่อนจะเดินทางเข้ามาพักในพื้นที่ใกล้กับ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านรังสิต จ.ปทุมธานี จากนั้นจะนั่งรถต่อไปยัง จ.ชุมพร และมีเครือข่ายมารับช่วงต่อไปพักใน อ.หาดใหญ่ อ.รัฐภูมิ จ.สงขลา หรือ อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อรอลักลอบเข้าประเทศมาเลเซีย โดยเครือข่ายแก๊งนำพาชาวอุยกูร์ในไทยส่วนใหญ่เป็น นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายตามรายทางในเส้นทางการเดินทางผ่านประเทศไทย

“การเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียจะมีเครือข่าย ซึ่งเป็นชาวปากีสถานมารับช่วงต่อ โดยเครือข่ายจะออกหนังสือเดินทางประเทศตุรกีให้แก่ลูกค้า หลังจากนั้นจะพาออกจากมาเลเซียทางสายการบินไปลงยังอินโดนีเซียแล้วเดินทางต่อไปยังกรุงอิสตัลบูล ประเทศตุรกี”

ขณะเดียวกัน ในมุมมองของนักวิชาการอย่าง ดร.ศราวุฒิ อารีย์ นักวิชาการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ชาวอุยกูร์ไม่น่าจะมาจากตุรกี แต่สาเหตุที่ผู้อพยพไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ เป็นเพราะไม่ต้องการบอกความจริง เพราะกลัวจะถูกส่งกลับมณฑลซินเจียง เนื่องจากระยะหลังทางการจีนมีปัญหากับชาวอุยกูร์มาก หลังจากมีเหตุการณ์โจมตีคนจีนหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ “จัตุรัสเทียนอันเหมิน หรือกรณีชายชุดดำใช้มีดไล่ฟันคนเสียชีวิต 29 ศพที่สถานีรถไฟคุนหมิง”

ประกอบกับระยะหลังประเทศจีนนำการพัฒนาแบบทุนนิยมเข้ามา และส่งคนเข้ามาอยู่ในซินเจียงเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวอุยกูร์รู้สึกว่า ขัดกับหลักศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี ประกอบกับความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนา ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น

“ชาวอุยกูร์มีความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ เขารู้สึกว่าตนเองเป็นชาว “ออตโตมันเติร์ก” ที่มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศตุรกี แต่สิ่งที่น่าสงสัย คือ คนเหล่านี้เข้ามาทางไหน เพราะระยะทางไกลจากไทยมาก ไม่เหมือนชาวโรฮิงญาที่มีชายแดนติดกัน และสามารถนั่งเรือข้ามมาได้ ที่ผ่านมาไม่เคยพบว่า มีชาวอุยกูร์อพยพเข้ามาในไทยมาก่อน ส่วนจุดหมายปลายทางน่าจะเป็นมาเลเซียมากกว่า เพราะมาเลเซียเป็นโมเดลของประเทศมุสลิมที่เจริญแล้ว” ดร.ศราวุฒิ กล่าว

แม้จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงสืบสวนเพื่อหาที่มาของขบวนการนำชาวอุยกรู์หลบเข้ามาในประเทศไทย แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้คือ ขบวนการนายหน้าที่เข้าไปหาประโยชน์กับการลักลอบนำเข้า-ส่งต่อคนต่างด้าวเหล่านี้ ล้วนมีทั้งนักการเมืองท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเข้าไปเกี่ยวพันอยู่เสมอ เพราะการจับกุมหลายครั้ง กลับไม่สามารถสาวถึงผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังได้แม้แต่ครั้งเดียว….?

…………………………….

(หมายเหตุ : ปฏิบัติการรวบ220ชาวอุยกูร์ ผ่าเส้นทางลี้ภัย-โยงเครือข่ายนายหน้า’โรฮิงญา’ : ทีมข่าวภูมิภาค-ความมั่นคง-อาชญกรรมรายงาน)

Sat, 03/15/2014
Copyright © 2018. All rights reserved.