ยกเครื่องระบบร้องทุกข์แรงงานข้ามชาติ สกัดค้ามนุษย์

กระทรวงแรงงาน เร่งสร้างความน่าเชื่อถือ พัฒนากลไกร้องทุกข์ของแรงงานข้ามชาติ หลังยอดร้องทุกข์น้อย หวั่นกระทบภาพลักษณ์เรื่องค้ามนุษย์ เตรียมฝึกอบรมล่ามให้เข้าใจด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลดอคติ เชื่อกล้าร้องเรียนเพิ่มขึ้น
โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมระดับผู้บริหารเพื่อพัฒนากลไกการร้องทุกข์และส่งเสริมการเข้าถึง กลไกการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ว่า เป็นการประชุมร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอเอลโอ) โดยที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานมีการดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากแรงงาน ผ่านสายด่วนทั้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กรมการจัดหางาน (กกจ.) ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นการแยกกันดำเนินการทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่คิดว่าหากมีการการบูรณาการร่วมกันก็น่าจะส่งผลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนกลไกการรับเรื่องร้องเรียนนั้นยังมีปัญหา คือล่ามแปลภาษายังไม่มีความรู้ในด้านกฎหมายเท่าที่ควร จึงได้หารือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เพื่อค้นหาและฝึกอบรม ให้ความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิการคุ้มครองแรงงาน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติมีการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนน้อย โดยตนมองว่าเพราะยังขาดความไว้วางใจในระบบการร้องเรียน อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์เรื่องการค้ามนุษย์ โดยหลังจากนี้พื้นฐานที่สำคัญคือเร่งสร้างความไว้วางใจก่อน ซึ่งการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายจะทำให้แรงงานเหล่านี้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาและกล้าเข้ามาร้องเรียนเพิ่มขึ้น
ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ทุกวันนี้กลไกการร้องทุกข์ของแรงงานข้ามชาติยังเข้าถึงยาก ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ ทั้งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีระบบการร้องทุกข์ ซึ่งกระทรวงแรงงานเองจำเป็นต้องเร่งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ รวมถึงทำเอกสารที่เป็นภาษาต่างๆ ให้แรงงานสามารถเข้าใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ถึงแม้แรงงานข้ามชาติจะรู้ว่ามีกลไกรับเรื่องร้องทุกข์แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากล่ามยังมีจำนวนน้อย นอกจากนี้ ในเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในการรับเรื่องร้องทุกข์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากบางคนยังมีอคติทำให้แรงงานข้ามชาติไม่กล้าเข้ามาร้องเรียน ทั้งนี้ ควรมีการอธิบายขั้นตอนการดำเนินการตามเรื่องราวร้องทุกข์ เช่น การใช้ระยะเวลาในการสอบสวน ให้แรงงานข้ามชาติเข้าใจ เพราะปัจจุบันแรงงานข้ามชาติยังไม่เข้าใจว่าเหตุใดกระบวนการจึงต้องใช้ระยะเวลานาน รวมถึงต้องมีการทบทวนและจัดลำดับความสำคัญตั้งแต่เก็บข้อมูล การเข้าถึง การบังคับใช้ตามกฎหมายและความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เรื่องสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงานข้ามชาติยังถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นช่องทางทำให้เข้าถึงสิทธิในกลไกการร้องทุกข์ได้มากขึ้น แต่ปัจจุบันกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ยังติดเรื่องของสัญชาติ
ที่มา  : https://www.google.co.th/
Copyright © 2018. All rights reserved.