สธ.จ่อรื้องบประมาณเพิ่มในพื้นที่กันดาร ช่วยเหลือคนชนบทเข้าถึงบริการของรัฐ

นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายแพทย์เทียม อังสาชน ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ และสถานบริการสาธารณสุขชุมชนในพื้นที่สูง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานการจัดบริการพัฒนาสาธารณสุขบนพื้นที่สูง ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการดูแลสุขภาพประชาชนไทยทุกคน โดยจัดทำทีมหมอครอบครัว ประกอบด้วยสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดูแลเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพใกล้ชิดทุกครัวเรือน ประชาชนได้รับความมั่นใจ
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่พิเศษ ทุรกันดาร เช่น พื้นที่ภูเขา ซึ่งจะมีลักษณะปัญหาสุขภาพที่แตกต่างจากพื้นที่ปกติ การเดินทางยากลำบาก ได้เตรียมเสนอโครงสร้างระบบงบประมาณใหม่ ในปี 2559 สำหรับพื้นที่พิเศษเหล่านี้เป็นการเฉพาะ ได้แก่ งบลงทุน ในการจัดซื้อครุภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้ในการเดินทาง งบดำเนินการ สำหรับเจ้าหน้าที่ใช้ในการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับภาระงานที่ยากลำบากกว่าพื้นที่ปกติ และการอบรมประชาชนในพื้นที่ให้เป็นพนักงานสาธารณสุขชุมชน รวมทั้งงบประมาณในการจ้างพนักงานสาธารณสุขชุมชน ประจำสถานบริการสารณสุขชุมชน หรือ สสช.เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ อย่างเสมอภาค เท่าเทียม และทั่วถึง โดยจะหารือทำความเข้าใจกับสำนักงบประมาณต่อไป
นอกจากนี้ ในพื้นที่สูงและพื้นที่พิเศษ จะเร่งพัฒนาใน 3 ระบบ ได้แก่ ระบบการสื่อสารซึ่งขณะนี้ใช้ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม มอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพปรับระบบการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบการขนส่ง โดยให้ประสานภาคีเครือข่ายและท้องถิ่น ในจัดระบบการส่งต่อพิเศษ โดยเฉพาะในผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วยฉุกเฉินที่จำเป็น เช่น และการพัฒนาพนักงานสาธารณสุขชุมชนให้มีความรู้ในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนในพื้นที่
ด้านนายแพทย์ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่สูง มีชายแดนติดกับประเทศพม่า 7 อำเภอ ประชากร 247,469 คน ร้อยละ 60 เป็นชาวไทยภูเขาอาศัยกระจัดกระจายบนพื้นที่สูงตามแนวชายแดน รวมทั้งแรงงานต่างชาติและคนไร้สัญชาติที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การเดินทางค่อนข้างยากลำบาก พื้นที่มากกว่าร้อยละ 40 จะถูกตัดขาดในช่วงฤดูฝน ไม่สามารถใช้รถยนต์เดินทางได้ จึงได้ปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมที่ตั้งรับในโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 71 แห่ง โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพทุกภาคส่วน ตั้งสถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา รวม 70 แห่ง มีพนักงานสุขภาพชุมชนที่เป็นชาวบ้านในชุมชนและผ่านการอบรมหลักสูตรพนักงานสุขภาพชุมชน 6 เดือนเพื่อให้การดูแลขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยใช้งบสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย
ที่มา : http://m.naewna.com
Copyright © 2018. All rights reserved.