จดหมายเปิดผนึก 10 ปี สึนามิ

ในกิจกรรมรำลึก 10 ปี สึนามิ ที่บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม 2557 เครือข่ายภาคประชาชนได้ออกจดหมายเปิดผนึก ทิศทางการแก้ปัญหาประชาชน หลัง 10 ปี สึนามิ ต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในสังคมไทย ภายหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัด ชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน มีหมู่บ้านที่ประสบภัยธรณีพิบัติ 407 หมู่บ้าน จำนวนผู้เดือดร้อน 12,480 ครอบครัว บ้านพักอาศัยเสียหาย 6,8254หลัง มีชุมชนผู้ประสบภัยร้ายแรง 47 หมู่บ้าน ประมาณ 5,448 ครอบครัว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 8.000 คน
จากปัญหาวิกฤติความเดือนร้อน “ สึนามิ ” ได้เปิดให้สังคมเห็นถึงปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลมายาวนานมีทั้งปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ปัญหาคนชายขอบที่ถูกละเลยจากการพัฒนา ทั้งกลุ่มชาติพันธ์ชาวเล และกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น : คนไร้สัญชาติที่ไม่รับการช่วยเหลือเพราะไม่มีบัตรประชาชนรวมทั้งเกิดกระบวนการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสทำให้ผู้ประสบภัยที่ต่างคนต่างอยู่ได้มารวมกลุ่มกัน และเสนอทิศทางในการจัดการภัยภิบัติ 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1. ปัญหาที่ดินที่สะสมมานาน ภายหลังที่มีกระแสข่าวออกสู่สังคมมีชุมชนผู้ประสบภัยจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าไปสร้างบ้านในที่ดินเดิมได้เพราะมีเอกชนอ้างสิทธิเหนือที่ดิน มีการข่มขู่ / กั้นรั้วติดป้ายห้ามเข้าพื้นที่ กระแสสังคมระบุว่า “ ผู้ประสบภัยไม่ควรถูกไล่ที่ซ้ำเติมอีก” ทำให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ ขึ้น โดยมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานคณะกรรมการ ฯ ในระยะ 2 ปีหลังสึนามิ คณะกรรมการ ฯ มีมติแก้ปัญหาที่ดิน ได้ 13 ชุมชน จากที่มีการร้องเรียนเรื่องปัญหาที่ดินเพิ่ม มากถึง 122 ชุมชน ซึ่งที่ดินโดยส่วนใหญ่ชาวบ้านอาศัยมาก่อนการประกาศเขตของรัฐ เช่น ที่ป่าสงวน ที่ป่าชายเลนเสื่อมสภาพ ที่ราชพัสดุ ฯลฯ จำนวนมากถึง 103 หมู่บ้าน และที่ดินเอกชนอ้างสิทธิเหนือชุมชน 19 หมู่บ้าน และปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินเป็นเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ได้ผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินอย่างต่อเนื่อง แต่การแก้ปัญหาที่ดินยังไม่บรรลุผล เพราะความไม่จริงจังในการแก้ปัญหาของรัฐ และในหลายพื้นที่กลับมีความรุนแรงขึ้น เพราะชาวบ้านฟ้องขับไล่ ถูกตัดฟันพืชผล ไม่สามารถนำที่ดินไปกู้เพื่อลงทุนได้ ต้องใช้น้ำและไฟแพงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า ฯลฯ
2. ปัญหากลุ่มชาติพันธ์ชาวเล ( มอแกน มอแกลน อูรัคราโวย )หลังสึนามิ ทำให้สังคมไทยรู้จักชาวเลอย่างกว้างขวางและพบว่า ชาวเลเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในอันดามันมาเป็นเวลานานกว่า 300 ปี มีปัญหาทั้งไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย / ที่ทำกินในทะเลและคุณภาพชีวิตตกต่ำ มีชุมชนชาวเลรวม 41 แห่ง ประชากรประมาณ 12,000คน แต่ไม่มั่นคงในที่ดิน ถึง 28 แห่ง ในการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหา ได้ผลักดันให้มีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล แต่การแก้ปัญหายังไม่คืบหน้า และ มีหลายชุมชนทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ถูกฟ้องขับไล่ ถึง 101 ราย ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะถูกอุทยานประกาศทับที่และเอกชนอ้างสิทธิเหนือที่ดิน ทำให้ชาวเลกว่า 150 ครัวเรือนจะไร้ที่อยู่อาศัย ชาวเลเกาะพีพีกว่า 30 ครัวเรือน กำลังจะไร้ที่อยู่อาศัยเพราะที่ดินราคาแพง พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางจิตวิญาณ /ที่พิธีกรรมและสุสานทั่วอันดามัน ถูกรุกรานเบียดขับ ถึง 15 แห่ง มีชาวเลถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะการหากินในทะเลมากกว่า 50 ราย และการถูกจับกุมทำให้ชาวเลถูกยึดเรือ สูญเสียรายได้กระทบถึงครอบครัวและบางรายต้องยอมความโดยไม่ได้ต่อสู้คดี เพราะไม่มีเงินเดินทางไปขึ้นศาล
3 กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ด้วยเป็นคนไร้สัญชาติ ทำให้คนไทยพลัดถิ่นที่ประสบภัยสึนามิ ณ จังหวัดระนอง ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ส่งผลให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเกิดการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย (ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ) เพื่อแก้ปัญหาในระดับนโยบาย โดยมีการเจรจากับ รมต.มหาดไทยในงาน ๑ ปีสึนามิ ให้ทำการสำรวจคนไทยพลัดถิ่น ( จำนวน 50,000 คน ) และมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจนทำให้คนไทยพลัดถิ่น ได้กฎหมายสัญชาติฉบับที่ 5 ว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น เมื่อ ปี 2555 แต่การคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นไปอย่างล่าช้า ผ่านไป 2 ปี คืนสัญชาติไทยได้เพียง 2,000 คนเท่านั้น
4. การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิได้สรุปบทเรียนร่วมกัน และได้ข้อสรุปว่าภัยพิบัติมีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้น และ ชุมชน/ท้องถิ่น เป็นด่านแรกของการเผชิญเหตุ เมื่อเกิดภัยพิบัติมีทั้งผู้ที่ช่วยตัวเองได้ และผู้ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ การรอการช่วยเหลือจากข้างนอกจะไม่ทันท่วงที รวมทั้งแผนการจัดการภัยพิบัติระดับชาติจะไม่เกิดผล หากประชาชนไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรเมื่อภัยมา และเกิดแผนเตรียมพร้อมมีภัยพิบัติของบ้านน้ำเค็มขึ้น โดยมีทีมอาสาสมัคร เครื่องมือในการกู้ชีพ กู้ภัย การอบรมการฝึกซ้อมหนีภัยเป็นระยะจนเป็นพื้นที่ ศึกษาแลกเปลี่ยนดูงานของชุมชน / องค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ กว่า 30 ประเทศทั่วโลก
ดังนั้นเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิจึงเสนอแนวทางการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและท้องถิ่นเป็น แกนหลัก เสนอให้มีนโยบายที่สนับสนุนให้มีงบประมาณ กลไก และกระบวนการ ให้ชุมชนและท้องถิ่นเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในทุกพื้นที่
จากสึนามิทำให้สังคมได้เรียนรู้ว่าในพื้นที่อันดามัน มีทั้งปัญหาที่ดิน คนชายขอบและชนเผ่าพื้นเมือง ที่ถูกเบียดขับ คุกคาม ถูกละเมิดสิทธิอันเนื่องมาจากนโยบายที่ไม่สมดุลย์ เพราะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมากแต่ได้ละเลยที่จะปกป้องคุ้มครองคนท้องถิ่นดั่งเดิม คนชายขอบ และชนเผ่าพื้นเมือง ที่เป็นเจ้าของพื้นที่อันดามันอย่างแท้จริง
Copyright © 2018. All rights reserved.