ชีวิตที่ถูกล็อคของเด็กไร้สัญชาติ

เด็กไทยไร้สัญชาติที่สามารถขอสัญชาติไทยได้ตามกฎหมาย ยังคงประสบปัญหาในการยื่นเรื่องขอสัญชาติจากหน่วยงานราชการ การเป็นเด็กไร้สัญชาติทำให้พวกเขาไม่รู้อนาคตของตัวเอง และขาดโอกาสในการศึกษาต่อ ทั้งยังมีความหวาดกลัวต่อเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง อย่างเช่นชีวิตของธิดาและตุ๊กตา ที่แม้มีความฝันแต่อาจสะดุดลงเพราะการเป็นเด็กไร้สัญชาติ…
ห้องเรียนเล็กๆของธิดาไม่มีนามสกุล รายล้อมไปด้วยเพื่อนๆคนไทย เธอเป็นหญิงสาวกะเหรี่ยงผู้โชคร้ายที่ตกหล่นจากฐานข้อมูลทะเบียนของรัฐ และกลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ
ที่โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย – พม่าที่ธิดาเรียนอยู่นี้ มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 1200 คนและ 1 ใน 3 ของเด็กๆที่นี่ เป็นเด็กไร้สัญชาติเหมือนกับธิดา
“กำลังจะจบม.6 ในอีก 4 เดือนข้าง” เป็นห้วงเวลาที่กดดันธิดาอย่างหนัก ความฝันที่อยากจะเป็นนางพยาบาลเพื่อรักษาคนทั้งหมู่บ้าน ค่อยๆเลือนลาง และนับถอยหลังไปเรื่อย
แม้ว่าหลายมหาวิทยาลัยจะมีโควต้าให้เด็กไร้สัญชาติได้เรียนต่อในระดับปริญาตรี แต่เพราะเป็นเด็กไร้สัญชาติ ธิดาจึงไม่มีสิทธิกู้เงินกยศ. และพ่อแม่ก็ไม่มีเงินมากพอ ที่จะส่งเสีย ในขณะที่ผู้ประกอบการ ห้างร้านต่างๆ ก็ไม่สามารถรับเด็กไร้สัญชาติเข้าทำงานพิเศษได้ เธอจึงไม่รู้ว่าจะหาเงินมาเรียนหนังสือต่อได้อย่างไร
ธิดาเล่าให้เราฟังว่าพ่อเป็นกะเหรี่ยงอยู่ฝั่งประเทศพม่า ส่วนแม่เป็นกะเหรียงที่อยู่ชายแดนไทย จริงๆแล้วแม่ของเธอเป็นคนไทยแต่หลังการแบ่งเขตแดน ก็ทำให้แม่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร์และกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ส่วนตัวเธอนั้นเกิดที่อำเภอสังขละบุรี แต่เพราะความไม่รู้เรื่องสิทธิและกฎหมายของพ่อกับแม่จึงไม่ได้นำเธอไปจดทะเบียนเกิด เธอจึงไม่ได้รับสัญชาติไทย
พจนีย์ ไทรชมภู หรือครูเล็ก ครูโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา บอกว่า  บอกว่า หากธิดาเรียนจบปริญญาตรี จะสามารถใช้สิทธิยื่นขอสัญชาติไทยได้ตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2553 ในฐานะคนที่จะทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน แต่กว่าจะถึงวันนั้น ก็แทบมองไม่เห็นทางเสียแล้ว
ธิดา ยอมรับว่าหากจะขอสัญชาติไทยให้ได้ พ่อกับแม่จะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับผู้เกี่ยวข้องจำนวน 20,000 บาท ซึ่งก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าเงินที่จ่ายไปนั้น จะทำให้การขอสัญชาติได้รับการอนุมัติหรือไม่ !!!
ตุ๊กตา ไม่มีนามสกุล อายุ 18 ปี หญิงสาวชาวมอญ เป็นเด็กไร้สัญชาติอีกคนหนึ่งในโรงเรียนอุมดมสิทธิศึกษา เธอมีความฝันอยากเป็นครูสอนเด็กๆในพื้นที่ชายขอบ เพราะว่าอยากให้เด็กๆได้รับการศึกษาเหมือนอย่างที่เธอเคยได้รับมา ตอนนี้เธอกำลังทำเรื่องขอสัญชาติไทยเป็นครั้ง 4 เธอเผยว่าการไม่มีสัญชาตินอกจากจะไม่ได้รับสิทธิกู้กยศ.แล้ว การใช้ชีวิตประจำวันยังหวาดกลัวและระแวงกับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง
“เวลาจะเข้าไปในเมือง พอเจอด่านเขาจะเรียกดูบัตร คนที่ไม่มีบัตรจะถูกเรียกลงจากรถ วันนั้นหนูใส่ชุดนักเรียนหนูเลยไม่โดนตรวจ” ตุ๊กตากล่าว
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ เมื่อปี พ.ศ. 2553 พบว่ามีเด็กอายุระหว่าง 0-6 ปี อาศัยอยู่ทั้งสิ้น 5,346,592 แยกเป็นเด็กที่มีสัญชาติไทย 5,209,650 คน และ เป็นเด็กไม่มีสัญชาติไทย 136,942
สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ บอกว่าบุคคลไร้สัญชาติที่จะขอสัญชาติไทยได้นั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่มหลักๆด้วยกัน กลุ่มแรกคือเด็กที่มีพ่อกับแม่เป็นต่างด้าวไร้สัญชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทยและลูกเกิดในประเทศไทย และกลุ่มที่ 2 คือคนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้สัญชาติไทยเพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย เช่น ชนกลุ่มน้อยตามชายแดนหรือชาวเขามีเลขบัตรขึ้นต้นด้วย 6 – 7  ส่วนอีกกลุ่มที่ คือกลุ่มคนบัตรเลขศูนย์ เป็นผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองจากรัฐไทย กลุ่มนี้จะยังไม่มีสิทธิขอสัญชาติไทย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ธิดาและตุ๊กตาก็สามารถขอสัญชาติไทย เนื่องจากเกิดในประเทศไทย แต่ปัญหาที่พวกเธอพบก็คือความล่าช้าและการคอรัปชั่นจากเจ้าหน้าที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เห็นว่าความล่าช้าในการขอสัญชาติของเด็กๆกลุ่มนี้เกิดจากทัศนคติ และการตีความด้านกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานท้องถิ่น ที่มักเข้าใจว่าการนำคนต่างด้าวมาให้สัญชาติไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในขณะที่การไม่ให้สัญชาติกับคนที่มีหลักฐานเอกสารชัดเจนว่าเป็นคนไทย ก็เป็นสิ่งผิดกฎหมายเช่นกัน ในฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แต่ในคดีนี้ตนยังไม่เคยพบว่ามีการร้องเรียน ในขณะที่ปัญหาคนไทยไร้สัญชาติก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นายพงศกร พูลสมบัติ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองผู้ขอสัญชาติเบื้องต้น ซึ่งประกอบไปด้วยนายอำเภอ ผู้นำชุมชนและโรงเรียน บอกว่าการขอสัญชาติเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด โดยเฉพาะเอกสาร พยายานหลักฐานต่างๆ ว่าเป็นจริง ถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ เพราะเคยมีกรณีที่คนไร้สัญชาติให้โรงพยาบาลเอกชนรับรองการเกิด แต่ปีพศ.ในเอกสารกลับไม่ตรงกับพศ.เกิดของตัวเอง อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กไร้สัญชาติในโรงเรียนตนก็จะพยายามผลักดัน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเอกสารหลักฐานด้วย
“หลังประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาสิทธิเด็กเมื่อปี 2535 จากนั้นเมื่อปี 2548 โรงเรียนของรัฐทั่วประเทศจึงมีนโยบายเปิดกว้างรับเด็กไร้สัญชาติเข้าเรียนร่วมกับเด็กไทยโดยได้รับสิทธิที่เท่าเทียมทุกประการ ทั้งค่ารายหัว อาหารกลางวัน และเรียนฟรี ถือว่าประเทศไทยในเรื่องการให้สิทธิการศึกษากับเด็กไร้สัญชาติมีมากเพียงพอแล้ว” นายพงศกรกล่าว
อย่างไรก็ตาม ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความกล่าวว่า มีแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนสากลที่พูดถึงว่า “คนทั่วโลกทุกคนต้องมีอย่างน้อย 1 สัญชาติ” เพื่อให้รัฐคุ้มครองและเพื่อให้ได้สิทธิขั้นพื้นฐานจากรัฐนั้นในฐานะพลเมือง และเมื่อมีสิทธิก็มีหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อรัฐตามมา
ผู้อำนวยการโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา มีข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเด็กไร้สัญชาติว่า หากเด็กไร้สัญชาติคนใดที่เรียนในระบบจนจบม.6 ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาให้ได้รับสัญชาติไทย เพราะส่วนตัวแล้วเชื่อว่าการได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องจนจบม.6 นี้ยืนยันได้ว่าเด็กคนนั้นมีความรับผิดชอบพอสมควร มีความรู้ และควรได้รับโอกาสในการศึกษาต่อ
“พวกเขาสามารถเป็นพลเมืองที่ดีของรัฐได้” ผู้อำนวยการโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา
Copyright © 2018. All rights reserved.