นโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว

นับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ได้มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 59/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 60/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวติดตามมาด้วยนโยบายการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เมื่อระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน –31ตุลาคม 2557
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้สรุปยอดรวมจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จทั้งสิ้น 1,626,235 คน โดยแบ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ 1,533,675 คน (เมียนมา 623,648 คน, กัมพูชา 696,338 คน, ลาว 213,689 คน) กับผู้ติดตาม 92,560 คน (เมียนมา 40,801 คน, กัมพูชา 42,609 คน, ลาว 9,150 คน) นายจ้างรวม 315,880 ราย โดยจังหวัดที่จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 319,143 คน ชลบุรี 141,913 คน และสมุทรสาคร 98,357 คน
ทั้งนี้ หากรวมตัวเลขแรงงานข้ามชาติเดิมที่มีอยู่แล้วของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ณ เดือนพฤศจิกายน 2557 จำนวน 1,214,720 คน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติรวมทั้งสิ้น 2,748,395 คน คงต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาโครงสร้างการจ้างงานของไทยยังคงมีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ทำกำไรจากการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน เช่น กิจการประมงและแปรรูปประมงทะเล ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชเศรษฐกิจ โรงสีข้าว โรงงานแปรรูปวัตถุดิบการเกษตร โรงงานแปรรูปอาหาร การก่อสร้าง กิจการที่ต้องการแรงงานแบกหาม การผลิตสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อย เช่น โรงงานห้องแถว รวมทั้งในภาคบริการ เช่น สถานประกอบการประเภทที่พัก ร้านค้า บ้าน เป็นต้น ผู้ประกอบการเหล่านี้มีจำนวนมากและกระจัดกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ เป็นกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวราคาถูกที่ไม่ถูกกฎหมายมาโดยตลอด
“ในอดีตที่ผ่านมาการใช้แนวคิดความมั่นคงในการจัดการปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติ มักมาพร้อมกับการใช้อำนาจเด็ดขาดในการตรวจสอบและจับกุมส่งกลับ ความเด็ดขาดกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการชะล้างสิ่งหมักหมมเพื่อจะได้เริ่มต้นใหม่อย่างถูกต้อง แต่การแก้ไขเรื่องแรงงานข้ามชาติต้องการมากกว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดอย่างเดียวเพราะแรงงานข้ามชาติเป็นเพียง “เหยื่อ” ของอำนาจและผลประโยชน์ในโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในประเทศต้นทางที่ซับซ้อน พวกเขาและเธอจึงพร้อมเสี่ยงข้ามพรมแดนเข้ามาประเทศไทยไม่ว่าด้วยวิธีใด และไม่ว่าจะมีมาตรการป้องกันเข้มงวดการข้ามพรมแดนแห่งรัฐเพียงใดก็ตาม” บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน ชี้ให้เห็นมิติของการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวในอดีตที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่ผ่านมามักวนเวียนอยู่กับ 3 ขั้นตอน คือ
(1) การขึ้นทะเบียนเพื่อผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมายอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว
(2) การปรับสถานะแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนให้เป็นผู้เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย
(3) การนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมายจากประเทศต้นทางทั้งระบบ
“การบริหารจัดการดังกล่าวมักมาพร้อมนโยบายระยะสั้นและไม่ยืดหยุ่นตามพื้นที่และอุตสาหกรรม การปฏิบัติงานขาดบูรณาการระหว่างหน่วยงานโดยเฉพาะด้านข้อมูล ขาดการมองปัญหาระดับมหภาค รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการแรงงานก็ยังมีปัญหา เพราะยังคงมอง “แรงงานข้ามชาติ” เกี่ยวโยงกับคำว่า “ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย” และคำว่า “พรมแดนของรัฐ” บุษยรัตน์ กล่าวถึงวิธีคิดที่ยังเป็นช่องโหว่ในการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวของรัฐไทย
จากช่องโหว่ในวิธีคิดดังกล่าวได้นำมาสู่ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวมากมายและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งปัญหาทางการเมือง ปัญหาคนไร้สัญชาติ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาการยอมรับการมีตัวตนอยู่จริงของคนเหล่านี้ น่าสนใจที่รัฐบาลมีแนวคิดใหม่ ๆ ในเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 จังหวัด ได้แก่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พื้นที่ชายแดน จ.ตราด พื้นที่ชายแดน จ.มุกดาหาร และ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยให้พิจารณาในเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ โดยเบื้องต้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่เป็นผู้ออกแบบและมานำเสนอต่อรัฐบาล
ปัญหาแรงงานต่างด้าวยังเป็นปัญหาที่ท้าทายรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยที่ต่างหาหนทางในการจัดระเบียบพวกเขาให้อยู่ในร่องในรอยที่รัฐไทยคาดหวังไว้ แต่ทั้งหมดที่ผ่านมายังขาดการวางแผนในระยะยาวอย่างเป็นระบบที่ดีเพียงพอ จึงน่าติดตามไม่น้อยว่ามาตรการครั้งใหม่ของรัฐบาลจะเป็นการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวได้อย่างตรงจุดหรือไม่
ที่มา :  ส่วนอาเซียน  กรมประชาสัมพันธ์
Mon, 01/26/2015
Copyright © 2018. All rights reserved.