เยาวชนไทยพลัดถิ่นร่ำไห้ได้คืนสัญชาติไทยช้า วอนปฎิรูปกระบวนการ-ทนทุกข์ทรมานมานาน อธิบดีปค.เตรียมขันน็อตเจ้าหน้าที่

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่วัดด่านสิงขร อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการจัดงาน “12 ปี คนไทยพลัดถิ่น : ปฎิรูปกระบวนการแก้ปัญหาคนไร้สัญาติ”โดยนพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมาธิการปฎรูปสังคมฯ สภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.)กล่าวว่า ปัญหาของคนไทยพลัดถิ่นเป็นปัญหาตั้งแต่วิธีคิดในสังคมไทยที่ต้องปฎิรูปเพราะคนไทยจำนวนมากไม่เข้าใจสภาพปัญหาและเกิดการเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นสังคมต้องได้เรียนรู้ เรื่องนี้มีการขับเคลื่อนมายาวนาน เป็นเรื่องของความป็นมนุษย์ ความชอบธรรม และการบริหารจัดการของภาครัฐ แม้เรามีกฎหมายปี 2555 แต่ยังมีคนไทยพลัดถิ่นได้ขึ้นทะเบียนและได้คืนสัญชาติแค่จำนวนหลักพัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สังคมต้องมีการเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง
นายกฤษฏา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่าปัญหาของคนไทยพลัดถิ่นนั้น ตนทราบดีในฐานะนายทะเบียนที่แก้ไขปัญหา โดยประชาชนทั้งประเทศ 65 ล้านคนแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.คนไทยทั่วไปที่มีทะเบียนราษฎร์เรียบร้อย 2.กลุ่มที่ยังไม่มีสถานะแต่อนุญาตให้อยู่ได้ เราขึ้นทะเบียนไว้ 6 แสนคน และกลุ่ม 3. มี 1.6 ล้านคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่คือแรงงานต่างด้าว โดยทั้ง 3 คนมีกฎหมายและสถานะแตกต่างกัน หากใช้กฎหมายผิดพลาด เจ้าหน้าที่ก็ถูกต่อว่าหรือถูกลงโทษ โดยในส่วนของคนไทยพลัดถิ่น ต้องดูว่าที่ล่าช้าเกิดจากสาเหตุอะไร หากเกิดจากเจ้าหน้าที่ทำงานช้า ในต้นเดือนหน้าตนจะเรียกเจ้าหน้าที่มาคุย แต่หากเป็นเรื่องที่กฎหมายไม่เปิดช่อง เช่น คนที่อ้างว่าเป็นคนไทยพลัดถิ่นอยู่ที่จังหวัดตาก 300 กว่าคน ถ้าไม่ใช่เกิดจากการเสียดินแดน ซึ่งไม่ใช่ไทยพลัดถิ่น เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ทำให้ ก็ถูกฟ้องศาล
“ถ้าระเบียบกฎหมายชัดเจน แล้วพวกผมไม่ทำให้ พวกผมผิดแน่ ท่านไปฟ้องได้ แต่ถ้ากฎหมายกฎหมายไม่ชัดเจน ก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่นนักวิชาการ ว่าเราจะแก้กฎกระทรวงกันอย่างไร ฝากเรื่องนิ้ไปพิจารณาด้วย”นายกฤษฏา กล่าว และว่า ขณะนี้มีคนไร้สถานะ 6 แสนคน กรมการปกครองจะมุ่งไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนก่อน โดยเอาทะเบียนประวัติคนเหล่านี้มาดูว่าได้รับสิทธิอะไรบ้าง หรือเอามาสอบสวนแยกประเภทว่า ได้สัญชาติไทยกี่คน ได้ใบสำคัญถิ่นที่อยู่อาศัยกี่คน ได้สิทธิในการยื่นคำต้องกับรัฐมนตรีมหาดไทยกี่คน แล้วจะส่งประวัติให้ทุกอำเภอ
“สมเด็จพระเทพท่านทรงงานเรื่องนี้เงียบๆ สังเกตเวลาท่านเสด็จไปไหนจะพระราชทานทุนพระราชา พระองค์ท่านมีรับสั่งกับผมว่าให้อาศัยความรู้ประสบการณ์ที่ทำงานในชายขอบมาแก้ปัญหาให้สำเร็จซึ่งผมก็รับใส่เกล้าไว้แล้ว” นายกฤษฏา กล่าว
ขณะที่นางสาวเล็ก ประกอบปราณ เยาวชนไทยพลัดถิ่น ได้เล่าให้ผู้ร่วมงานฟังถึงประวัติของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นซี่งต้องหนีภัยการสู้รบจากพม่าโดยก่อนหน้านั้นเคยเป็นดินแดนของประเทศไทย แต่เมื่อมาอยู่ฝั่งไทยกลับไม่มีสิทธิ์มีเสียงใดๆแถมยังถูกกล่าวหาว่าเป็นพม่า และแทบไม่ได้รับความเป็นธรรมทุกๆด้าน
“พวกเราคนไทยพลัดถิ่นที่มีกว่า 2 หมื่นคน แต่ตอนนี้ได้บัตรประชาชนเพียงกว่า 2 พันคน เพราะมีมีปัญหาระดับพื้นที่ ทำให้การพิจารณาล่าช้าเป็นปี ครอบครัวหนูเอง แม่ได้บัตรแล้ว แต่หนูกับน้องก็ยังไม่ได้ เพราะหนูขึ้นทะเบียนไว้ที่อำเภอ ส่วนน้องขึ้นไว้ที่เทศบาล เขาอ้างว่าต้องให้ตรวจดีเอ็นเอ” นางสาวเล็ก กล่าวด้วยน้ำเสียงสะอื้น และว่า “อยากให้มีการปฎิรูปเพราะแม้ปัจจุบันมีกฎหมายแล้ว อยากให้แก้ปัญหาของพวกเราให้เร็วขึ้น และอยากให้คนไทยพลัดถิ่นเป็นกรณีตัวอย่าง เพราะยังมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ต้องทนทุกทรมานอีกมาก”
ทั้งนี้ในช่วงท้ายของงาน ผู้แทนเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า คนไทยพลัดถิ่นตั้งแต่รุ่นปู่ย่า พ่อแม่ และลูกหลานปัจจุบันใฝ่ฝันที่จะไปให้ถึงมาอย่างยาวนาน เราท่องจดจำประโยคนี้จนมันฝังอยู่ในเลือดเนื้อวิญญาณของพวกเรา มากว่าร้อยปี และที่จริงแล้วไม่ใช่คนไทยพลัดถิ่นเท่านั้นที่ต้องมีสัญชาติไทยแต่ทุกชีวิตที่เกิดมาบนโลกใบนี้ควรต้องมีสัญชาติ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน มีมาตุภูมิที่อยู่อาศัยสักแห่งหนึ่ง อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ยุคปัจจุบันแม้แต่สัตว์ก็ยังได้รับการระบุสัญชาติและการคุ้มครองแทบทุกชนิด
ในขณะที่ความเจริญ การพัฒนาในโลกกำลังก้าวไปอย่างไม่มีพรมแดน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบในอีก2ปีข้างหน้า รัฐบาลประกาศพัฒนาขยายด่านชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านรอบทิศทาง แน่นอนว่าประชากร พลเมืองของทุกประเทศหลายร้อยล้านคนจะได้ยกระดับคุณภาพชีวิตจากระบบเศรษฐกิจการค้าขายที่เปิดกว้างได้โอกาสอันงดงามนี้
ในคำประกาศระบุด้วยว่า นับจากวันนี้ไปที่เราร่วมมือกับทุกฝ่ายจัดงาน 12ปีคนไทยพลัดถิ่นและพระราชบัญญัติได้ประกาศใช้อย่างสมบูรณ์แบบไปแล้วกว่าสองปี ขอให้รัฐบาลได้คุ้มครอง รองรับ ดำเนินการให้สัญชาติไทยกับคนไทยพลัดถิ่นโดยเร็วที่สุด เราต้องการมีปัจจัยสี่ที่มนุษย์คนหนึ่งควรมีได้ แม้โอกาสของประชาชนไทยทั่วไปในยุคนี้คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับพวกเรานี่คือโอกาสแรกแห่งการซ่อมแซมฟื้นฟูวิถีชีวิตขั้นพื้นฐานเท่านั้น
“ในช่วงเวลา12ปีของการเรียกร้อง..การคืนสัญชาติ คืนศักดิ์ศรี คืนมาตุภูมิของคนไทยพลัดถิ่นนั้น เราได้มีบทเรียนของการพัฒนาหลายด้าน เช่น การปลูกป่า การออมทรัพย์การพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนาศักยภาพทางความคิดความรับรู้ การอนุรักษ์และจัดการเมืองน่าอยู่ การเรียนรู้มีส่วนร่วมประชาธิปไตยสิทธิของพลเมืองเป็นต้น และเชื่อว่าบทเรียนประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมไทยให้น่าอยู่และคนไทยพลัดถิ่นก็จะร่วมเป็นพลังหนึ่งอย่างจริงจัง” ในคำประกาศระบุ
Sun, 02/15/2015
Copyright © 2018. All rights reserved.