เผยยุทธศาสตร์แก้ปัญหาหลักประกันสุขภาพคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผอ.รพ.อุ้มผางชี้แก้ปัญหาระยะยาว-ช่วยคนกว่า 2 แสน ครูแดงวอนหันหน้าคุยกัน หมอสมศักดิ์ระบุยังไม่เข้าครม.-รอตัวเลขชัดเจนก่อน

นางเตือนใจ ดีเทศน์หรือ “ครูแดง” ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.)และอดีตสมาชิกวุฒิสภาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่องค์กรที่ทำงานด้านชาติพันธุ์จำนวนหนึ่งเตรียมเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าแผนการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของบุคคลที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีปัญหาเรื่องตัวเลขเพราะทำให้ผู้ที่ประสบปัญหาตกหล่นไป 3.8 หมื่นคน ว่าจริงๆแล้วเรื่องตัวเลขที่มีปัญหาไม่ตรงกันนั้น เป็นสิ่งที่สามารถหารือกันได้ และไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากรู้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาแน่นอน
นางเตือนใจกล่าวว่า ทั้งนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีสธ.และนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยสธ.ต่างมีจิตใจที่ดีและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและขาดหลักประกันสุขภาพ ดังนั้นเมื่อทุกฝ่ายเปิดใจกว้างเพราะมีเจตนารมณ์เดียวกันก็จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงไปได้
“จริงๆแล้วปัญหาแค่เรื่องตัวเลข ยังไม่น่าที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีกันด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือเดินทางมาที่ทำเนียบ เมื่อเห็นว่าเราควรคืนสิทธิ์ให้กับชาวบ้านที่กำลังมีปัญหาอยู่ในตอนนี้ ก็ควรร่วมกันเดินหน้า และให้กำลังใจซึ่งกันและกันดีกว่า” นางเตือนใจ กล่าว
ขณะที่นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตากกล่าวถึงสภาพปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาลที่เรื้อรังมายาวนาน สาเหตุจากการที่ผู้ป่วยซึ่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกินครึ่งเป็นคนที่ไร้หลักประกันสุขภาพเพราะประสบปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงพยาบาลอุ้มผาง พยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้สามารถดำเนินการไปได้ในลักษณะปีต่อปี
นพ.วรวิทย์กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2558 โรงพยาบาลอุ้มผางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ระมาด โรงพยาบาลพบพระ และโรงพยาบาลท่าสองยาง จัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อต่อยอดการสำรวจสถานการณ์ด้านสุขภาวะของคนชายแดน ในจังหวัดตาก หรือที่เรียกว่า “โครงการ 4 หมอชายแดนจังหวัดตาก” ทำให้มีโอกาสร่วมงานกับนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและเห็นพ้องกันในการจัดทำ “ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิในการบริการสาธารณสุขของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ”โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุขของคนไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างยั่งยืน อาทิ ยุทธศาสตร์การจัดสรรหลักประกันสุขภาพให้กับคนทุกคนบนแผ่นดินไทย ที่หมายรวมถึงกลุ่มคนที่มีสัญชาติไทยแต่ยังไม่ปรากฏเลข 13 หลักของคนสัญชาติไทย คนในทะเบียนราษฎรไทยที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 23 มีนาคม 2553 คนด้อยโอกาส รวมทั้งการเปิดโอกาสให้คนต่างด้าวยากไร้สามารถซื้อหลักประกันสุขภาพได้ในราคาถูก
นพ.วรวิทย์กล่าวว่า ยังมียุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐและไร้หลักประกันสุขภาพอย่างครบวงจรโดยการจัดทำกระบวนการแจ้งเกิดให้ครบขั้นตอนและถูกต้องทั้งในกรณีเด็กเกิดในและนอกโรงพยาบาลเพื่อให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยเข้าถึงหลักประกันสุภาพที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งเร่งสำรวจคนไข้ที่ไม่มีเอกสารประจำตัวบุคคลที่เข้ารับบริการในทุกสถานพยาบาลเพื่อให้คนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสม รวมถึงได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล หรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรในระหว่างที่ยังไม่มีนโยบายในการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิที่ชัดเจน ดังที่กระทรวงศึกษาธิการได้สำรวจเพื่อบันทึกและจัดทำทะเบียนประวัติให้แก่นักเรียนไร้รัฐมาตั้งแต่ปี 2548
นพ.วรวิทย์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาวิกฤตการคลังของโรงพยาบาลโดยให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา มีการจัดตั้งกองทุนมนุษยธรรมเพื่อการรักษาพยาบาลจากการให้บริการคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยังไม่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพใดๆยึดตามตัวเลขค่าใช้จ่ายสังคมสงเคราะห์ของแต่ละโรงพยาบาลในแต่ละปีงบประมาณ และยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสาธารณสุขชายแดน โดยการเสริมสร้างขีดความสามารถของงานรักษาพยาบาลและงานสาธารณสุขแก่หน่วยบริการในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อในระยะยาวจะเป็นการลดภาระการข้ามแดนมาใช้บริการสถานบริการสาธารณสุขไทย รวมถึงการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสาธารณสุขชายแดน
“ผมขอบคุณทุกฝ่ายที่พยายามช่วยกันเพื่อให้โรงพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขที่ตั้งใจทำงานในการรักษาพยาบาลคนไข้ทุกคนมีกำลังใจทำงานต่อไปได้ ท่านรัฐมนตรีและท่านปลัดต่างก็ให้การช่วยเหลือด้วยดี แต่ผมคิดว่าหากต้องการที่จะแก้ไขปัญหาระยะยาว เราควรผลักดันยุทธศาสตร์เพื่อที่จะต้องไม่แก้ปัญหากันเป็นรายปี” นพ.วรวิทย์กล่าว
นพ.วรวิทย์กล่าวว่า ล่าสุดที่ตนสอบถามทางสำนักทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง พบตัวเลขใหม่ล่าสุดคือ 273,000 คน ซึ่งล่าสุดแล้ว ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 2.73 แสนคนนั้น เป็นคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน จริงๆคนกลุ่มนี้มีเป็นล้านๆคน ดังนั้น เรื่องนี้ขอให้ช้าๆได้พร้าเล่มงามดีกว่า โดยควรรอข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนจะเสนอครม. และเข้าใจว่ายังไม่ได้เสนอเร็วๆนี้ เพราะรัฐมนตรีช่วยว่าการสธ. นัดประชุมอีกครั้งวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งตนก็เห็นด้วย รวมทั้งการผลักดันร่างยุทธศาสตร์จัดการปัญหาบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งอยากให้รัฐบาลสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข จัดทำยุทธศาสตร์ เพื่อการทำงานระยะยาว สำหรับคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิทุกคนให้เข้าถึงการบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม ที่สำคัญหากมียุทธศาสตร์ ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการดูแลลักษณะนี้ และขอย้ำว่าผมคงไม่ไปร้องนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ได้อยู่ในเครือข่ายแพทย์ตามแนวชาแดนเรื่องนี้ อย่างจ.ตากก็ไม่มีใครไปร่วม
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยสธ.กล่าวว่าเรื่องนี้ยังไม่มีการเสนอครม. เพราะรอข้อมูลตัวเลขให้ชัดเจนก่อน ซึ่งจะมีการสรุปข้อมูลในวันที่23 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนที่เครือข่ายภาคประชาชนบางส่วนจะไปยื่นนายกฯก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมองว่าทุกคนหวังดีต่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิกันหมด อยากให้รอการประชุมก่อน
นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า
เรื่องนี้โดยหลักการจะมีการช่วยเหลือคนกลุ่มดังกล่าวอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวล
ทุกอย่างอยู่ที่การหารือและพิจารณาตัวเลขที่ชัดเจนก่อน
—————-
หมายเหตุ- เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ได้มีแถลงการณ์ออกมาฉบับหนึ่งโดยอ้างชื่อ 37 องค์กร “เรียกร้อง สธ.แก้ไขข้อเสนอจัดการสิทธิสุขภาพคนไร้สถานะและสิทธิให้ถูกต้อง เร่งรัดนำเข้าครม.” ซึ่งระบุว่าหลังจากการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ในตำแหน่ง รมว.สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. หนึ่งในนโยบาย 10 ข้อ ที่ทั้ง 2 รมต.ได้ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.57 คือ พัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยมีการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบที่ยั่งยืน และระบุว่าจะเร่งรัดพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพและพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพสำหรับประชากรที่มีความต้องการบริการรูปแบบพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงบริการสำหรับคนพิการ ประชากรที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ ประชากรต่างด้าว/แรงงานต่างด้าว ประชาชนตามพื้นที่พิเศษ เช่น ชายแดนห่างไกลห้าจังหวัดภาคใต้ และการสร้างเสริมสุขภาพของแรงงานนอกระบบ นั้น
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขให้แก่คนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย และ รมว.สธ.ลงนามแล้วเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) และหนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ การเพิ่มจำนวนกลุ่มคนไร้สถานะเข้ากองทุนให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 แต่มีข้อผิดพลาดตรงจำนวนประชากรที่ไม่ถูกต้อง ข้อมูลที่สธ.ให้ครม.พิจารณามีเพียง 170,535 คน ซึ่งเป็นข้อมูลเก่า และน้อยกว่าข้อเท็จจริงถึง 38,096 คน
ดังนั้น 37 องค์กรด้านสาธารณสุข จึงขอเรียกร้อง
1.นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของสธ. แก้ไขตัวเลขจำนวนกลุ่มคนไร้สถานะให้ถูกต้อง โดยให้ใช้ข้อมูลจาก ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่ง 36 องค์กรฯ ได้แจ้งให้ นพ.สมศักดิ์ ได้รับทราบยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.พ. มีจำนวน 208,631 คน ดังนี้
1) กลุ่มที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ประเภททะเบียนราษฎร์ ทร.38 ก โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 8 และ 9 (0-xxxx-89xxx-xx-x) ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติในกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอยู่ไทยเป็นเวลานาน แต่ตกสำรวจ จำนวน 150,076 คน
2) กลุ่มบุตรของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่เกิดในประเทศไทยและได้รับการแจ้งเกิด มีสูติบัตร ได้เลข 13 หลักเป็นบุคคลประเภท 0 (บุตรของกลุ่มที่ 1) จำนวน 56,672 ราย
3) กลุ่มคนที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานะเกิดซึ่งนายทะเบียนได้จัดทำประวัติให้เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0 โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 0 และ 0 (0-xxxx-00xxx-xx-x) จำนวน 1,883 คน
2.หลังจากแก้ไขจำนวนกลุ่มคนไร้สถานะที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว คือ 208,631 คน ขอเรียกร้องให้ นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ เร่งรัดเสนอเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะเข้าไปในกองทุนคืนสิทธิ์นี้ เข้าครม.โดยทันที โดยไม่ต้องรอนำเสนอเข้าพร้อมกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในภาพรวม เพราะกลุ่มคนไร้สถานะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ตกหล่น ยิ่งรอนานยิ่งมีผลกระทบกับประชาชน ละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนมากขึ้นไปอีก และสร้างภาระให้กับโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา 37 องค์กรฯ เคยเข้าพบเพื่อพูดคุยและหารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมา 5 ครั้งแล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศเป็นนโยบายตั้งแต่เมื่อครั้งรับตำแหน่ง 13 ก.ย.57 แต่เวลาล่วงเลยจนบัดนี้เวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว ยังไร้ความคืบหน้า มีหนำซ้ำยังเสนอข้อมูลประชากรที่เป็นตัวเลขผิดให้ครม.พิจารณาอีกด้วย
3.ส่วนประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่สธ.ดำเนินการนั้น 37 องค์กรฯ เห็นด้วยในการจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในภาพรวม แต่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ผ่านมาของสธ.นั้น ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้สธ.เสนอตัวเลขกลุ่มคนไร้สถานะซึ่งเป็นตัวเลขเก่า และเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดให้ ครม.พิจารณา ดังนั้น ขอให้กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ของสธ.เปิดกว้างให้ผู้มีส่วนร่วมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบ ตอบสนองสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาด้านสิทธิขั้นพื้นฐานสาธารณสุขของกลุ่มคนไร้สถานะมีความถูกต้อง ในวันอังคารที่ 17 ก.พ.นี้ 37 องค์กรด้านสาธารณสุข จำนวน 40 คน จะยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบสถานการณ์ปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไข พร้อมกับเร่งรัดให้แก้ไขตัวเลขคนไร้สถานะให้ถูกต้องและเสนอเข้าครม.พิจารณาโดยทันที
หมายเหตุ 37 องค์กรด้านสาธารณสุข ประกอบด้วยองค์กรต่างๆ ดังนี้
1. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(คชท.)
2. มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) Hill Area Development Foundation (HADF)
3. มูลนิธิกระจกเงา (The Mirror Foundation)
4. เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง(คสช.)
5. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)
6. มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
7. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือ(กป.อพช.ภาคเหนือ)
8. โครงการเคียงริมโขง Khiang Rim Kong Project
9. โครงการพัฒนาการเกษตรและการศึกษาอาข่า Development Agriculture and Education Project for the Akha (DAPA)
10. มูลนิธิพัฒนาสตรีภาคเหนือ Northern Women’s Development Foundation
11. มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง Highland People’s Education and Development Foundation
12. วาย.เอ็ม.ซี.เอ. เชียงราย Chiang Rai Y.M.C.A
13. ศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิงและชุมชน Development and Education Programme for Daughters and Communities Center
14. เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง(คชส.)
15. ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานเวียงป่าเป้า Center : CBIRD WPP
16. โครงการพัฒนาสิทธิสถานะบุคคลเพื่อสุขภาวะชุมชนลุ่มน้ำโขง – สาละวิน
17. สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอาข่า เชียงราย (AFECT)
18. ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
19. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (NGO-CORD North)
20. ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.)
21. มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม)
22. องค์การพัฒนาอาชีพนานาเผ่าลุ่มน้ำฝาง
23. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (KNCE)
24. เพื่อนไร้พรมแดน
25. มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ สำนักงานภาคเหนือ
26. มูลนิธิศึกษาวัฒนธรรมและการพัฒนาชาวเขาภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
27. สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT)
28. สมาคมปากะเกอญอ เพื่อการพัฒนาที่ยันยืน
29. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์
30. มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
31. มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย พะเยา World Vision Foundation Phayao
32. ศูนย์สังคมพัฒนาสังฆมณฑลเชียงใหม่ เขตพะเยา
33. ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน
34. มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท
35. มูลนิธิศุภนิตแห่งประเทศไทย
36. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
37. มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย(ภวส.)
Tue, 02/17/2015
Copyright © 2018. All rights reserved.