เปิดพื้นที่นี้ดีจัง กองผักปิ้ง-เชียงดาว

สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับกลุ่มดินสอสี เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ สนับสนุนการเรียนรู้ให้เด็กๆ ตามโครงการพื้นที่นี้…ดีจัง อีกครั้ง คราวนี้ขึ้นเหนือไปถึงชายแดนไทย-เมียนมาร์ ที่บ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
จังหวะดีตรงกับช่วงปีใหม่ของเจ้าบ้านชาวลาหู่ หรือมูเซอ ที่กำหนดวันจัดงานเฉลิมฉลองปีใหม่กันในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.
“กองผักปิ้ง” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ห่างจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เพียงข้ามเขาไม่กี่ลูก และยังเป็นที่ตั้งของห้วยสันกลาง ต้นกำเนิดแม่น้ำปิง
มีชาวบ้านราว 65 ครัวเรือน ประมาณ 200-300 คน มีทั้งชาวลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ส่วนใหญ่ทำอาชีพปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ขาย และปลูกข้าวไร่ไว้กินเอง หมู่บ้านติดแนวกันชนแห่งนี้เผชิญปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะยาเสพติดและปัญหาคนไร้สัญชาติ
นายไมตรี จำเริญสุขสกุล หรือพี่ไมตรีของเด็กๆ อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่แห่งบ้านกองผักปิ้ง ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์ลาหู่ หนึ่งในเครือข่ายพื้นที่นี้…ดีจัง เล่าว่าภูมิประเทศติดแนวชายแดนทำให้กองผักปิ้งเป็นพื้นที่เสี่ยง ยาเสพติดทำให้คนหนุ่มสาวเสียคนไปมาก
“ย้อนไปหลายสิบปีก่อน สมัยอายุ 16-17 ปี ผมเป็นเด็กเกเร มีเรื่องต่อยตีกันประจำ เพื่อนหลายคนติดยา ดมกาว ต้องออกจากโรงเรียน พ่อแม่ไล่ออกจากบ้าน ตอนนั้นคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างจึงเริ่มหัดเล่นกีตาร์ พอมีเพื่อนสนใจเพิ่มขึ้น เราก็ช่วยกันสอนช่วยกันเล่น จนสมาชิกหลายสิบคนเลิกยาได้และกลับไปมีครอบครัว ช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน คนในหมู่บ้านก็ให้การยอมรับว่าเราใช้ดนตรีบำบัดยาเสพติดได้”
ไมตรีรวมกลุ่มทำกิจกรรมกับเยาวชนในหมู่บ้านเรื่อยมา ทั้งทำดนตรี ส่งเด็กประกวดร้องเพลง สอนทำหนังสั้น สอนใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ กระทั่งเพื่อนเผ่าม้งที่ อ.แม่ริม ชักชวนให้เข้าร่วมเครือข่ายพื้นที่นี้…ดีจัง
ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์ลาหู่ บอกว่าเราวัดความสำเร็จของการทำงานรูปแบบนี้จากคุณภาพชีวิตของเด็กที่ออกไปแต่ละรุ่น อย่างบางคนที่เกือบเข้าวงการยาเสพติด เมื่อมาร่วมกิจกรรมกับเราแล้วสุดท้ายออกไปเป็นแกนนำ ริเริ่มขับเคลื่อนโครงการพื้นที่นี้…ดีจัง ในพื้นที่อื่นๆ
ปีใหม่ปีนี้ที่บ้านกองผักปิ้งคึกคักเป็นพิเศษ เพราะพี่ๆ กลุ่มดินสอสีนำทีมนักศึกษาและอาสาสมัครมาทำกิจกรรมกับเด็กๆ
“โซ่”ปริตอนงค์ ถวัลย์วิวัฒนกุล ผู้ประสานงานสโมสรพื้นที่นี้…ดีจัง บอกว่ากลุ่มดินสอสีทำงานเชิงพื้นที่ศิลปะมานาน พอได้ร่วมกับ สสย. ต่างฝ่ายต่างมีเครือข่ายและต้นทุน ก็เชิญกลุ่มศิลปิน เอ็นจีโอ และนักกิจกรรมมาระดมสมองจนออกมาเป็นโครงการพื้นที่นี้…ดีจัง
“พื้นที่หรือชุมชนที่เราเลือกให้ร่วมเป็นเครือข่ายต้องเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ เข้ามาเล่น เรียนรู้ เริ่มที่จะทำบางอย่างและก็ร่วมทำมันขึ้นมา สุดท้ายต้องแบ่งปันสู่สังคมและชุมชน ซึ่งแต่ละพื้นที่ทำงานพวกนี้อยู่แล้ว อย่างไมตรีก็ทำงานกับเด็กมาหลายปี ส่วนพื้นที่นี้…ดีจัง เป็นแบรนด์ที่ใช้สื่อสารให้สังคมรับรู้ว่ามีกลุ่มคนทำงานแบบนี้อยู่” ปริตอนงค์กล่าว
“น้องชัย”ชัยภูมิ ป่าแส อายุ 17 ปี ร่วมเล่าว่า เข้าร่วมกิจกรรมกับไมตรีตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ตอนนั้นแม่ผมต้องเข้ารับการบำบัด ส่วนพ่อเลี้ยงก็ไม่สนใจ เลยต้องรับจ้างแบกข้าวโพดไปเรื่อยๆ เคยเกือบหลงผิดไปกับขบวนการลักลอบค้ายาเสพติดแต่โชคดีได้เจอพี่ไมตรี ได้ตามพี่เขาไปหัดตีกลอง หรือเล่นคอนเสิร์ตตามต่างจังหวัด
ปัจจุบันช่วยพี่ไมตรีสอนน้องๆ ทุกเย็นวันจันทร์-ศุกร์ เด็กๆ จะรวมตัวกันที่โบสถ์กลางหมู่บ้านเพื่อเรียนภาษาลาหู่ เรียนเต้นแจ่โก่ บางครั้งช่วยกันพัฒนาโบสถ์ ออกไปหาปลาหรือเล่นเกมกัน
ชัยบอกอีกว่า การพบพี่ไมตรีและร่วมกับโครงการพื้นที่นี้…ดีจัง ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป มีความสามารถหลายด้าน เล่นดนตรีและร้องเพลงได้ ล่าสุดได้เป็นตัวแทนจ.เชียงใหม่ เขต 5 ไปแข่งร้องเพลงที่จ.แพร่ ได้เหรียญทองแดงมา ตั้งใจจะเรียนให้จบปริญญาตรี อยากเป็นครูถ่ายทอดความรู้ให้เด็กๆ และคิดว่าจะทำโครงการนี้ไปเรื่อยๆ เพราะเห็นแล้วว่ามันส่งผลดีกับเยาวชนจริง
ขณะที่เด็กๆ กำลังสนุกกับเกมการละเล่น เพนต์กระเป๋าผ้า ทายคำศัพท์ภาษาลาหู่จากรูปภาพ สร้างศิลปะจากรอยฝ่าเท้าลงบนผืนผ้า พ่อแม่น้าอาที่บ้านก็กำลังนึ่งข้าว คั่วงา เตรียมตำข้าวปุกปีใหม่ ก่อนที่จะถึงวันงานจริงในวันรุ่งขึ้น
“ข้าวปุก” หรือภาษาลาหู่เรียก “อ่อฝุ” เป็นข้าวดำนึ่งสุก ใส่ในครกไม้ก่อนใช้ไม้ไผ่ท่อนยาวตำ สลับกับโรยงาป่นจนเหนียวหนืดเป็นเนื้อเดียวกัน ชาวลาหู่นิยมตำข้าวปุกในช่วงปีใหม่ เป็นอาหารประจำเทศกาลสำหรับใช้รับแขก หรือกินเล่น เด็กๆ มักชอบจุ่มข้าวปุกในนมข้นหวาน หรือนำไปจี่ไฟให้ก้อนข้าวปุกกรุบกรอบ
แดดร่มลมตก เวทีการแสดงกลางหมู่บ้านเริ่มติดไฟ นักกิจกรรมกลุ่มไม้ขีดไฟ กลุ่มรักษ์ยิ้ม กลุ่มเพชรบุรีดีจัง และกลุ่มพัทลุงยิ้ม ตั้งโต๊ะสอนเด็กๆ ทำของเล่น ตัดกระดาษทำโคมไฟ ทำไก่ถ้วยกาแฟ สมุดทำมือ และสร้อยลูกปัด
พร้อมๆ กับชมการแสดงซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ โชว์เต้นแจ่โก่ของเด็กๆ บ้านกองผักปิ้ง กังฟูแคน ม้ง จากละอ่อนดอย บ้านบวกเต๋ย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และการแสดงหุ่นเงา ของกลุ่มลูกขุนน้ำ คีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ที่ใช้ภาษาถิ่นใต้เล่านิทาน ตำนานพื้นบ้านอย่างออกรส
ไมตรีบอกว่า พยายามแก้ปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านมาเป็น 10 ปี ใช้ศาสนา การเต้น และดนตรีในการดึงความสนใจของเยาวชนให้ออกห่างจากเรื่องพวกนั้น แต่เพิ่งมารู้ว่า “ธนูจะยิงไปข้างหน้าต้องดึงสายตัวเองให้เยอะที่สุดก่อน” ก็เลยกลับมาค้นตัวเอง ดูเรื่องวัฒนธรรมที่เรามี ทั้งการเต้นแจ่โก่ การใช้ภาษาลาหู่ และการสวมเสื้อผ้าของเผ่า ทำให้ 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มหันมาสนใจทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นวัฒนธรรม ซึ่งก็คือความเป็นลาหู่ของคนบ้านกองผักปิ้งที่เริ่มสูญหายไปตามเวลา
“ระยะหลังเมื่อถึงวันปีใหม่ ปกติหมู่บ้านเราจัดงานรื่นเริง และจะมีการเต้นแจ่โก่ 3-4 คืนติดต่อกัน ชาวบ้านต้องไปจ้างคนลาหู่จากพื้นที่อื่นมานำเต้น เพราะคนบ้านเราเต้นกันไม่เป็นแล้ว แต่ปีนี้พิเศษกว่าทุกปี เพราะเราสอนให้เด็กลาหู่บ้านกองผักปิ้ง ตัวเล็กๆ อายุ 10-12 ปี นำเต้นแจ่โก่ได้เอง เป็นปีแรกที่เราไม่ต้องจ้างคนนอกเข้ามา คนบ้านกองผักปิ้งรวมใจกัน แม้อาจจะทำได้ไม่ดี ไม่ชัดนักแต่เราก็ไม่ปล่อยไป ยังจับจูงมือกันรักษาวัฒนธรรมลาหู่ของเราไว้ ทำให้วันนี้ความเป็นลาหู่เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งเราอยากให้ทุกคนได้มาดู มาเห็น”
นอกจากยาเสพติดแล้ว อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของชาวบ้านที่นี่คือปัญหาคนไร้สัญชาติ
สุรสิทธิ์ ป่าเล อาสาสมัครองค์กรด้านสัญชาติ ที่ทำงานเป็นคนกลางสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่เทศบาลกับชาวบ้าน ดำเนินการขอสัญชาติให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ใน 14 หมู่บ้าน ของตำบลเมืองนะ มานานเกือบ 2 ปี บอกว่า ชาวบ้านเกือบครึ่งยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เพราะการเดินทางเข้าไปทำเรื่องที่อำเภอมีอุปสรรคทั้งด้านระยะทาง ภาษา และการต้องใช้พยานบุคคลไปร่วมยืนยันการเกิดก็ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
“ไม่บ่อยนักที่หน่วยงานรัฐจะเข้ามารับเรื่องถึงในพื้นที่ แต่เท่าที่มีก็เป็นไปอย่างไม่ปะติดปะต่อ การไม่มีสัญชาติทำให้ชาวบ้านทำอะไรไม่ได้เลย ออกจากบ้านแค่ 5 กิโลฯ ไปเจอด่านก็โดนจับ ไม่มีบัตรประชาชนก็ไม่มีสิทธิ์อะไร เรื่องพื้นฐานอย่างการรักษาพยาบาลฟรีจากโรงพยาบาลรัฐก็ทำไม่ได้ ต้องหาเงินจ่ายเองหมด”
สิ้นเสียงคำบอกเล่าเหล่านั้น เพื่อนนักดนตรีชาวปกาเกอะ ญอก็บรรเลง “เตหน่ากู” เครื่องดนตรีประจำเผ่าขึ้นเป็นทำนองซึ้งปนเศร้า แต่หนักแน่นราวกับส่งผ่านความหวัง และกำลังใจให้คนบ้านกองผักปิ้งผ่านพ้นปัญหาไปได้ด้วยดี
ที่มา : http://www.khaosod.co.th
Thu, 02/19/2015
Copyright © 2018. All rights reserved.