อธิบดีกรมปกครอง-สั่งเข้มทุกอำเภอ-กวดขันต่างด้าว

อธิบดีกรมการปกครองปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ นัดถกเข้มวันหยุด 3 เดือนตรวจพบมีการสวมการสวมตัวในทะเบียนราษฎร์กว่า 93 ราย เน้นที่เจอมากคือเอาต่างด้าวใหม่มาสวมต่างด้าวเก่าจี้นายอำเภอทุกแห่งเข้มการแก้ไขทางทะเบียนของต่างด้าว อีกเรื่องที่พบการเรียกเงินค่าอนุญาตออกนอกพื้นที่ของคนกลุ่มน้อยต้องห้ามเกิดขึ้นอีก กำชับเข้มค่าธรรมเนียมการขอมีและใช้ปืนแค่ 500 บาท บางแห่งเรียกเป็นหมื่นให้เลิกเด็ดขาด พร้อมยกศูนย์ดำรงธรรมเป็นผลงานชิ้นเอกของคนมหาดไทยให้ทุกอำเภอจัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบที่อัธยาศัยดี เน้นการพูดจากับประชาชนต้องนุ่มนวล
วันที่ 7 มี.ค.58 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายอำเภอ ปลัดอาวุโส ปลัดอำเภอหัวหน้างานต่างๆ ทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวีดีโอทางไกล เพื่อรับมอบนโยบายจากผู้บริหารระดับสูงของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย นำโดย นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง เกี่ยวกับการปฏิบัติงานทะเบียนและบัตรประชาชน การดำเนินการให้สถานะบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและงานการสัญจรข้ามแดน จากศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีวาระสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ แนวทางปฏิบัติงานด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน แนวทางการปฏิบัติงานทะเบียนอาวุธปืน แนวทางการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงชายแดน และแนวทางการปฏิบัติงานเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและงานการสัญจรข้ามแดน
นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า การที่ต้องเชิญประชุมในวันหยุด เนื่องจากงานของกรมการปกครองกำลังเดินไปก้าวหน้า ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเป็นที่ยอมรับ แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีงานในหน้าที่หลักมีปัญหา เป็นข่าวตามสื่อมวลชนต่างๆ ซึ่งไม่ทราบว่าจริงหรือเท็จประการใด แต่อย่างไรก็ตามงานในหน้าที่หลักที่มีเป็นประเด็นปัญหามี 3 งานหลักๆ และอีก 1 งานทั่วไป 3 งานหลักที่ว่าคือ งานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน ตาม พ.ร.บ.บัตรประชาชน และ พ.ร.บ.สัญชาติ เรื่องนี้คนของกรมการปกครองเป็นเจ้าพนักงานโดยกฎหมาย เรื่องที่ 2 งานตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เรื่องที่ 3 งานที่เกี่ยวกับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย คนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ซึ่งมีการกำหนดให้อยู่ในพื้นที่เป็นการเฉพาะ หากจะออกจากนอกพื้นที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอ ที่ผ่านมามีคนมาอ้างว่าการจะออกนอกพื้นที่แต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่าย
“ทั้ง 3 เรื่องหลักเป็นเรื่องทำให้ภาพลักษณ์ของคนกรมการปกครองเสียหาย ไม่ลงลึกว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่มีเรื่องปรากฏออกไปตามสื่อมวลชน มีเรื่องร้องเรียนมายังกรมการปกครอง มีการตรวจสอบ ส่วนเรื่องที่ 4 เรื่องไม่ใช่งานของคนการปกครองโดยตรง แต่ทำให้เสียหาย เวลาประชาชนขึ้นอำเภอแล้วไม่ได้รับการบริการเท่าที่ควร หรือเสียค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่ควรจะเสีย” อธิบดีกรมการปกครอง กล่าว
นายกฤษฎาฯ กล่าวต่อว่า งานทะเบียนราษฎรและบัตรประชาชนที่มีปัญหามากคือ เรื่องแรกเป็นการปล่อยให้คนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือคนต่างด้าวมาอยู่ในทะเบียนราษฎร มาสวมตัวเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ขอแจ้งเกิดเกินกำหนดโดยมาสวมตัวเป็นคนที่หายจากทะเบียนบ้านนั้นเป็นเวลานานๆ คนที่ไม่เคยติดต่ออำเภอพื้นที่อาศัยเป็นเวลานานๆ อาจสูญหายหรือเสียชีวิต ซึ่ง 3 เดือนที่ผ่านมามีมากถึง 93 รายที่ตรวจสอบพบมีหลักฐาน เรื่องที่ 2 ที่ทุจริตกันมาก การเอาคนต่างด้าวที่เข้าราชอาณาจักรใหม่เข้าไปสวมเป็นคนต่างด้าวเก่าที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.ที่อนุญาตให้ว่าคนต่างด้าวที่จะอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ต้องเข้ามาอยู่ตั้งแต่ก่อนปี 2538 ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 640,000 กว่าคน กระจายอยู่ตามพื้นที่จังหวัดชายแดนของภาคเหนือและภาคตะวันตกซึ่งทำทะเบียนไว้แล้ว โดยจะทำการแก้ไขรายการของคนต่างด้าววันนี้ต้องเข้าไปแก้ในระบบซึ่งต้องอาศัยรหัสผ่าน ฉะนั้นเรื่องนี้ทั้งปลัดจังหวัด ทั้งนายอำเภอ รวมถึงคนกรมการปกครองทุกคนต้องช่วยกันระงับยับยั้ง ขอให้มีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น หากในแต่ละเดือนมีการแก้ไขบ้างก็อาจะเป็นเรื่องปกติ หากแต่บางแห่งบางเดือนมีการแก้ไขเป็น 100 ราย นายอำเภอต้องตรวจสอบที่ห้องทะเบียนให้ละเอียดขึ้น ปัญหาเรื่องนี้คือการที่ปลัดอำเภอเอารหัสผ่านให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีหน้าที่โดยตรงหรือเป็นแค่ผู้ช่วย หรือ อส. อีกประเด็นที่พบมากคือกำนันผู้ใหญ่บ้านรวมถึงผู้นำท้องถิ่นนำคนต่างด้าวเข้ามาใหม่มาเป็นพยานมาแก้ไขวันเกิดวันที่เดินทางเข้าราชอาณาจักร
“ส่วนเรื่องที่ไม่ใช่งานโดยตรงของคนปกครองที่ต้องอนุญาตให้คนกลุ่มน้อยหรือต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวออกนอกพื้นที่ซึ่งไม่มีการต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ปรากฏว่าคนที่เข้ามากรุงเทพและต้องมารายงานตัวที่กรมการปกครองหลายรายแจ้งว่าได้เสียค่าใช้จ่ายตอนที่ขออนุญาตออกนอกพื้นที่ บางคนบอกจ่ายให้แก่กำนันผู้ใหญ่บ้าน บางคนบอกจ่ายให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น บางคนบอกจ่ายให้ใครไม่รู้ที่อยู่แถวหน้าอำเภอ เรื่องนี้ของให้นายอำเภอทุกแห่งสอดส่องดูแลใกล้ชิดเพิ่มขึ้น” นายกฤษฎาฯ กล่าว
อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวต่อว่า เรื่องตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ในประเด็นเรื่องการให้มีและอนุญาตใช้อาวุธปืนปัญหาคือ มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามขนาดและราคาของปืนที่มาขออนุญาต ซึ่งค่าธรรมเนียมปกติทั้งปืนสั้นและปืนยาวกำหนดไว้ที่ 500 บาท อยากจะให้นายอำเภอกำชับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่าให้มีเรื่องเกี่ยวกับประเด็นนี้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบโดยเด็ดขาด เพราะมีข่าวบ้างแล้วว่าไปขอปืน .357 อำเภอนี้ค่าธรรมเนียม 15,000 บาท แต่ไปอีกอำเภอค่าธรรมเนียมเพียง 10,000 บาทเท่านั้น
“อีกเรื่องที่เป็นประเด็นคือ ศูนย์ดำรงธรรม เรื่องของศูนย์ดำรงธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้งานของกระทรวงมหาไทยมีชื่อเสียงอย่างยิ่งในขณะนี้ เฉพาะศูนย์ดำรงธรรมทั้ง 878 อำเภอ สามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นแสนเรื่อง กำลังอยู่ระหว่างการแยกเรื่องเป็นประเด็นต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นผลงานสำคัญของคนกรมการปกครองที่ได้ดำเนินการเป็นที่ประจักษ์ แต่กลับมีประเด็นเล็กๆ เกิดขึ้นในกรณีที่ราษฎรมาติดต่องานที่อำเภอ บางทีไม่ได้รับความสะดวก บางทีการพูดจากับประชาชนไม่ดีซึ่งจะทำให้ประชาชนที่เดือดร้อนเกิดเสียความรู้สึกซึ่งเป็นการซ้ำเติมคนที่เดือดร้อนโดยตรง ก็อยากจะให้นายอำเภอกำชับเจ้าหน้าที่ว่า หากเรื่องที่ประชาชนมาร้องเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนต้องมีข้อกฎหมายมาเกี่ยวข้องหลายเรื่องก็ให้รับไว้ก่อนเพื่อส่งต่อ และขอให้กำชับเรื่องการพูดจากับพี่น้องประชาชนเป็นพิเศษ” นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวกำชับ
Mon, 03/09/2015
Copyright © 2018. All rights reserved.