แก้ปม “โรฮีนจา” ที่ต้นตอ ท้าทายกรอบ”มนุษยชน-คนไร้รัฐ”

“การประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย” ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา “ผู้อพยพทางเรือ” อย่างจริงจัง

บทสรุปการประชุม

การประชุมที่จัดขึ้นเป็นการเฉพาะกิจครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะต้องนำไปสู่ แนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันในระยะยาว โดยมุ่งเน้น 3 ทางแก้ที่สำคัญ ได้แก่

(1) การช่วยชีวิตผู้ลี้ภัยที่ติดอยู่ในทะเล ได้แก่ การประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อระบุตำแหน่งเรือบรรทุกผู้ลี้ภัย การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และจัดการเรื่องการตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 ของผู้ลี้ภัย และการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง

(2) การป้องกันการย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และการจัดการกับการค้ามนุษย์ โดยจะใช้กระบวนการคัดกรอง แยกผู้ลี้ภัยออกจากเหยื่อการค้ามนุษย์ และเตรียมส่งเหยื่อการค้ามนุษย์กลับประเทศต้นทาง และ/หรือส่งผู้ลี้ภัยให้เดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3

(3) การแก้ไขปัญหาที่ต้นตอและพื้นที่เสี่ยง โดยที่ประชุมมีแผนที่จะส่งมอบความช่วยเหลือให้กับเมียนมา เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนสร้างความรู้สึกปลอดภัย และความเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในรัฐยะไข่

เป็นที่น่าสนใจว่าในที่ประชุมนี้ คำว่า “โรฮีนจา” ไม่ได้ถูกกล่าวถึงเลย เนื่องจากทุกฝ่ายในที่ประชุมต่างต้องการหลีกเลี่ยงการพูดคุยในประเด็นที่ อ่อนไหว ทั้งยังเลี่ยงการ “โทษกันไปมา” ในบริบทต้นตอของปัญหา แม้ว่าผลสรุปของการประชุมในประเด็นที่ 3 จะเป็นการชี้เป้าว่า “ผู้ลี้ภัยทางเรือส่วนใหญ่มาจากเมียนมา” ขณะที่เมียนมาก็แสดงท่าทีตอบรับอย่างดี กับเงินช่วยเหลือด้านมนุษยชนมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 128.8 ล้านบาท) ที่ออสเตรเลียมอบให้เพื่อพัฒนาพื้นที่วิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮีนจา เช่น รัฐยะไข่ และเมืองคอกซ์บาซาร์ ของบังกลาเทศ

รัฐไทยรับมือการค้ามนุษย์

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยย้ำความสำคัญในระหว่างการ ประชุมคือ ต้องจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ และต้องยอมรับว่าไทยเป็นทั้งจุดหมายปลายทางและเป็นทางผ่านของขบวนการผู้ค้า มนุษย์ ขณะเดียวกันเรือไทยและคนไทยเองก็มีส่วนพัวพันอยู่กับขบวนการนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่จะคัดกรองผู้ลี้ภัยหลายพันคนที่ล่องเรือมาใน ทะเลอันดามัน ว่าใครเป็นเหยื่อ/นายหน้าการค้ามนุษย์ และใครคือผู้ลี้ภัยที่ต้องการไปตั้งรกรากในดินแดนใหม่

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการด้านผู้อพยพไร้สัญชาติ สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลไทยในการจัดการกับผู้ลี้ภัยทางทะเล มักผลักดันผู้ลี้ภัยที่เข้าสู่น่านน้ำไทยให้ออกไปสู่น่านน้ำสากล ทำให้เรือจำนวนมากต้องลอยอยู่กลางทะเล ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัย โดยแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาคือ ต้องรับขึ้นฝั่งและดำเนินการตามหลักกฎหมายคนเข้าเมืองของรัฐไทย โดยในกรณีที่ต้องส่งกลับหรือส่งไปยังประเทศที่ 3 ต้องดำเนินการผ่านทางข้อตกลงที่มีข้อผู้พันทางกฎหมายของรัฐบาลอย่างน้อย 2 ประเทศ โดยต้องรับรองความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของกลุ่มผู้ถูกส่งกลับด้วย

วิบากกรรมโรฮีนจาในเมียนมา

เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวโรฮีนจา ส่วนใหญ่เป็นประชากรในเมียนมา ที่ไม่ได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ชาวโรฮีนจาจำนวนมากยืนยันว่า ตนไม่ใช่คนไร้รัฐ (Stateless People) และมีสิทธิ์ที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันกับพลเมืองเชื้อชาติอื่น ในเมียนมา

นายอาลี อาหมัด จากสมาคมโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาด้านการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮีนจา และการกดขี่ กีดกันไม่ให้เข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เป็นปัญหาที่มาจาก “อำนาจปกครองและกฎหมาย” ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่เลือกปฏิบัติ โดยอาลีชี้ว่า ชาวโรฮีนจาที่อยู่ในเมียนมาเคยได้รับสิทธิเท่าเทียมกันกับชาวเมียนมา ชาติพันธุ์อื่น เห็นได้จากที่ก่อนหน้านี้ ชาวโรฮีนจามีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งยังลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อีกด้วย แต่กลับมาถูกกีดกันและบีบให้เป็น “ผู้ที่ตกหล่น” และไร้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานอันเท่าเทียม

ด้านนายอับดุล กาลัม ตัวแทนชมรมชาวโรฮิงญาแห่งประเทศไทย ระบุว่ารัฐบาลเมียนมา และกลุ่มชาวโรฮีนจาต้องยอมรับในความแตกต่างของทั้ง 2 ฝ่าย และที่ผ่านมา ชาวโรฮีนจาต้องพบเจอการปฏิบัติที่ไม่เคารพต่อสิทธิความเป็นมนุษย์ โดยรัฐบาลเมียนมาจะต้องให้สิทธิความเป็นพลเมืองต่อชาวโรฮีนจาเท่าเทียมกับเชื้อชาติอื่นๆ

อนาคตชาวโรฮีนจาในไทย 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า การเคลื่อนย้ายของแรงงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานาน แต่สำหรับชาวโรฮีนจาถือว่าเป็นกรณีที่มีลักษณะจำเพาะคือ คนกลุ่มนี้ไม่มีสถานะพลเมืองในประเทศตัวเอง และเดินทางข้ามรัฐเพื่อหนีจากความยากลำบาก

ด้าน ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา ม.มหิดล ระบุว่า ชาวโรฮีนจาที่เข้ามาในไทยมีหลายระลอก ซึ่งจำนวนมากมีลูกหลานที่ถือกำเนิดในไทย “คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้ผู้มาใหม่เหล่านี้สามารถอยู่ในไทยได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้คนกลุ่มดังกล่าวตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ โดยที่ผ่านมาผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่เข้ามาอยู่ในไทย ต่างก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย”

อย่างไรก็ตาม กรณีของผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจายังได้จุดประกายให้คิดถึงสภาพสังคมแบบไทย โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ระบุว่า บริบทแนวคิดเรื่อง “ชาตินิยม” ทำให้สังคมไทยตอกย้ำ “ความเป็นไทย” ซึ่งบางส่วนอาจนำมาใช้อธิบายกระแสต่อต้านชาวโรฮีนจาในโซเชียลมีเดียที่ผ่านมาว่าเป็นการมองผ่านมุมที่คิดว่า ชาวโรฮีนจาเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยในรูปแบบไทย ซึ่งถ้าสังคมไทยยังไม่เห็นความสำคัญของสิทธิพลเมือง โดยเฉพาะต่อชาวโรฮีนจา ซึ่งอยู่ในสถานะคนไร้รัฐ ไทยก็ยังไม่สามารถรับมือกับปัญหาโรฮีนจาได้อย่างเท่าทัน

ผลสรุปของการประชุมเมื่อวันที่ 29 พ.ค. แสดงให้เห็นแล้วว่า ที่ประชุมตระหนักถึงปัญหาที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคมทั่วไป และถือว่าเป็นการหาแนวทางแก้ปัญหาที่เท่าทันสถานการณ์ โดยในตอนนี้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหรัฐ ที่พยายามนำพาผู้ลี้ภัยทางทะเลเข้าฝั่งเป็นการเร่งด่วนก่อนจะถึงฤดูมรสุม น่าจะช่วยให้หลายพันชีวิตได้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติ แต่หลังจากที่ขึ้นฝั่งแล้ว รัฐบาลของทุกประเทศจะต้องรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ลี้ภัยพึงมี และให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพื่อให้พวกเขาได้พบโอกาสที่ดีต่อไป

ขณะเดียวกันประเด็นนี้ก็ได้สร้างให้เกิดความท้าทายต่อกรอบความคิดในเรื่อง “สังคมพหุลักษณ์” ถึงการเปิดรับและความเคารพต่อสิทธิความเป็นมนุษย์ในสังคมไทย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Copyright © 2018. All rights reserved.