เล่าจากเชียงแสน ณ ริมน้ำโขง …ชาวม้ง อดีตทหารไทยที่ยังคงไร้สัญชาติ

 30 กันยายน 2556 เราเดินทางไปเรียนรู้เรื่องราวของ ชาวม้งกลุ่มหนึ่งในหมู่บ้านธารทอง อำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงราย โดยการนำไปของพี่แสง มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนพื้นที่สูง

ก่อนเข้าไปถึงเรื่องราวของชาวม้งในหมู่บ้านธารโต เราอยากเกริ่นถึงเรื่องของพี่แสง คนสัญชาติไทยชาติพันธุ์ม้งที่เกิดจังหวัดลำปาง พี่แสงเข้ามาในหมู่บ้านบ้านธารโตแห่งนี้ด้วยแรงบันดาลใจ จากเหตุการณ์ที่อยากเข้าไปช่วยเหลือคนชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่ยังไร้สัญชาติ

 

พี่แสงแนะนำให้เราได้รู้จักกับ ครอบครัวแซ่ซ่ง ชาวม้งในหมู่บ้านธารโต หมู่ 11 ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พี่ล่อ แซ่ซ่ง เริ่มต้นเล่าเรื่องของตนเองให้กับพวกเราฟังว่า เขาคือ “ม้งถ้ำกระบอก”

ม้งถ้ำกระบอก แบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้วไม่ได้เดินทางมาจากไหน (ชาวม้งกลุ่มนี้จะถูกเรียกว่าม้งไทย) กับอีกกลุ่มคือ ม้งที่อพยพเดินทางเข้ามาประเทศไทย (ม้งกลุ่มนี้มักจะถูกเรียกว่า ม้งลาว[1])

โดยครอบครัวของพี่ล่อ แซ่ซ่ง นั้นอยู่ดั้งเดิมในประเทศไทยเกิดในประเทศไทย เมื่อง 22 พฤศจิกายน 2515 ที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก จากปู่ไซมั๊ว และย่าเน๊ง  เขาเล่าเสียงดังฟังชัดว่า ตนเองคือ ชาวม้งกลุ่มแรก (ม้งไทย) ที่ไปช่วยประเทศไทยรบกับทหารลาวที่สมรภูมิบ้านร่มเกล้า ซึ่งเป็นกรณีพิพาทด้านพรมแดนระหว่างไทยกับลาวประมาณปี เป็นเวลา 5 ปี พ.ศ.2531-2534  ซึ่งช่วงเวลานั้นประเทศไทยมีปัญหาขัดแย้งกับประเทศลาวอย่างรุนแรง ทหารลาวเข้ามาตรึงพื้นที่ร่มเกล้า จังหวัดพิษณุโลกไว้

และขณะนั้นชาวม้งในประเทศไทย ในพื้นที่ต่างๆ คือ น่าน ตาก ถ้ำกระบอก ได้รับคำบอกเล่าว่าให้ไปช่วยรบแล้วจะได้เป็นการทำความดีความชอบกับประเทศไทยจักได้สัญชาติไทย และจัดสรรที่ดินทำกิน ด้วยเหตุที่พวกเขายังมีปัญหาเรื่องนี้นั่นเอง จึงได้ตัดสินใจไปร่วมรบ

พี่ล่อ ในวัย 16 ปีจึงจากบ้านเกิดจังหวัดตาก ไปฝึกการรบที่จังหวัดน่าน ตามกุศโลบายการรบขณะนั้นที่จะต้องตีเข้าด้านหลังของกองทัพลาว พี่ล่อเล่าว่าขณะนั้นชาวม้งจำนวนมากไปร่วมรบ ตัวเขาเองไปรบที่ร่มเกล้าตั้งแต่ พ.ศ.2531-2534 แต่แล้วเมื่อสู้ไม่ได้ ชาวม้งจำนวนมากไม่มีที่ไป พี่ล่อและเพื่อนๆ ต้องหนีเอาชีวิตรอด พวกเขาได้ทราบข่าวการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา จึงได้เดินทางมารวมตัวกับชาวม้งคนอื่นๆ ในถ้ำกระบอก

พี่ล่อและเพื่อนๆ เองเล่าว่าขณะนั้นตนเองก็อยากไปสหรัฐอเมริกาเช่นกัน “ตอนนั้นก็ไม่ได้รับรองสัญชาติไทย อะไรที่ทำได้แล้วดีกว่าที่เป็นอยู่ก็อยากทำ” คำพูดที่พี่ล่อเล่าให้พวกเราฟัง

พี่ล่อเข้าไปอยู่ในถ้ำกระบอกเป็นเวลา 7 ปี คือ แต่กระบวนการคัดกรองชาวม้งไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกานั้น เขาเลือกไปเฉพาะชาวม้งลาว ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ก็ไม่ยอมให้พี่ล่อและเพื่อนๆ เดินทางไปสหรัฐอเมริกาด้วย

พี่ล่อและเพื่อนชาวม้งเล่าว่า ขณะนั้นเองรัฐบาลไทยให้ชาวม้งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย และพื้นที่ดั้งเดิมของตนเอง แล้วจะดำเนินการเรื่องสถานะบุคคลต่อไป พวกเขาเดินทางมาอยู่ที่หมู่บ้านธารโต อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเพื่อตั้งรกรากตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2541

พี่ล่อและเพื่อนชาวม้งจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในหมุ่บ้านธารโตขณะนี้ได้รับการสำรวจทะเบียนประวัติแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติชาวเขา (ถ้ำกระบอก)

ปัจจุบันพี่ล่อมีภรรยา คือ นางย่า แซ่จ๊าง และบุตรสามคน นายฮั่ว แซ่ซ่ง นางสาวแซ่ แซ่ซ่ง และด.ช.อนุ แซ่ซ่ง เด็กทั้งสามคนได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ แต่ก็น่าแปลกใจอย่างมาก เด็กทั้งสามกลับไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อแสดงตน

พี่ล่อและลูกๆ ทุกคน พยายามแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติของตนเอง เขาเดินทางกลับไปยังสถานที่เกิดและทำหนังสือรับรองการเกิดย้อนหลัง ท.ร.20/1 ที่ยืนยันว่าพวกเขาเกิดในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ

ชาวม้งในหมู่บ้านธารโตหลายท่านเล่าให้เราฟังว่า พวกเขามีชื่อในทะเบียนประวัติและมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 6 ส่วนบุตรหลานก็ได้รับการสำรวจและมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7 แต่พวกเขาทุกคนไม่อาจจะมีบัตรประจำตัว เพื่อใช้แสดงตนได้ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาประการแรกของพวกเขา

ตามประวัติศาสตร์ ประเทศไทยเรียกคนอย่าง พี่ล่อและเพื่อนชาวม้งเช่นนี้ว่า เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แผ่นดินไทย พี่ล่อและเพื่อน จึงเป็นอดีตทหารไทยที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย แต่ก็น่าแปลกใจที่ในชีวิต ณ ปัจจุบัน ของพี่ล่อและครอบครัวยังตกเป็น คนไร้สัญชาติในประเทศไทย

ข้อกฎหมายเบื้องต้นที่อาจจะนำไปสู่การรับรองสิทธิในสัญชาติไทยของ ม้งไทย ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

1.การพิสูจน์ว่า ทะเบียนประวัติหรือทะเบียนราษฎรของชาวม้งไทยอย่างพี่ล่อและเพื่อนๆ นั้น เป็นทะเบียนประวัติที่จัดทำขึ้นโดยมีฐานข้อกฎหมายรองรับอยู่ ก็จะเป็นทะเบียนประวัติที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551

2.การพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยของครอบครัวพี่ล่อ ตั้งแต่รุ่นปู่ไซมั๊ว และย่าเน๊ง คือ ชาวม้งไทยดั้งเดิมที่เกิดและอยู่ในประเทศไทย และยื่นลงรายการสัญชาติไทยตามระเบียบฯ ปีพ.ศ.2543

3.ถ้าทะเบียนประวัติปัจจุบันมีปัญหาว่าออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของพี่ล่อและครอบครัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย พี่ล่อและครอบครัวก็อาจไปรับการสำรวจบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข 0) เพื่อบันทึกในทะเบียนคนอยู่ของรัฐไทย โดยมีหนังสือรับรองการเกิดคือ ท.ร.20/1 ที่ยืนยันว่าพี่ล่อและครอบครัวเกิดในประเทศไทยแล้ว  ก็จะนำไปสู่สิทธิในการยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ได้

[1] ม้งกลุ่มนี้ถูกรู้จักว่า ผู้ร่วมรบกับประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ C.I.A  หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านขบวนการประเทศลาว ในช่วงสงครามอินโดจีน เมื่อลาวคอมมิวนิสต์ยึดครองประเทศลาวได้เป็นผลสำเร็จ ชาวม้งกลุ่มนี้จึงต้องถอยล่นมาทางตอนเหนือของประเทศไทย

เขียนโดย :   คุณพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์

–  นักศึกษาปริญญาโทสาขากฎหมายระหว่างประเทศ  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

  • –  นักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล ภายใต้โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

–  ผู้ช่วยทางวิชาการของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

Copyright © 2018. All rights reserved.