ชาวเขากับนโยบายของรัฐ..ปัญหาของใคร

พี่น้องชาวชาติพันธุ์ที่อาศัยบน พื้นที่สูงของประเทศไทย หรือเรียกโดยรวมว่า “ชาวเขา” นั้นมักถูกมองว่าเป็นคนนอกในสังคม ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขาจึงไม่ได้มีการผลักดันจากสังคมให้มีการแก้ไขอย่าง จริงจัง ปัญหาการเลือกปฎิบัติและเอารัดเอาเปรียบเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นกับชาว เขาอยู่เนืองๆ เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ยากจน และพูดภาษาของคนไทยพื้นราบไม่ได้ ทำให้ถูกหลอกได้ง่าย อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักๆของพี่น้องชาวเขามักเกี่ยวกับนโยบายของรัฐเช่น ปัญหาสัญชาติ และปัญหาความขัดแย้งระหว่าชาวเขากับนโยบายอนุรักษ์ป่าไม้ของรัฐ

 

ในอดีต ชาวเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดารยากจะเข้าถึงและมีการอพยพย้ายที่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ไม่ได้รับการสำรวจจากทางการเพื่อบันทึกในฐานข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์ ประกอบกับที่ขาดความรู้ความเข้าใจระบบการปกครอง จึงไม่ได้ดิ้นรนขอมีข้อมูลทางทะเบียนฯให้ตนเอง หรือแม้กระทั่งแจ้งเกิดแก่บุตรที่เกิดมา ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้ชาวเขาจำนวนมากตกอยู่ในสถานะบุคคลที่ไร้สถานะทางทะเบียน และส่งผลให้พวกเขาไม่มีสัญชาติไทยในเวลาต่อมา

 

ปัญหานี้ยังไม่ส่งผลมากนักในรุ่นพ่อรุ่นแม่ เมื่อชาวเขายังไม่ต้องข้องเกี่ยวกับบุคคลพื้นราบ หรือระบบการปกครองของรัฐมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเจริญและระบบการปกครองได้ขยายอำนาจมาถึงท้องที่ที่พวกเขาอยู่อาศัย พวกเขาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับระบบการปกครองของรัฐ แต่การที่พวกเขามีสถานะเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยนั้น ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการปฏิบัติจากรัฐโดยเท่าเทียมกับราษฎรไทยตามกฎหมาย และต้องดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก พวกเขาไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือที่ดินของตน ไม่มีสิทธิ์รับทุนการศึกษาของรัฐในขณะที่ศึกษาอยู่ ไม่สามารถเข้ารับบริการด้านสุขภาพที่รัฐจัดขึ้น ทำให้พวกเขาขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีข้อจำกัดในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกกดขี่จากบุคคลผู้ไม่ประสงค์ดีที่หาประโยชน์จากความ ไร้สัญชาติของพวกเขา นอกจากนี้ ตราบใดที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ลูกหลานของพวกเขาก็ไม่สามารถขอสัญชาติไทยได้ ดังนั้น การมีสัญชาติไทยจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และมีความสำคัญอันดับหนึ่งในชีวิตของพวกเขา แต่การขอสัญชาติไทยมีกระบวนการยุ่งยากมากมาย เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐและต้องอ้างอิงตัวบทกฎหมายทั้งในปัจจุบันและในขณะ ที่เกิด ยังไม่นับปัญหาอื่นๆเช่น การเมืองท้องถิ่น การกีดกันจากอคติส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการติดสินบนและเรียกกินหัวคิว นับว่าเป็นการยากและเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวเขาจะประสบความสำเร็จในการ ดำเนินการขอสัญชาติโดยลำพัง แต่ถึงกระนั้น ปัญหา สัญชาติไม่ใช่ปัญหาเดียวที่ชาวเขาต้องเผชิญจากนโยบายของรัฐ

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายอนุรักษ์ป่าไม้ด้วย การประกาศให้เป็นเขตป่าสงวน ก็หมายความว่า ใครก็ตามที่หาประโยชน์ หรือทำลายป่าไม้ในพื้นที่ดังกล่าวจะถูกตั้งข้อหาบุกรุกป่าสงวน แล้วชาวเขาที่อาศัยภายในพื้นที่นั้นอยู่แล้ว จะทำอย่างไร?

ชาวเขา ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีถีชีวิตอยู่ใกล้ชิดและผูกพันกับป่ามายาวนาน แต่ใช่ว่าเขาจะใช้ประโยชน์จากป่าไม้เพียงด้านเดียว หากศึกษาประเพณีและวัฒนธรรมชาวเขา จะพบว่ามีไม่น้อยที่แท้จริงแล้วเป็นภูมิปัญญาที่ช่วยรักษาป่าไม้ไปในตัว ถึงแม้ว่าในอดีตจะมีชาวเขาที่ถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยจำนวนมาก แต่ปัจจุบันหลังจากที่พวกเขาได้รับความรู้และรับทราบนโยบายอนุรัษ์ป่าไม้ของ ทางการ ชาวเขาที่เร่ร่อนทำไร่เลื่อนลอยจึงเหลือน้อยเต็มที พวกเขาส่วนใหญ่ได้รวมตัวกัน อาศัยและทำกินในพื้นที่ทำกินเดิม กลายเป็นชุมชนใหญ่น้อย นับว่าการก่อตั้งชุมชนของชาวเขาก็ไม่ต่างจากคนพื้นราบทั่วไปในอดีตเมื่อ ครั้งยังไม่มีการแบ่งเขตแดนพื้นที่ทำกินที่ชัดเจน คือ เมื่อพบบริเวณที่เหมาะจะทำมาหากินก็สร้างบ้านเรือน เกาะกลุ่มกันตามธรรมดาของสัตว์สังคม มื่อประชากรมากขึ้นก็กลายเป็นชุมชน แตกต่างกันที่ ชุมชนของชาวเขาตั้งอยู่กลางป่า ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่รัฐบาลให้การคุ้มครอง และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของอีกปัญหาความขัดแย้งระหว่างนโยบายรัฐกับพี่น้องชาว เขา ดังเช่นกรณีของ อาแย่ โซ่เซ หนุ่มอาข่าหน้าตาซื่อๆวัย 32 ปี

แม้จะเกิดและเติบโตบนดอยสูงในอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อาแย่ ไม่มีสถานภาพเป็นราษฎรไทยตามกฎหมาย ตลอดเวลา 32 ปีในชีวิตของเขาก็ไม่ต่างจากบุคคลไร้สัญชาติโดยทั่วไป แต่หลังจากที่ต่อสู้ และรอคอยมานานหลายปี อาแย่ก็ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยอำเภอแม่ฟ้าหลวงเมื่อปลายปี 2551 ที่ผ่านมานี้เอง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขาก็ยังไม่จบสิ้น

ในวันที่ 13 มกราคม ปี 2552 ขณะที่อาแย่กำลังเตรียมดินเพื่อปลูกผักในที่ดินของเขาเอง มีเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้บังเอิญผ่านมาและเข้ามาพูดคุย กับเขา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ฯ ทราบว่าอาแย่เผาพื้นที่บริเวณนั้นเพื่อทำไร่ ก็ดำเนินการจับกุมตัวเขาพร้อมทั้งแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ แล้วจึงส่งเขาไปเข้ารับการสอบสวนที่สำนักงานตำรวจภูธร อำเภอแม่ฟ้าหลวง อาแย่ถูกฝากขังไว้ที่นั่น 1 คืน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 75,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลสำหรับคนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกผักขาย นอกจากนี้เขาต้องไปรายงานตัวที่ สภอ.แม่ฟ้าหลวงทุก 7 วัน เป็นเวลา 3 ครั้ง จนกว่าจะถึงการพิจารณาคดีในชั้นศาล

“ผมไม่ได้เผาป่า ผมเผาวัชพืชแห้งที่ผมถางทิ้งไว้ จะได้เตรียมดินไว้ปลูกผัก…ไม่ได้ตัดต้นไม้เลยสักต้น ตัดแต่วัชพืช… ที่ตรงนั้นเป็นที่เดิมที่ผมใช้ทำกินมา 17 ปีแล้ว ไม่ใช่ที่ใหม่ที่ไปถางมาเพิ่ม จะเรียกว่าผมบุกรุกได้อย่างไร ถามใครในหมู่บ้านดูก็ได้ พวกเราทำมาหากินอยู่ที่นี่มานานตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ต่างคนต่างก็รู้ว่าที่ตรงไหนเป็นที่ของใคร แต่ไม่มีใครมีเอกสารสิทธิ์ เพราะไม่เคยมีใครทำให้ มีแต่ พปพ. (โครงการพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง) มาสำรวจและปักหมุดที่ทำกินไว้ แล้วก็เงียบหายไป…โทรไปตามก็ไม่มีอะไรคืบหน้า เป็นความผิดของผมเหรอที่รัฐไม่จัดการแบ่งพื้นที่ทำกินออกจากป่าสงวนให้ ชัดเจน…” อาแย่กล่าว

การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมาก แต่การประกาศเขตป่าสงวนทับที่ทำกินยังคงเป็นปัญหาที่ ปรากฏแก่ชาวเขาอยู่เนืองๆ บางกรณีชาวบ้านถูกยึดที่ ถูกจับ ถูกปรับ และบางกรณีถึงกับถูกไล่ออกจากที่ที่เขาอยู่อาศัย ทั้งๆที่พวกเขาได้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนก่อเกิดเป็นชุมชนขึ้นมา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวหาว่าคนเหล่านี้ “บุกรุก” ที่ที่ถือว่าเป็น “บ้าน” ของเขาเอง และคงเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันที่จะให้เขาทิ้ง ”บ้านแห่งเดียวของเขา” แล้วไปหาที่อยู่ที่กินที่อื่น

อาแย่ถือว่าเป็นราษฎรชั้นดี แม้ครอบครัวจะไม่มีฐานะร่ำรวย แต่ก็พยายามให้เขาได้เรียนหนังสือจนจบการศึกษาภาคบังคับ เขาจึงสามารถพูด อ่านและเขียนภาษาไทยกลางได้เทียบเท่ากับคนพื้นราบ นอกจากนี้ยังทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตตลอดมา ถ้าหากศาลตัดสินว่าเขาผิดจริง ก็หมายความว่าเขาต้องคืนที่ดินผืนที่เขาใช้หาเลี้ยงครอบครัวมาตลอดชีวิตให้ แก่ทางการ แล้วเขาจะทำอย่างไรต่อไป เป็นคำถามที่ยังไม่ทราบคำตอบ

Copyright © 2018. All rights reserved.