ไม่มีสัญชาติ…ช่องทางถูกเอาเปรียบ

ดูภายนอก เหมย ก็เหมือนเด็กสาวธรรมดาๆคนหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาใกล้ๆ จะเห็นร่องรอยของการตรากตรำจนเกินวัย สาเหตุเนื่องมาจากการที่เธอต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแลกกับค่าตอบแทนเพียง น้อยนิด มิหนำซ้ำ ยังถูกจำกัดอิสรภาพตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี เธออดทนเหนื่อยยากมาตลอด แต่สุดท้ายก็พบว่าผลประโยชน์จากสิ่งที่เธอลงแรงลงไปนั้น ไม่เคยกลับมาสู่ตัวของเธอเองเลย ชะตากรรมของเหมยอาจจะไม่เลวร้ายขนาดนี้ถ้าเธอมีเพียงสิ่งเดียว… “บัตรที่แสดงถึงสิทธิ์ของความเป็นคนไทย”
เหมย เป็นเด็กสาวชาวลาหู่อายุ 19 ปี เธอเกิดในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในเด็กชาวเขาจำนวนมากที่เกิดมาพร้อมกับความ “ไร้สัญชาติ” เหมยเริ่มทำงานเมื่ออายุ 14 ปี เด็กวัยนี้ควรจะมีชีวิตอยู่ในรั้วโรงเรียน และได้ทำตามความหวัง ความฝันของตัวเอง แต่เนื่องจากพ่อกับแม่ของเธอมีฐานะยากจน ต้องเลี้ยงดูลูกถึง 8 คน ลูกสาวคนที่สามอย่างเหมยจึงต้องแบ่งเบาภาระของครอบครัวด้วยการออกจากบ้านมา ทำงานในเมืองโดยการชักชวนจากเพื่อนบ้านชาวอาข่าที่รู้จักกับนายจ้างของเธอ เพื่อนบ้านคนนั้นบอกว่า เหมยจะได้เงินเดือน 2,000 บาท กินอยู่กับนายจ้าง และ จะพาไป “ทำบัตร”
สถานที่ทำงานของเหมยคือร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่งในตัวอำเภอเมืองจังหวัด เชียงราย วันทำงานของเหมยคือทุกวันที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเปิด หรือ 7 วันต่อสัปดาห์นั่นเอง สิ่งที่เหมยต้องทำคือ ตื่นแต่เช้าเพื่อไปจ่ายตลาดกับนายจ้าง จากนั้นก็มาที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเพื่อช่วยนายจ้างทำน้ำก๋วยเตี๋ยว เตรียมเครื่องปรุง จากนั้นเมื่อเปิดร้านก็ทำหน้าที่ลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว ปรุง และเสิร์ฟ โดยช่วยกันกับนายจ้างและภรรยา เมื่อร้านปิดแล้วจึงเก็บของแล้วกลับมาที่บ้านของนายจ้าง แต่งานของเหมยก็ยังไม่เสร็จ หลังจากที่กลับมาถึงบ้านของนายจ้าง เวลาที่ทุกคนที่ได้ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันจะได้พักผ่อนอยู่กับครอบ ครัว เหมยยังต้องทำบะหมี่เพื่อนำไปขายในวันต่อมา ซึ่งปริมาณของบะหมี่ที่เธอต้องทำโดยลำพัง “คนเดียว” และ “ทุกวัน” คือ 20 กิโลกรัม และจะเพิ่มเป็น 40 กิโลกรัม ในวันอาทิตย์ จากนั้นเธอจึงจะได้พักผ่อนเพื่อรอทำงานในวันพรุ่งนี้ ชีวิตของเหมยมีวงจรเช่นนี้มาเป็นเวลา 4 ปี!! และยิ่งไปกว่านั้น เธอยังไม่ได้รับค่าจ้างตามที่คาดไว้
เหมยเล่าว่า คนที่มาทำงานร่วมกับเธอส่วนใหญ่มีอายุมากกว่าเธอ แต่ก็ไม่มีใครอยู่ได้นาน บางคน 1 สัปดาห์ ออกบางคน 1 เดือนก็ออก บางคน 2 วันออกก็มี จึงมีคนงานหมุนเวียนไปจนนับไม่ถ้วน สาเหตุก็เนื่องมาจากงานที่หนักมาก “บางวันทำไปร้องไห้ไปค่ะ ” เหมยเล่า แต่นอกจากงานที่หนักแล้วก็ยังเป็นเพราะนายจ้าง “เบี้ยว” ค่าจ้าง
ครอบครัวของน้องเกตุได้ยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไว้ต่อ อำเภอเมืองเชียงราย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิกระจกเงา เชียงราย แต่เนื่องจากในขณะนั้นน้องเกตุยังเป็นเด็กอายุเพียง 8 ขวบ จึงไม่ได้ยื่นคำร้องร่วมกับคนในครอบครัวต้องกลายเป็นตกหล่น ประกอบกับการที่น้องเกตุไม่มีสูติบัตรหรือหลักฐานอื่นใด ทำให้ในขณะนั้นน้องเกตุจึงต้องกลายเป็นบุคคลที่ไร้ตัวตนในทางกฎหมาย ทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่ การไร้สัญชาติอาจไม่มีความสำคัญมากมายนักหากคนๆนั้นเป็นเพียงคนจริตวิกลที่ ใช้ชีวิตไปวันๆโดยไร้จุดหมาย แต่สำหรับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความฝันจะเป็นนักกฎหมายแล้ว สัญชาติไทยคือใบเบิกทางที่สำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้เธอเดินบนเส้นทางนี้ได้อย่างราบเรียบ
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เหมยทำงานที่ร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งนี้ มีเพียง 3 เดือนแรกเท่านั้นที่เธอได้ค่าจ้างเดือนละ 2,000 บาท หลังจากนั้นนายจ้างใช้วิธีตามใจฉัน “อยากให้เท่าไหร่ก็เท่านั้น เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น” คือ เมื่อเหมยขอเงิน จะได้ครั้งละ 200-300 บาท และให้ใช้เป็นสัปดาห์ แต่บางสัปดาห์ก็ไม่ให้ มักจะให้สัปดาห์เว้นสัปดาห์ และนายจ้างจะบอกว่าเอาเงินบางส่วนซื้อเสื้อผ้าให้แล้ว และบางส่วนก็ให้แม่ของเหมยแล้ว แต่ 1 – 2 เดือนแม่ของเหมยจึงจะมาหาเหมยครั้งหนึ่ง และจะได้เงินจากนายจ้างเพียงครั้งละ 500-1,000 บาทเท่านั้น แม่ของเหมยได้บันทึกไว้ว่า ในปี 2551 ที่ผ่านมาทั้งปี ได้รับเงินจากนายจ้างของเหมยเพียง 10,300 บาทเท่านั้น (เฉลี่ยแล้วเดือนละไม่ถึง 1,000 บาท)
นอกจากนี้ นายจ้างของเหมยยังไม่ยอมให้เหมยออกไปไหนมาไหนตามอำเภอใจ หากเหมยต้องการมาเยี่ยมบ้าน เขาจะขับรถมาส่งและรอรับกลับ เหมยบอกว่านายจ้างยึดทะเบียนบ้าน (ทร. 13) ของเหมยไว้เพื่อไม่ให้เธอหลบหนี (แม่ของเหมยฝากไว้ด้วยหวังว่าจะได้เอาไปทำบัตรให้ลูก)จึงไม่น่าแปลกใจเพราะ เมื่อถูกถามถึงที่อยู่ เหมยจำบ้านเลขที่ของทะเบียนบ้านที่ตนมีชื่ออยู่ไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็นอีกเลยหลังจากที่ได้มอบให้นายจ้างเก็บไว้
เหมยเล่าว่าเธอไม่คิดจะลาออกตั้งแต่ปีแรกๆเพราะยังเด็ก คิดว่ามีหน้าที่ทำงานก็ทำๆไป แต่เมื่อเข้าปีที่สาม เธอเริ่มโตขึ้นจึงคิดได้ว่าทำไมทำงานเหนื่อยขนาดนี้ไม่ได้ค่าจ้าง ทำไปเพื่ออะไร จึงขอลาออก แต่นายจ้างไม่ยอมให้เธอออกเรื่อยมา ยิ่งครั้งหลังที่เธอลาออก สิ่งที่เธอได้รับจากนายจ้างคือการเอาปืนมาจ่อที่หน้าผากพร้อมคำขู่ว่าจะฆ่า ทิ้ง และจะเผาบ้านพ่อกับแม่ของเหมย และที่เหมยออกมาจากบ้านนายจ้างครั้งนี้ได้ก็เพราะตาป่วย และเธอไม่คิดจะกลับไปทำงานที่นั่นอีก
ครูสอนศาสนาท่านหนึ่งพาเหมยกับแม่มาหาเราเพื่อขอให้เราพาเหมยกลับ ไปเก็บเสื้อผ้าที่บ้านนายจ้างอย่างปลอดภัย ขอทะเบียนบ้านคืน และทวงเงินค่าจ้าง
สิ่งที่นายจ้างทำกับเหมยคือการกดขี่ใช้แรงงานเด็ก กักขังหน่วงเหนี่ยว และข่มขู่ประทุษร้าย และที่สำคัญ แม่ของเหมยทราบเรื่องนี้มาโดยตลอด เราถามแม่ของเหมยว่า เหตุใดจึงยอมให้ลูกตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ถึง 4 ปี คำตอบที่เราได้รับคือ “คิดว่าลูกจะได้ทำบัตร”
วันนี้ เหมยเหลือเพียงชีวิตที่ยังรักษาไว้ได้ เสื้อผ้าและเงินอีกน้อยนิด (ที่ยังไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่) สำหรับเวลา 4 ปี ที่หล่อเลี้ยงความหวังที่จะได้มี “บัตรประจำตัวสำหรับคนสัญชาติไทย” สักใบหนึ่ง แต่ก็สูญเปล่า ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนที่คนไร้สัญชาติอย่างเธอจะไม่ต้องถูกใครกดขี่ แสวงหาประโยชน์จากความ “ไร้ตัวตน” ของเธอ ประโยคที่อยู่ในใจของเหมยคงไม่พ้น “ถ้าเธอมีบัตร (ประชาชน) เขาจะกล้าทำเช่นนั้นกับเธอไหม” หรือ “ถ้าเธอมีบัตร แม่คงไม่ทนให้เธออยู่กับคนใจร้ายเช่นเขา” หรือ “ถ้าเธอมีบัตร…เธออาจจะไม่ต้องมาอยู่กับนายจ้างคนนี้ตั้งแต่แรก” และเพียงแต่ “ถ้าเธอมีบัตร…”
Copyright © 2018. All rights reserved.