ไม่มีความรู้ แปลว่าไม่มีสิทธิทางกฎหมาย ?

บ่าย วันที่ 8 ตุลาคม 2550 งานศพของอาแผ่ อามอ จัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่เนินเขาเล็กๆ ในหมู่บ้านหนองผักหนาม จ.เชียงราย เสียงชาวบ้านร่วมกันกล่าวบทสวดจากคัมภีร์ไบเบิลดังไปทั่วบริเวณ อาโป นัยนา และสมชาย ถือช่อดอกไม้ กำลังมองก้อนดินที่ค่อยๆทับถมบนโลงศพนางอาแผ่… แม่ของพวกเขา…
อาแผ่ อามอ วัย 42 ปี เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆที่ชื่อว่า หนองผักหนาม เขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีอาชีพรับจ้างทำสวนเพื่อนำรายได้มาเลี้ยงดูลูกๆทั้ง 3 คน เธอเป็นชาวบ้านตัวเล็กๆคนหนึ่งที่เรียกได้ว่าแทบไม่มีอำนาจใดๆในสังคม
แต่ นั่นไม่ได้หมายความว่า เธอจะไม่มีสิทธิตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นแผ่นดินที่เธอถือกำเนิดและอาศัยอยู่
เย็นวันที่ 4 ตุลาคม 2550 อาแผ่ทำงานในสวนเสร็จเรียบร้อย และกำลังนั่งรถกลับบ้านพร้อมกับเพื่อนอีก 15 คน แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อรถรับจ้างของบริษัทบุญรอดพยายามเร่งเครื่องเพื่อขึ้นทางชัน แต่กำลังเครื่องไปไม่ไหวและไถลลงมา ด้วยความตกใจและสัญชาตญาณการรักษาชีวิต อาแผ่ตัดสินใจกระโดดออกมาจากตัวรถ แต่รถยังไม่หยุด มันไหลทับร่างของอาแผ่ เธอเสียชีวิตทันที
ตามกฎ กระทรวงฉบับที่ 6 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 รถของบริษัทซึ่งได้ทำประกันไว้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อความสูญเสียใน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถคันนั้น โดยต้องชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท และจ่ายอีกจนครบ 100,000 บาท
กฎ กระทรวงกำหนดความเสียหายที่จะให้ได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น และการร้องขอรับและการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น พ.ศ. 2547
ข้อ 3 จำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) จำนวนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท สำหรับความเสียหายต่อร่างกาย
(2) จำนวนสามหมื่นห้าพันบาท สำหรับความเสียหายต่อชีวิต
(3) จำนวนตาม (1) และ (2) รวมกัน สำหรับผู้ประสบภัยที่ถึงแก่ความตายหลังจากมีการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลหรือ สถานพยาบาล
ข้อ 6 การจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(3) ให้จ่ายให้เสร็จเรียบร้อยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับ คำร้องขอตามข้อ 4 ทั้งนี้ โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความรับผิด
แต่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลูกๆของอาแผ่ ได้แก่ อาโป นัยนา และสมชาย วัย 21,18 และ14 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ต้องใช้เงินศึกษาเล่าเรียนอยู่ ได้รับเงินชดเชย จากคนขับ 15,000 บาท และยังไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆจากบริษัทเจ้าของรถ โดยสาร คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เงินจำนวนนี้คงไม่สามารถทดแทนชีวิตของคนทั้งคนได้ ไม่สามารถช่วยให้ลูกๆได้เรียนจนจบเสียด้วยซ้ำ…
เรื่อง ราวของอาแผ่ก็คงจะจบลงเพียงเท่านี้ เหมือนกับชาวบ้านคนอื่นๆที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่รู้กฎหมาย หากไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ให้คำแนะนำว่าพวกเขามีสิทธิอะไรบ้างในฐานะที่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดิน ไทยเช่นกัน พวกเขาผิดด้วยหรือที่ไม่มีเงินเพียงพอจะไปเรียน ผิดด้วยหรือที่เขาอาศัยอยู่ในที่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีความสามารถในการติดตามรับเงินประกัน…หากคำตอบของทุกคนตอบว่า “ไม่” ก็คงไม่มีการเอาเปรียบกันเช่นนี้ และก็คงจะรู้หน้าที่ของตนว่าต้องชดใช้ค่าเสียหายเท่าใด ชีวิตของคนคนหนึ่งแม้จะไม่สามารถตีค่าเป็นเงินตราได้ แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราก็ควรรับผิดชอบต่อความสูญเสีย และยิ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ด้วยแล้ว ยิ่งควรแสดงความรับผิดชอบอย่างที่สุด
คนส่วนใหญ่อาจมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเล็กๆและไกลตัว เสียเหลือเกิน แต่สำหรับลูกๆของอาแผ่และชาวบ้านหนองผักหนามแล้ว นอกจากเสียแม่ไปแล้ว มันหมายถึงการสูญเสียกำลังใจ และอนาคตของคนอีกหลายชีวิตที่อยู่เบื้องหลัง เพียงเพราะไม่รู้สิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ และหากพวกเราคนไทยยังเอาเปรียบกันเช่นนี้ จะต้องมีอีกกี่ชีวิตที่สูญเสียไปอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรมดังเช่นอาแผ่
/11 ต.ค.50 / บุ้ง
Tue, 05/07/2013
Copyright © 2018. All rights reserved.