โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ“การจัดการปัญหาสถานะบุคคล”ในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 22 – 23 กันยายน 2556 ที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมภายใต้ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ การจัดการปัญหาสถานะบุคคล” ในประเทศไทย สนับสนุนโดย องค์กรไออาโกเนีย ประเทศไทย จัดโดยศูนย์ประสานงานด้านสถานะและสิทธิบุคคล (ศสบ.) ณ โรงแรมฟูราม่า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และคณะทำงานองค์กรเครือข่าย รวม 20 องค์กร มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งสิ้น 30 คน

เน้นกลุ่มเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในกรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา และจังหวัดตาก รวมไปถึงองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านสถานะบุคคล รวม 32 องค์กร ที่ทำงานในพื้นที่รอยต่อตะเข็บชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ปัญหาการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของประชากรในแถบนั้น จนบางรายยากที่จะสืบค้นที่มาของถิ่นกำเนิด ลากยาวปัญหาด้านสถานะบุคคลมาถึงปัจจุบัน

จากปัญหาด้านสถานะบุคคล ด้านทะเบียนราษฎร ด้านการพิสูจน์ตัวบุคคล ฯ ผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องโดยตรงต้องใช้ความรู้ความรอบคอบที่ค่อนข้างมีรายละเอียดมาก ทั้งกฎหมาย ระเบียบ กฎกระทรวง มติคณะรัฐมนตรีและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์หรือที่เรียกว่าบริบททางสังคม

ที่ผ่านมาทางผู้ปฏิบัติงานได้ทำหน้าที่ลองผิดลองถูก ไม่กล้าตัดสินใจหรือดำเนินการ จึงส่งผลกระทบทั้งตนเอง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบัน องค์กรได้เกิดความเสียหายส่งผลกระทบถึงคุณภาพของผลการดำเนินงานจึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการเสริมสร้างทักษะ พัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีความรู้ที่เป็นปัจจุบันและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องและถูกวิธี

เน้นเสริมสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในเรื่อง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร และระเบียบที่เกี่ยวข้อง , พ.ร.บ.สัญชาติ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง,นโยบายการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลในประเทศไทย ผ่านกระบวนการบรรยาย แบ่งกลุ่มย่อยร่วมคิด วิเคราะห์ และฝึกปฏิบัติการณ์ในสถานการณ์จริง รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงาน ให้มีเทคนิค ทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและกำหนดสถานะบุคคล และสร้างผู้นำในการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและเกิดเครือข่ายความร่วมมือในอนาคต

ปัญหาที่ผู้เข้าร่วมอบรมร่วมกันเสนอเพื่อหาทางออกและแนวทางการแก้ไขปัญหา หลัก ๆ มาจากการไม่เท่าทันกฎหมายที่มีการปรับใช้ และการยึดถือแนวปฏิบัติในรูปแบบเดิม ๆ และปัญหาหลักอีกปัญหาที่เป็นปัญหาสำคัญคือ ตัวชาวบ้านกลุ่มปัญหาเองที่ยังไม่เข้าใจปัญหาของตัวเองในเรื่องสถานะบุคคล ความล่าช้าในการสื่อสารระหว่างหน่วยงานของรัฐและเจ้าของปัญหา รวมไปถึงปัญหายักษ์ใหญ่ที่ยังเป็นเหรียญสองด้านในสังคม เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในบางพื้นที่ที่ชาวบ้านต้องตกเป็นเหยื่อการเรียกเก็บเงินในบางขั้นตอนของกระบวนการขอสถานะบุคคล แล้วเราจะช่วยกันตัดช่องทางหาเงินบนความเดือนร้อนของชาวบ้านได้อย่างไร นี่หละคือปัญหาใหญ่ให้ได้ครุ่นคิดจากการอบรมในครั้งนี้

รัชนีวรรณ สุขรัตน์ : เรียบเรียง

Copyright © 2018. All rights reserved.