วัฒนธรรม คือต้นแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมของเด็ก

ในสภาพสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้คนได้เรียนรู้และรับวัฒนธรรมแปลกใหม่อย่างไม่เคยหยุดนิ่ง การจัดการเรียนการสอนตามระบบและหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เข้าไปสู่ชุมชน ส่งผลให้เด็กและเยาวชนละเลยภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงการสืบทอดรักษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิม มุ่งแต่จะออกจากชุมชน และนำความทันสมัยทางเทคโนโลยีเข้าไปถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนแทน ดังนั้น โครงการการพัฒนาระบบและกลไกการทำงานระดับพื้นที่ในรูปแบบของเครือข่ายเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงมุ่งพัฒนาคุณภาพของเด็กและเยาวชนผ่านกระบวนการเรียนรู้ และการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้ขับเคลื่อนชุมชนและโรงเรียนที่มีศักยภาพเป็นต้นแบบ ด้านการจัดการเรียนรู้ในชุมชนท้องถิ่น โดยเปิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในการค้นหาวิธีการดำเนินชีวิตและการงานอาชีพที่หลากหลายด้วยกระบวนการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ด้วยการสร้างความเข้าใจร่วมกัน
นางสาวลำยอง เตียสกุล ผู้ประสานงานโครงการการพัฒนาระบบและกลไกฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว มีเป้าหมายการพัฒนาระบบและกลไกการจัดการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน ด้วยการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยดำเนินงานใน 7 ชุมชน 7 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคใต้ เครือข่ายโรงเรียนตักวาชุมชนศรัทธา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และ จังหวัดนราธิวาส ภาคกลาง เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคอีสานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลเมืองเสนานิคมและเครือข่ายเด็กเยาวชน อำเภอเสนานิคม จังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่มเด็กเยาวชนลูกอีสานหลานทรายมูล จังหวัดยโสธร ภาคเหนือ เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง จังหวัดเชียงใหม่และเครือข่ายเด็กเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง โดยการจัดกิจกรรมของภาคเหนือดังกล่าว โครงการได้ร่วมกับสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) หรือ IMPECT ซึ่งเป็นเครือข่ายทำงานร่วม ที่มีเป้าหมายเดียวกัน โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เพื่อการอยู่ร่วมอย่างสันติ (Intercultural Education; Peaceful Living Together) เสริมศักยภาพการเป็นแกนนำของเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ให้สามารถสืบค้นบทเรียนและร่วมวางแผนดำเนินงานบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน
นางวิไลลักษณ์ เยอเบาะ หัวหน้ากลุ่มงานฟื้นฟูวัฒนธรรมและการศึกษาทางเลือก (สมาคม IMPECT) กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา เน้นให้ชุมชนจัดการเรียนรู้ ร่วมกัน ส่งเสริมพลังเดิมเพื่อคืนอำนาจให้ชุนชน ในการวางแผนตัดสินใจ ร่วมกันจัดการเรียนตามความต้องการและความเหมาะสมกับชุมชน โดยเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนด้วยการพูดคุยเรื่องใกล้ตัว สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และออกแบบกิจกรรมที่จะส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาสมาคม IMPECT ได้เห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง 9 กลุ่มชาติพันธ์ คือ กะเหรี่ยง คะฉิ่น ดาราอาง ม้ง เมี่ยน ละหู่ ลเวือะ ลีซู และอ่าข่า ให้ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม
นายวิน ละวัน ผู้รู้จากเผ่าดาราอาง พูดถึงการฟื้นฟูวัฒนธรรมของเผ่าว่า ขณะนี้เด็กรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชนเผ่ามากขึ้น เช่น การทอไหมพรมเพื่อใช้ในงานบุญ การจักสาน รวมถึงการให้ความสนใจกับภาษาแม่อย่างจริงจัง แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องเวลาที่ผู้รู้จะถ่ายทอดวัฒนธรรมต่าง ๆ ให้กับเด็กที่ไม่ตรงกัน
ด้านนายหยั่ว ถนอมรุ่งเรือง อดีตผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งกลายมาเป็นผู้รู้จากเผ่าม้ง กล่าวว่า อุปสรรคการจัดการศึกษาของชุมชน คือ ไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนโดยตรง ตนเองเกรงว่า วัฒนธรรมของชนเผ่าจะตกหาย หากไม่ทำจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านภาษาม้ง เพราะภาษาม้ง จะมีตัวหนังสือที่เป็นภาษาพูดโดยเทียบเสียงกับตัวอักษรอังกฤษเท่านั้นไม่มีตัวหนังสือภาษาเขียน ทำให้สำเนียงพูดเพี้ยนไปหมด
ด.ช. ชนกันต์ ทวีพนารักษ์ อายุ 12 ปี ขณะนี้ศึกษาอยู่ชั้นป.6 โรงเรียนดอยแสนใจ (ตชด.อนุสรณ์) จ.เชียงราย ชนเผ่าอาข่า เป็นอีกหนึ่งที่มีหัวใจรักบ้านเกิด กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่หมู่บ้านร่วมกันออกแบบวางแผนกระบวนการและฝึกเป็นผู้เอื้อโดยใช้ปรัชญาการเรียนรู้และปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม โดยผู้ใหญ่ใจดีให้การสนับสนุนให้ผู้รู้ จัดทำหนังสือแบบเรียนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ จัดกิจกรรมในวันเด็กให้รู้สิทธิเด็ก อนุรักษ์สร้างผลิตภัณฑ์ของอาข่าให้เด็กตัดเย็บเสื้อผ้าเอง ซึ่งตนเองต้องการให้มีผู้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของหมู่บ้านให้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้บนความต่างของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ถือเป็นฐานรากของการศึกษาที่เหมาะสมแก่การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อการสร้างการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน และสังคม

ข้อมูลข่าวและที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th

Copyright © 2018. All rights reserved.