‘โรงเรียนในไร่ส้ม’ ผ่าการศึกษาเด็กไร้สัญชาติ

โรงเรียนในไร่ส้ม’ ผ่าการศึกษาเด็กไร้สัญชาติท่ามกลางสายลมหนาวยามค่ำคืน หลายคนซุกกายอยู่ใต้ผ้าห่ม เข้าสู่นิทรารมย์อันแสนสุข แต่ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งกำลังตักตวงความรู้กลางไร่ส้ม

ท่ามกลางสายลมหนาวยามค่ำคืน หลายคนซุกกายอยู่ใต้ผ้าห่ม เข้าสู่นิทรารมย์อันแสนสุข แต่ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งกำลังตักตวงความรู้กลางไร่ส้ม ซึ่งจะกลายเป็นสมบัติติดตัวของพวกเขาในอนาคต และเป็นอาวุธชิ้นสำคัญในการเลือกประกอบอาชีพ แทนที่จะกระโจนเข้าสู่ตลาดขายแรงงานเพียงอย่างเดียว

ด้วยเหตุผลทางสังคมและฐานะความเป็นอยู่ ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่สามารถเข้าเรียนตามระบบการศึกษาปกติได้ ห้องเรียนธรรมชาติ “โรงเรียนในไร่ส้ม” จึงเป็นอีกหนี่งทางออกที่จะทำให้พวกเขา เข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิเด็ก

โรงเรียนในไร่ส้ม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้ของเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ลูกหลานแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทย เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่เล็งเห็นความสำคัญด้านการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เชียงใหม่ ครูจิตอาสาจากกลุ่มเพื่อนเด็ก องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ และภาคเอกชนอย่าง เจ้าของไร่ส้ม และแสนสิริ ภายใต้โครงการศูนย์การเรียนรู้จากไร่ส้มสู่ป่าคอนกรีต

โรงเรียนบ้านหล่ายฝาง ศูนย์การเรียนเด่นเวียงชัย ต.แม่ข่า อ.ฝาง โรงเรียนในไร่ส้มตอนกลางวัน เป็นหนึ่งใน 7 แห่งของโครงการนี้ เด็กเกือบทั้งหมดจะเป็นชนเผ่าไทยใหญ่ และดาราอั้ง อีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่เราไม่คุ้นนัก การเรียนการสอนของที่นี่จะมีวิชาเรียนเหมือนกับการศึกษาในระบบทุกอย่าง รวมไปถึงพื้นฐานทักษะการใช้ชีวิต

คุณอดุลย์ ดวงดีทวีรัตน์ คุณครูจิตอาสา กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้เริ่มต้นมาเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว โดยครูแสงดาว วงษ์ปา ครูชาวไทยใหญ่ที่ต้องการสอนให้เด็ก ๆลูกหลานแรงงานต่าง ด้าว กลุ่มชาติพันธุ์ อ่านออกเขียนได้ สื่อสารกับเจ้าของสวนส้มได้ ซึ่งเด็กเหล่านี้ก็ติดตามพ่อแม่มาทำงานด้วย หากไม่ได้ร่ำเรียนเมื่อเขาเติบโตเขาก็ทำอาชีพได้เพียงขายแรงงาน เพราะพวกเขาเขียนอ่านหนังสือไม่ได้ โดยปัจจุบันมีเด็กนักเรียนในโครงการราว 300 คน

ครอบครัว “นุงคำ” อย่าง ลาม อายุ 36 ปี เดือนไส อายุ 32 ปี พ่อ แม่และลูกอีก 3 คน ประกอบไปด้วย น้องนุย–อาทิตย์ อายุ 10 ขวบ, น้องจิน–จิตนา อายุ 5 ขวบ และ น้องนิว–ดนัย อายุ 3 ขวบ ต่างก็เป็นนักเรียนในโครงการ โดยกลางวันจะนำลูก ๆ มาฝากเรียนที่บ้านหล่ายฝาง เย็นก็จะมารับกลับ ส่วนตนเองก็จะเรียนตอนกลางคืน

ศูนย์การเรียนหนองงูเหลือม ต.แม่สูน อ.ฝาง เป็นโรงเรียนไร่ส้มตอนกลางคืน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่กลางวันต้องทำงานในไร่ และใช้เวลากลางคืนหลังเลิกงานเรียนหนังสือ การเรียนจะเน้นให้อ่านออกเขียนได้ ให้สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ทักษะการใช้ชีวิต เช่น กินร้อน ช้อนกลาง รวมไปถึงความรู้ด้านสุขภาพอื่น ๆ อาทิ การป้องกันอันตรายจากการฉีดพ่นยาในไร่

การเรียนการสอนในโรงเรียนในไร่ส้ม จะเป็นการสอบแบบชั้นคละ เพราะแต่คนจะมีพื้นฐานที่ต่างกัน อายุต่างกัน และจำนวนนักเรียนก็จะไม่คงที่ เพราะบางทีเด็กก็ต้องไปช่วยพ่อแม่ทำไร่เพื่อหาเงิน ทำให้มาเรียนไม่ได้ และการสอนจะเน้นเตรียมความพร้อมให้เด็กมีพื้นฐาน สามารถเข้าไปเรียนในระบบเหมือนเด็กปกติได้ในอนาคต ซึ่งก็มีเด็กหลายคนแล้วที่ไปเรียนต่อในตัวเมืองเชียงใหม่และได้วุฒิการศึกษาเหมือนเด็กไทย

“การศึกษาถือเป็นสิทธิที่เด็กเหล่านี้ควรจะได้รับ เพื่อให้เขามีอนาคตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามผลักดันให้เขามีใบเกิด เพราะเด็ก ๆ เขาเกิดในประเทศไทย แต่เพราะความไม่รู้ ทำให้พ่อไม่ได้ไปแจ้งเกิดตามกฎหมาย และทำให้เขาต้องกลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ” ครูอดุลย์ กล่าว

ด้านนายพรทัต อมตวิวัฒน์ กรรมการบริษัท แสนสิริ จำกัด กล่าวว่า เราเล็งเห็นความสำคัญเรื่องสิทธิเด็ก จึงได้ร่วมมือกับองค์กรยูนิเซฟ ช่วยเหลือให้เด็กเข้าถึงสิทธิที่เขาควรได้ โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพราะการศึกษาจะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ภายในองค์กรของเราเองก็พยายามผลักดันเรื่องสิทธิเด็กให้เกิดเป็นรูปธรรม คือ ให้ความรู้แก่พนักงานในองค์กร และสนับสนุนให้เป็นจิตอาสา, เนื่องจากเราเป็นภาคเอกชนที่ทำด้านอสังหาริมทรัพย์ มีไซต์งานก่อสร้างกว่า 200 แห่ง ดังนั้นเราจึงมีเงื่อนไขว่าบริษัทที่เข้ามาก่อสร้างกับเราจะต้องไม่ใช้แรงงานเด็ก รวมไปถึงสนับสนุนให้มีโรงเรียนในไซต์งาน

การศึกษาเป็นอีกหนึ่งสิทธิที่เด็กควรจะได้รับ ไม่ว่าเขาจะเป็นเด็กไร้สัญชาติก็ตาม!!!.

ทีมเดลินิวส์ 38y_38@dailynews.co.th

Copyright © 2018. All rights reserved.