สูญงบปีละ 100 ล้าน จากแรงงานต่างด้าว คลอดลูกเมืองไทย

สปส.เล็งหาทางแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวคลอดลูกในไทย จนต้องควักจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรปีละ 100 ล้านบาท โดยพบ 3 จังหวัดแหล่งใหญ่ “กทม.-สมุทรสาคร-ระนอง” เบิกจ่ายมากสุด อนาคตส่อจ่ายอ่วม หลังยอดแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วกว่า 4 แสนคน เตรียมวาง 2 แนวทางให้นายจ้างซื้อประกันชีวิต หรือจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมแยกต่างหากแบบหลายประเทศทำกัน

ปัญหารัฐต้องแบกรับภาระคุ้มครองแรงงานต่างด้าวตามสิทธิเท่าเทียมคนไทย 7 กรณี รวมถึงมีการเบิกจ่ายค่าสงเคราะห์บุตรปีละกว่า 100 ล้านบาทในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการปรับปรุงระบบประกันสังคมของแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ และเข้าสู่ระบบประกันสังคมกว่า 4 แสนคนว่า ขณะนี้ สปส.กำลังศึกษาแนวทางดูแลแรงงานต่างด้าวในระบบประกันสังคมใน 2 แนวทาง คือ 1.ให้นายจ้างซื้อประกันชีวิตให้แก่ลูกจ้างต่างด้าว ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 3-4 กรณี 2.จัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม สำหรับแรงงานต่างด้าวขึ้นมาโดยเฉพาะ และ สปส.กำลังศึกษาแนวทางการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ในต่างประเทศ ว่ามีการดำเนินการในลักษณะไหน เนื่องจากหลายประเทศมีการแยกกฎหมายประกันสังคมระหว่างประชากรของประเทศตนเองกับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานอย่างชัดเจน เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการ เพราะแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานเพียงไม่กี่ปีก็ต้องเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทาง

รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นพบว่า หลายประเทศมีการจัดการกฎหมายประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวขึ้นมาโดยเฉพาะ จะไม่รวมกับประชากรของประเทศตัวเอง และรัฐบาลไม่ต้องร่วมจ่ายเงินสมทบให้กับแรงงานข้ามชาติเหล่านั้น โดยจะมีเพียงฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้นที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน รวมทั้งไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์ในกรณีคลอดบุตรสงเคราะห์บุตร และว่างงาน เหมือนกับไทย ส่วนเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพต่อไปอาจจะต้องเปลี่ยนจากเงินบำนาญชราภาพให้เป็นเงินบำเหน็จแทน โดยเงินก้อนนี้จะจ่ายคืนให้เมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทาง

“ขณะนี้เป็นเพียงการศึกษาแนวทาง ยังไม่มีข้อสรุปใดๆจะต้องไปหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครือข่ายผู้ทำงานกับแรงงานต่างด้าวว่าควรใช้แนวทางใด ก่อนหน้านี้ได้มีข้อเรียกร้องจากเครือข่ายฯขอมีส่วนร่วมจัดทำร่าง พ.ร.บ.หากจะจัดทำร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาก็ต้องให้เป็นไปอย่างเหมาะสม คาดว่าสิ้นปีนี้จะจัดทำร่าง พ.ร.บ.ได้แล้วเสร็จ” นายโกวิทกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามนโยบายกระทรวงแรงงาน นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว กัมพูชา และพม่า ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ มีใบอนุญาตทำงานและหนังสือเดินทาง จะแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เมื่อลูกจ้างแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและนำส่งเงินสมทบจะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณีเท่าคนไทย ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วประมาณ 4 แสนคน จากยอดจดทะเบียนและรอรับรองสถานะ 1.5 ล้านคน มีการใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตรปีละกว่า 100 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละกว่า 10 ล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรสาคร และระนอง ทั้งนี้ สปส.คาดว่าในอนาคตจะต้องจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรต่างด้าวเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้มีแนวคิดที่จะจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวขึ้นมาโดยเฉพาะ

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/522333

Copyright © 2018. All rights reserved.