จากวันนั้นกว่าจะถึงวันนี้ เพื่อพี่น้องม้งบ้านธารทอง

ประมาณช่วงกลางปีถึงปลายปี ๕๖ เป็นครั้งแรกที่ได้ไปสัมผัสและรู้จักพี่น้องม้งบ้านธารทอง การไปครั้งนั้นไปเพื่อรู้จักความเป็นมา ประมาณว่ารู้จักฉันรู้จักเธอกับทีมพี่แสง พปส. การเดินทางครานั้นไม่คิดอะไรเยอะคิดแค่ว่าพื้นที่ใหม่ในมุมเราที่ยังมีปัญหาด้านสถานะบุคคล แต่ด้วยเรื่องราวปัญหาที่ขับขานไหลเข้ามาเรื่อย ๆ ให้เราได้รับรู้รับฟัง มันเป็นปัญหาซับซ้อนมากมายที่ชวนค้นหาอย่างจริงจัง จำได้ว่าครั้งแรกก่อนจากลา เราสวัสดีบอกลา แต่ด้วยคำพูดของพี่ ๆ ๔ หนุ่มแห่งธารทอง (พี่ล่อ, พี่เยี่ยปาว , พี่ไซ ,พี่ลี แซ่ซ่ง) ที่ว่า “วันนี้เราไม่ลากันนะ เดี๋ยวเราก็มาเจอกันใหม่” ได้แต่นั่งคิดในใจ เราได้เจอกันอีกเหรอ ด้วยโชคชะตาฟ้าลิขิตเราได้มาเจอกันอีกครั้ง ครั้งนี้เรานัดกันบริเวณอำเภอเชียงแสน ก่อนเดินทางเข้าพื้นที่ เราได้มารับฟังเรื่องราวความเป็นมาความเป็นไปของพวกเขาเป็นช่วงเวลาบางช่วงของจังหวะชีวิตที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตแหวกแนวกว่าคนแบบเราๆ ในพื้นที่การสู้รบ และหมู่บ้านม้งในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี เรื่องราวคนหนึ่งคนมีเรื่องเล่ามากมาย ถ้าเขียนออกมาคงได้หลายหน้ากระดาษ แต่มันมิใช่ประเด็นในเวลานี้ เอาเป็นว่าค่อยเขียนหละกันนะเรื่องราวช่วงชีวิตที่ว่านี้
อีกครั้ง และอีกครั้ง จนมาถึงครั้งนี้ งานใหญ่ที่เฝ้ารอมาถึง เมื่อเครือข่ายสถานะบุคคล จังหวัดเชียงราย เราพร้อมลุย…ผนึกกำลังกันสี่มูลนิธิในจังหวัดเชียงราย มาลงแรงรวมหัวแบ่งปันความคิดเพื่อพิชิตเอาความเป็นไทยมาให้พี่น้องม้งบ้านธารทองให้จงได้ ถ้าพวกเขาเหล่านั้นเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด การแต่งตั้งคณะทำงานก็ได้เกิดขึ้นในบัดนั้น
๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ ก้าวแรกในการช่วยเหลือด้านสถานะบุคคลที่เราเริ่มก้าวเดินไปพร้อม ๆ กัน วันนี้เรานัดคุยกับทางสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน ปลัดศิริวุฒิ สงวนศักดิ์ ตัวแทนสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน การพูดคุยวันนั้นเราได้คุยกันถึงทิศทาง แนวทางในการทำงานร่วมกัน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับในระดับดี แต่จะดีแค่ไหนยังไม่มีใครตอบได้ในวันนั้นเรางานยังไม่เริ่มอย่าเพิ่งนับหนึ่ง มันเป็นแค่การเริ่มต้นแค่ ๐.๑ เท่านั้นเอง
๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ก้าวที่สองของการขยับงานเพื่อพี่น้องม้งบ้านธารทอง ครั้งนี้เราในนามเครือข่ายสถานะบุคคลจังหวัดเชียงราย ไปร่วมกิจกรรมอำเภอยิ้ม ที่โรงเรียนบ้านไร่ ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน ในวันนี้เราได้เจอและพูดคุยร่วมวงสนทนาระหว่างทีมเครือข่าย ชาวบ้านกลุ่มเจ้าของปัญหา และ สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน บรรยากาศในก้าวที่สองนี้เราเริ่มมองเป็นแสงรำไรที่ลอดช่อประตูเพื่อรอวันที่เราจะเดินไปเปิด แต่ไม่มีงานไหนไม่มีปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะฟันฝ่าไปอย่างไรเท่านั้นเอง ตามข้อตกลงและรับรู้ร่วมกันในวันนี้คือ เรานัดหมายชาวบ้านกลุ่มที่มีปัญหาเพื่อเตรียมเอกสารในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ และในการลงปฏิบัติงานทางสำนักทะเบียนฯจะส่งเจ้าหน้าที่มาประจำด้วยทุกครั้ง
๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ก้าวที่สามของเราในวันนี้เรานัดหมายชาวบ้านเพื่อจัดคิวและคัดกรองเอกสาร แต่ด้วยระยะทางจากเชียงราย-เชียงแสน-บ้านม้งธารทอง ต้องใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง เรานัดหมายกันแต่เช้าตรู่เพียงหวังว่าไม่อยากให้ชาวบ้านรอคอย แต่ด้วยสภาพอากาศที่กลั่นแกล้งหรือทดสอบคนทำงานก็ไม่อาจคาดเดาได้ ฝนเทลงกระหน่ำตั้งแต่กลางคืนมาหยุดตอนเช้าตรู่ แต่นั้นไม่ใช่ปัญหาเพราะชาวบ้านเฝ้ารอมาแล้วชั่วชีวิต ปัญหาแค่นี้มันน้อยนิดนัก ถึงหมู่บ้านตามคาดหมายชาวบ้านมานั่งรอด้วยความความหวัง การทำความเข้าใจเพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกันก็ได้เริ่มต้นขึ้น กว่าจะหมดวันเล่นเราเกือบหมดพลังเลยทีเดียว เพราะปัญหาหลากหลายจากคนหลายคนที่เราและเขาต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน แต่ก็จบการก้าวเดินได้ด้วยดีในก้าวที่สาม
ก้าวที่สี่ไปสู่ก้าวที่ไม่สิ้นสุด การก้าวครั้งนี้เราเริ่มออกเดินกันตั้งแต่วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๗ วันนี้เราเตรียมพร้อมทีมภาคสนาม ทำความเข้าใจ ม.๒๓ ว่าแต่ ม.๒๓ คืออะไรหละ ใครไม่รู้จักก็ได้เรียนรู้กันวันนี้ มาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔)พ.ศ.๒๕๕๑ สำหรับคนที่ผ่านสนามนี้มาบ้างคงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร แต่เรา ๆ น้องใหม่มือสมัครเล่นมันก็หนักหนาพอควร แต่ด้วยข้อคิดที่ว่า” ทุกอย่างไม่ยากเกินที่จะเรียนรู้ ความรู้อยู่คู่ประสบการณ์” มันคือหนึ่งแรงขับในห่วงความคิดที่คนทำงานแบบเราฮึดสู้….และแรงขับที่สร้างพลังในการเดินทางครั้งนี้ “ชาวบ้านสู้มาทั้งชีวิต เรามาเริ่มเพียงน้อยนิดจะรีบเหนื่อยทำไม” คำพูดที่เราพูดกันบ่อยให้กำลังใจกันเองในทีมภาคสนาม วันนี้พี่ ๆ แจ้งข่าวดีว่ามีองค์กรเครือข่ายจากเชียงใหม่จะมาสมทบเพื่อลุยงานนี้ด้วยกัน เสียง เย้….ดังก้องอย่างน้อย ๆ เราก็มีกำลังหลักเพิ่มขึ้น เราไม่เดียวดายในสนามนี้แล้ว นี่หละสิ่งที่มองเห็นและเป็นแรงใจที่จะเดินเคียงข้างกันในส่วนของงานองค์กรเครือข่ายที่จะมาช่วยกันในสถานการณ์ที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งยามต้องเจอปัญหาและต้องการกำลังหนุน
๔ กันยายน ๒๕๕๗ เราเดินลงสนามแรก ถามว่าพร้อมไหม ตอบไปเลยอย่างไม่อายด้วยเสียงที่ดังกังวานว่า “ พร้อมค่ะ ทั้งที่ในใจหวั่น ๆ กล้า ๆ กลัว” คนไม่เคยคงไม่แปลกหรอกนะที่จะมีอารมณ์นี้ แต่ถ้าผ่านจุดนี้ไปได้เราจะไปได้ฉลุยเลยหละ มองซ้ายขวาเพื่อนเราทั้งนั้นจะกลัวอะไรจับมือเดินไปด้วยกัน อย่าหวั่นแม้จะเจอขวากหนาม
เพราะความผิดพลาดของใคร จึงต้องมีวันนี้ ?… ความผิดของชาวบ้านรึก็คงไม่ใช่ที่ทะเบียนประวัติฯหายไปจากอำเภอ ? ว่าแต่ความผิดใครหละ….ถ้าการเยียวยาในวันนี้จะส่งผลต่ออนาคตที่สวยงามก็คงจะดีไม่น้อยกับชีวิตบนผืนดินไทยที่ได้เป็นคนไทยอย่างเต็มภาคภูมิ….ของกลุ่มพี่น้องม้งถ้ำกระบอกบ้านธารทอง กว่า 54 คน
นายพิธาสรวง จันทร์ฉายฉัตร หัวหน้างานทะเบียนชนกลุ่มน้อย ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักทะเบียนกลาง พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อทำทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูง ตามแผนแม่บทฉบับที่สอง ของกลุ่มพี่น้องม้งถ้ำกระบอกบ้านธารทอง หมู่ 11 ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อทดแทนทะเบียนประวัติฯ ฉบับที่สูญหาย มีชาวบ้านทั้งสิ้น 54 คนจาก 8 ครอบครัวที่เข้ารับการทำทะเบียนประวัติฯทดแทนฉบับเดิมที่สูญหายในวันนี้ ว่าแต่เอกสารไปไหนหนอ ??? จะว่าดำดินก็คงไม่ใช่ คิดสิคิด….คำตอบคือ คิดไม่ออก หน้าที่เราลุยต่อ…ช่วงนี้คำว่า “ลุย สู้”กรอกหูทุกวันเลย จนเอาไปฝันกันเลยทีเดียวเชียว
๕ กันยายน ๒๕๕๗ เรายังลุยกันต่อสองวันนี้ (๔-๕ กันยายน) เราเน้นเริ่มรับคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.๒๕๕๑ ให้กับกลุ่มพี่น้องม้งถ้ำกระบอกบ้านธารทอง ที่ถือบัตรหัว ๖
๖-๗ กันยายน ๒๕๕๗ ขอทีมงานชาร์ตพลังแป็บ เพื่อพร้อมลุยต่อ
๘ กันยา ถึงวันนี้ ๒๔ กันยา ๕๗ มีเรื่องราวมากมายที่รอให้เราได้เรียนรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้นอกเหนือจากงานตรงหน้าคือการรวมพลังเพื่อก้าวพ้นปัญหานี่แหละ ทุกคนพร้อมสู้ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน เราเหนื่อยด้วยกันสุขด้วยกันมาร่วมเดือนแล้ว มันให้เราได้เห็นอะไรเยอะแยะมากมายเลยหละ ถ้ามองในมุมงานที่เราต้องเผชิญ บางครั้งก็มีเรื่องราวที่น่าน้อยใจมิใช่น้อย เราทำงานมาจนวันนี้เจ้าหน้าที่ ปลัดสำนักทะเบียนยังไม่มาให้เราเห็นหน้าเลย แต่ชั่งเขาเราไม่สนเขาไม่มาเราก็เดินหน้าได้ เพียงแต่เราจะได้จำไว้แค่นั้นเอง เอะ !!! ยังไง เหมือนจะไม่น้อยใจแต่มีแอบเหน็บเล็กน้อย วันนี้เครือข่ายพันธมิตร (องค์กรยุติธรรมนานาชาติ ( IJM) , มูลนิธิเครือข่ายสถานบุคคล)มาถึงแล้ว กำลังพลเราเยอะขึ้นแล้ว…
ปัญหางานเบื้องหน้าที่เราเจอมีหลากหลายเลยหละ เกี่ยวกับเอกสารเป็นส่วนใหญ่ เมื่อปัญหาเกิดเอาไงหละครานี้ เสียงเรียกพี่แสง พี่โอ๊ต พี่หลวง อ้อม (IJM) เพื่อสอบถามระงมไปหมด…เคลียร์กลุ่ม หัว ๖ ในส่วนของคำร้องและ ป.ค. ๑๔ เสร็จ ครานี้มาถึงกลุ่มคน หัว ๐ เอาหละคนมาปัญหาเกิด เราเจอปัญหาในส่วนของเอกสารลูกคนหัว ๐ ที่มีเอกสารทั้ง หัว ๗ และ หัว ๐ ในคน ๆ เดียวกัน และเรื่องนี้ยังถกกันจนวันนี้
ต้องบอกก่อนว่า หมู่บ้านธารทอง มีคนไร้สัญชาติแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มคน ที่มีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 และกลุ่มคนที่มีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 6 จากการรับคำขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตร 23 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เมื่อเราพบปัญหาเอกสารไม่ตรงกันในส่วนของคนหัว 0 บางเอกสารเป็นเลข 0 บางเอกสารเป็นเลข 6 เดิม และลูกคนกลุ่มนี้ก็มีปัญหาตามมาเช่นกัน เรามาหาทางออกของคน หัว 0จากการปรึกษาหารือระหว่างทีมเครือข่ายสถานบุคคลจังหวัดเชียงรายที่เจอปัญหาในพื้นที่กับ สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน นำโดย ปลัดศิริวุฒิ สงวนศักดิ์ สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน นายแสง แสงยาอรุณ มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง และนายธีรสิทธิ์ เกษมศิริมงคล เจ้าหน้าที่งานสถานะบุคคลองค์กรยุติธรรมนานาชาติ (IJM)และชาวบ้านเจ้าของปัญหาได้พูดคุยปรึกษาหาทางออกร่วมกัน ทางออกของปัญหานี้ คือ 1.ทีมเครือข่ายสถานะบุคคลจังหวัดเชียงราย จะรวบรวมรายชื่อคนกลุ่มนี้ แบ่งเป็นกลุ่มเด็กที่มี ที่มีเลข 13 หลัก หัว 0 หัว 7 และกลุ่ม พ่อแม่เด็กกลุ่มนี้ ที่มีเลข 13 หลัก หัว 6 และหัว 0 จำนวนกี่คน 2.ส่งบัญชีรายชื่อให้คุณวีนัส สีสุข ผอ.ส่วนการทะเบียนราษฎรและสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน โดยความเห็น คุณวีนัส สีสุข ถึงกรณีที่กลุ่มเด็กมีเลข 0 แล้วมีสูติบัตรเลข 7 (อาจจะถูกจำหน่ายหรือไม่) สามารถใช้ประกอบคำร้อง หรือต้องให้ชาวบ้านไปขอหนังสือรับรองการเกิด หรือให้ชาวบ้านกลับไปใช้เลข 6 เลข 7 แล้วจำหน่ายเลข 0 เราพยายามเรียนรู้กับปัญหาเหล่านี้ทุกวันจนเรื่องสนุกกับปัญหาแล้วหละ แต่คนรายล้อมนี่สิคงปัดหัวหรือไม่ก็แอบรำคาญแน่ ๆ เพราะเมื่อเจอปัญหาเกินจะแก้ไขด้วยพลังเราได้ ทุกช่องทางการสื่อสารเพื่อแก้ไขข้อปัญหาเริ่มบังเกิด เราถามทุกคนที่ให้คำตอบเราได้ เพราะถ้าเราหยุดและจมกับปัญหางานคงขยับต่อไม่ได้ มาถึงจุดนี้อย่าทิ้งกันเป็นพอ เพราะสนามนี้ปัญหาเยอะจริง ๆ
มาถึงขั้นตอนการทำบัน ทึกข้อความ เอาหละสิ….งานเข้าตัวเท่าช้างแล้วหละ หันซ้ายขวาหน้าหลัง ทุกคนได้แต่ยิ้มพิมพ์ใจให้กัน พร้อมส่ายหัวแป็บ ครั้งแรกกันเลยทีเดียวกับงานนี้ เริ่มตั้งแต่การตั้งค่าหน้ากระดาษ ชนิดและขนาดตัวหนังสือเลยทีเดียวที่เราต้องเรียนรู้ ลำบากคนรอบกายที่ต้องมาเดือดร้อนตอบคำถามหาคำตอบให้ทีมเราอีกแล้วสิ หนึ่งในนั้นก็ไม่พ้น พี่ๆ น้อง ๆ ทีมพันธมิตรองค์กรยุติธรรมนานาชาติ (IJM) งานนี้เหนื่อยเลยกว่าจะคลอดออกมาได้ยังมีผิดมีถูกจนทุกวันนี้ แต่คนเราถ้าไม่เคยทำอะไรผิดคือคนที่ไม่เคยทำอะไร แต่เราพวกทำผิดบ่อยนี่เขาเรียกว่าอะไรหนอ….บันทึกหัว ๖ ผ่านไปฉลุย ครานี้มาถึงขั้นตอนการทำบันทึก หัว ๐ เล่นเอาซะเสียศูนย์เลยทีเดียว กุมขมับกันเลยทีเดียวงานนี้ หนึ่งวันเต็ม ๆ กับการลองผิดลองถูก สุดท้ายก็ยังผิดอยู่ดี ก็แก้ไขกันไป เราพร้อมเรียนรู้อยู่แล้วว่าแต่ถ้าได้คนชำนาญมาสอนมาสั่งก็จะดีนะ ตอนนี้เหลือไม่มากเลยแค่ สามร้อยเอง….เห็นยอดแล้วอยากสลบห้านาที งานนี้ไม่สำเร็จเราไม่เลิก ถามว่าเหนื่อยไหม… แฮะแฮะ เหนื่อย สู้ไหม…สู้ ถอยไหม….ตอบเลยว่าไม่
เรานัดยื่นคำร้องให้สำนักทะเบียน อำเภอเชียงแสน รอบแรกในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๗ นี้ ก่อนท่านนายอำเภอคนปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการ เป็นการปิดงานรอบแรก ก่อนส่งต่อให้กับนายอำเภอท่านใหม่ที่จะมารับตำแหน่ง เพื่อได้มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะบุคคลของพี่น้องม้งในถ้ำกระบอก ที่บ้านธารทอง เป็นลำดับต่อไป
นอกเรื่องอีกนิดมันสะกิดใจ เมื่อเปิดเอกสารฉบับหนึ่งเป็นหนังสือใช้สำหรับเป็นหลักฐานการแสดงตัวในการเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมในเขตจังหวัดภาคเหนือ อ่านดูแล้วมันเศร้าใจจัง การที่คนๆนึงหรือครอบ ๆ หนึ่งทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดมานานเพื่อไปทำภารกิจบางอย่างที่จำเป็น และต้องไปอยู่อีกพื้นที่หนึ่งที่เหมือนจะปลอดภัยสำหรับเขา แล้ววันหนึ่งคำสั่งฟ้าผ่าให้พวกเขาต้องระหกระเหินอีกครั้ง มันเหมือนเราแล่นเรือกลางมหาสมุทร มองไม่เห็นจุดหมาย ด้วยความรู้สึกส่วนตัวนี่ยอมรับเลยว่าเศร้าเมื่อเห็นเอกสารฉบับนี้ นี่หละหนาชีวิตคนเราหาความแน่นอนไม่ได้ เขาก็คนฉันก็คนความฝันในงานนี้ไม่มากมายแค่อยากให้พวกเขา พี่น้องม้งในถ้ำกระบอกบ้านธารทองได้เป็นคนไทย ๑๐๐% เป็นพอ ฝันใหญ่ไปไหมใครจะตอบได้บ้าง
สู้ต่อไป….
อรกัญญา สุขรัตน์ (๒๔ กันยายน ๒๕๕๗)

Copyright © 2018. All rights reserved.