นางปัน ไชยวัง กับการต่อสู้อันยาวนานในการขอคืนสิทธิความเป็นไทย

นางปัน ไชยวัง หนึ่งในคนไทยที่ประสบปัญหาสถานะบุคคลในผืนแผ่นดินไทย เธอได้ลุกขึ้นเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิอันชอบธรรมในฐานะของพลเมืองไทย ด้วยความยากลำบากที่ต้องประสบอยู่ในชีวิต และความหวังที่ยังคงมีว่าสักวันหนึ่งจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยทั่วไป จากคำบอกเล่าของนายคำหงษ์ ไชยวัง หลานชายของนางปัน ทำให้เราได้รู้ว่านางปัน ไชยวัง เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2493 ที่บ้านเลขที่ 103 หมู่ 4 ต.บ้านปิน อ.เมือง จ.เชียงราย (ปัจจุบันได้แยกตัวออกมาเป็นจังหวัดพะเยา)
เมื่อได้ย้อนเรื่องราวเพื่อตามหาความเป็นไทยของนางปัน ไชยวัง ก็ได้ทราบว่าสมัยที่นางปัน อายุ ประมาณ 17 ปี ได้เคยถือบัตรประชาชนไทยมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งทำที่สำนักทะเบียนอำเภอดอกคำใต้ แต่ด้วยเหตุการณ์พลิกผันในช่วงเวลานั้นพ่อแม่นางปันเสียชีวิต ทำให้ญาติที่ทราบข่าวมารับนางปันไปอยู่อาศัยด้วยในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ในประเทศพม่า ทำให้นางปันไม่ได้กลับมาประเทศไทยเพื่อต่อบัตรประชาชนที่หมดอายุตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ความเป็นไทยตามบัตรประชาชนของนางปันจึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2516 ที่บัตรประชาชนหมดอายุ และได้ถูกจำหน่ายชื่อออกจากระบบทะเบียนราษฎรในที่สุด
เมื่อวันหนึ่งนางปันกลับมายังผืนดินเกิดในประเทศไทย ความยากลำบากจากการสูญเสียสิทธิของความเป็นคนไทยก็เกิดขึ้นและมีเรื่องราวตามมาอีกมากมายหลายประการ นางปันจึงต้องพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งเพื่อให้ได้สิทธิความเป็นพลเมืองไทยกลับคืนมา
เรื่องราวของความกตัญญูของหลานชายและการต่อสู้เพื่อขอคืนความเป็นไทย อันยาวนานของนางปันได้เริ่มขึ้น โดยมีนายคำหงษ์ หลานชาย คอยร่วมต่อสู้และช่วยเหลือคุณย่าของตัวเองตลอดมา เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อประมาณกลางปี พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา นางปันกับหลายชายได้เดินทางไปยังสำนักทะเบียนอำเภอดอกคำใต้ เพื่อจะต่ออายุบัตรประชาชนที่ขาดไปนานกว่า 40 ปี และทางสำนักทะเบียนได้บอกมาว่า ให้นำพยานที่มีทั้งหมดมาด้วย นางปันจึงได้พาพยานไปด้วยประมาณ 10 คนไปยืนยันที่อำเภอด้วย แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง เพราะทางอำเภอบอกมาเพียงแค่ว่า “ให้เอาพยานมาเยอะๆ จะได้หรือไม่ได้เดี๋ยวบอกอีกที” คำตอบในวันนั้นทำให้ความหวังของนางปันดูเลือนรางเต็มที มันเป็นคำพูดเพื่อปัดความรับผิดชอบ เพื่อปัดความใส่ใจ ต่อให้มีพยานมาเพิ่มอีกกี่คน ก็ไม่มีใครรับรองได้ว่าปัญหาเรื่องเรียกร้องขอคืนสัญชาติไทยของนางปันจะเสร็จสิ้นลงในวันนั้น
และการที่จะนำพยานจำนวน 10 คน เดินทางจากหมู่บ้าน เพื่อไปยังที่ว่าการอำเภอ ต้องใช้รถกระบะ ถึง 2 คัน เพื่อบรรทุกพยานเดินทางมา ผ่านเส้นทางที่ยากลำบาก ต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาคนอื่นๆ และถ้าต้องการพยานเพิ่มขึ้นก็หมายความว่า ต้องเสียเงินมากขึ้น เสียเวลาของคนอื่นมากขึ้นด้วย จากรอบแรกที่นางปันพร้อมพยานบางส่วนไปติดต่ออำเภอดอกคำใต้ ก็ไม่มีผลอะไรคืบหน้าที่จะบอกได้เลยว่านางปันจะได้คืนสัญชาติไทยหรือไม่ มีเพียงแค่คำตอบสั้นๆ แค่นั้น คือ “ให้หาพยานมาเพิ่มในปริมาณที่มากกว่ารอบแรก” สำหรับคนตัวเล็กๆอย่างสองย่าหลาน ที่กำลังพยายามต่อสู้เพื่อขอคืนสิทธิที่ควรจะได้ของคุณย่านั้น จะไปเรียกร้องความยุติธรรมได้ที่ไหน จะมองไปทางไหนก็ยังไม่เห็นทางออก
จนเมื่อเวลาผ่านไป ทางออกที่ยังมองไม่เห็นก็ไม่เกินความพยายาม วันนี้เขาพอเห็นทางออกบ้างแล้ว ในปี พ.ศ. 2553 นางปันและหลานชายได้กลับไปติดต่อกับทางสำนักทะเบียนอำเภอดอกคำใต้อีกครั้ง แต่คราวนี้ได้รับการช่วยเหลือและแนะนำจากคุณมานะ งามเนตร ในการแก้ไขแต่ละปัญหาที่พบเจอทำให้ปมปัญหาค่อย ๆ ถูกคลายออกไปทีละเล็กทีละน้อย หลานชายได้ไปยื่นคำร้องเพื่อขอค้นหลักฐานทะเบียนบ้านฉบับ พ.ศ.2499, พ.ศ. 2515 และพ.ศ. 2531 เพราะว่าเอกสารทั้ง 3 ฉบับนี้จะเป็นหลักฐานที่ช่วยยืนยันความเป็นคนไทย และบอกได้ว่า นางปันถูกจำหน่ายชื่อไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และปัจจุบันนางปันอยู่ภายใต้การปกครองของอำเภอใด แต่ก็ถูกปฏิเสธมาจากจากทางอำเภอด้วยเหตุผลว่า ชื่อถูกจำหน่ายไปแล้ว ค้นไปก็คงไม่ได้อะไร
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความพยายามของนายคำหงษ์ ผู้เป็นหลานชายนั้นลดลงไป เขาพยายามปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นคุณมานะ หรือสำนักทะเบียนอำเภอเมืองพะเยา เพื่อจะหาหนทางดำเนินการต่อไป จนกระทั่งในที่สุดก็ได้ทะเบียนบ้านฉบับ พ.ศ. 2515 และ พ.ศ. 2531 มา แต่สำหรับฉบับ พ.ศ. 2499 นั้นไม่สามารถค้นหาได้เพราะถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว
เมื่อสามารถสืบรู้เรื่องราวจากทะเบียนบ้านได้แล้ว ขั้นต่อไปคือการทำการยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ก็ใช่ว่าเรื่องราวจะจบลงได้ง่ายๆ เพราะในการสอบปากคำการยื่นคำร้องนั้น ทางสำนักทะเบียนต้องการพยานยืนยันเบื้องต้น นางปันจึงได้พาพยานไป 5 คนตามคำแนะนำของ คุณมานะ งามเนตร คราวนี้ไม่ใช่คำว่าพยานไม่พอ แต่เป็นเพราะพยานให้การไม่ตรงกัน จึงยังไม่ได้ถ่ายบัตร และ “เอกสารใบยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียน” ที่ทางสำนักทะเบียนรับปากว่าจะให้ หากพาพยานมาให้ปากคำครบแล้ว ก็ไม่ได้รับ สุดท้ายต้องพึ่งทางคุณมานะช่วยคุยกับสำนักทะเบียนอำเภอดอกคำใต้อีกครั้ง
เรื่องราวความพยายามได้เกิดขึ้นมากมาย พอ ๆ กับอุปสรรคที่ต้องพบเจอในการต่อสู้ครั้งนี้ หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ทะเบียนเอาแต่บ่ายเบี่ยง ไม่ตอบคำถาม และครั้งนี้ก็มาถึงคำถามว่าพยานให้ปากคำไม่ตรงกับนางปันอย่างไร คำตอบคือช่วงเวลาที่แต่ละคนพูดนั้นไม่ตรงกัน แต่ข้อเท็จจริงเรื่องสถานที่ และความเป็นอยู่ที่เคยพบเห็นกันมานั้นเกิดขึ้นจริง ความไม่เข้ากันของหลักการที่คิดว่าควรจะเป็นอย่างการจำช่วงเวลาได้ตรงกัน กับความเป็นจริงที่ว่าแต่ละคนก็จำได้ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดการโต้เถียงกันระหว่างหลานชายและเจ้าหน้าที่ทะเบียนขึ้นต่อหน้าปลัดอาวุโส จนต้องหาข้อสรุปด้วยการทำประชาคม แต่สุดท้ายก็ไม่ผ่าน จนต้องมาถึงแนวทางสุดท้ายที่ทางอำเภอเสนอให้ คือการตรวจ DNA แต่ด้วยปัญหาด้านงบประมาณทำให้ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ต่อ
จนกระทั่งเวลาได้ล่วงเลยมาจนปี 2556 นางปันได้ไปทำการตรวจ DNA กับ นางแก้ว ทะลิ ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องทางฝั่งแม่(ลูกของน้า) และผล DNA ของทั้งสองคนพิสูจน์ให้เห็นตามผลวิทยาศาสตร์ว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์กันถึง 87% ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเป็นพี่น้องกันจริง ความหวังดูเหมือนจะใกล้เข้ามาอีกขั้นหนึ่งแล้ว คราวนี้จึงได้ส่งผลไปยังอำเภออีกครั้ง แต่คำตอบที่ได้กลับมาทำให้แทบหมดแรงเดินต่อ เพราะทางสำนักทะเบียนทำหนังสือตอบกลับมาโดยใจความในจดหมายระบุว่า “พยานหลักฐานไม่ชัดเจน และพิสูจน์ไม่ได้ว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์กันในฐานะญาติชั้นใด จึงวินิจฉัยไม่ได้”
ภายใต้คำวินิจฉัยที่ขัดแย้งกับผลตรวจ DNA ทำให้นางปัน ไชยวัง ได้ตัดสินใจเดินทางมาขอความช่วยเหลือกับสำนักกฎหมายเพื่อการพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิกระจกเงา และได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆให้กับทางเจ้าหน้าที่ฟัง เจ้าหน้าที่จึงได้ทำหนังสือโต้แย้งไปถึงทางสำนักทะเบียนอำเภอดอกคำใต้ เพื่อให้พิจารณาการขอสัญชาติของนางปันให้ใหม่ เพราะจากหลักฐานพยานเอกสารและพยานบุคคล นั้นมีความชัดเจน และตรงตามกระบวนการทางกฎหมาย จึงต้องการให้พิจารณาอย่างเป็นธรรมตามที่ควรจะได้รับ
จากปัญหาและอุปสรรคตั้งแต่แรกเริ่ม ความพยายามที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างที่เจอ และความช่วยเหลือของหลาย ๆ ฝ่าย ทำให้การต่อสู้อันยาวนานของทั้งสองย่าหลาน เพื่อให้ผู้เป็นย่าได้คืนสิทธินั้น ก็เป็นผลในที่สุด
วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ทางสำนักทะเบียนอำเภอดอกคำใต้ได้ทำการเพิ่มชื่อนางปันเข้าในทะเบียนบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ถ่ายบัตรประชาชนในที่สุด ทั้งนี้ก็เป็นเพราะความกตัญญูและความพยายาม อย่างไม่ลดละที่จะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ย่าของตนได้สิทธิของความเป็นคนไทยคืนมาในที่สุด ถึงแม้จะใช้ระยะเวลาอันยาวนานหลายปีในการต่อสู้ แต่อุปสรรคต่างๆที่พบเจอจะทำให้หัวใจคนเราเข้มแข็งขึ้น และสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็ทำให้ได้พบกับความสวยงามของความสำเร็จในที่สุด

Copyright © 2018. All rights reserved.