กว่าจะถึงวันที่ฉันเป็นคนไทย 100 %

นายโชค แซ่โฟ้ง หรือนายวิเชียร จาเล บุคคลที่ประสบปัญหาไร้สถานะบุคคลในผืนแผ่นดินไทย เขาได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง โดยหวังว่าจะได้สิทธิความเป็นพลเมืองไทยโดยสมบูรณ์ในสักวันหนึ่ง นายโชค แซ่โฟ้ง เกิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2534 (แต่ในความเป็นจริงแล้วเกิดเมื่อ 9 สิงหาคม 2533) ที่โรงพยาบาลบ่อไร่ จังหวัดตราด มีบิดาเป็นคนสัญชาติไทย ชื่อนายวิชัย จาเล ปัจจุบันได้เสียชีวิต ทำให้การยืนยันเพื่อพิสูจน์ความเป็นไทยของนายโชคเป็นเรื่องยาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีทางออกสำหรับปัญหาเหล่านี้เลย และนั่นก็เป็นที่มาของเรื่องราวการต่อสู้ที่ยาวนานอีกเรื่องราวหนึ่งในชีวิตของเขา
เรื่องมีอยู่ว่าหลังจากที่โชค เกิดได้ไม่นาน นางจันทร์ศรี ศรีโลเพี้ยน หรือ นางศรี แซ่โฟ้ง ผู้เป็นแม่ ก็ได้พาโชคไปให้ นายเลาสูโล ศรีโลโฟ้ง และนางเจียม ศรีโลเพี้ยน ผู้เป็นตากับยายเลี้ยงดู หลังจากบิดากับมารดาก็แยกทางกัน ในขณะที่เกิดทางโรงพยาบาลได้ออกหนังสือรับรองการเกิดให้โชคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่แม่ไม่ได้นำไปแจ้งเกิดกับทางสำนักทะเบียนอำเภอบ่อไร่ เพื่อออกสูติบัตร ต่อมาผู้เป็นพ่อ ได้เคยไปแจ้งเพิ่มชื่อที่สำนักทะเบียนอำเภอบ่อไร่ แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้ง เนื่องจากมารดาไม่มีเอกสารใด ๆ ประกอบกับพ่อกับแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและผู้เป็นพ่อไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร ซึ่งหมายถึงโชคด้วย ทำให้เกิดปัญหาในช่วงเวลานั้น แต่ปัจจุบันตาม มาตรา 7 (1) พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2551 ตามคำนิยามที่ว่า มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย [3]
(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง
“คำว่าบิดาตาม (1) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม”
ทำให้ง่ายต่อการพิสูจน์ตัวบุคคลมากขึ้นเมื่อมีข้อกฎหมายรองรับในการพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูกแม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสหรือการจดทะเบียนรับรองบุตรก็ตาม
เมื่อเวลาผ่านไปปัญหาและอุปสรรคจากความไร้รัฐไร้สัญชาติของ เขา ทำให้ต้องขาดสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เมื่อคิดได้เช่นนั้นเขาจึงได้เริ่มต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิความเป็นไทยในแบบของตนเอง
ประมาณเดือนธันวาคม ปี 2554 เขาได้เดินทางเข้าพบฝ่ายสำนักทะเบียนอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อยื่นคำขอเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้านให้กับตนเอง การยื่นเรื่องวันนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำ โชค แม่ ญาติทางแม่ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ รวม 7 คน ที่มาเป็นพยานในวันนั้น แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้โดยง่าย
ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2555 หลังจากที่นายอำเภอดอยหลวงได้ทำการพิจารณาข้อเสนอในการขอเพิ่มชื่อแล้ว มีความเห็นว่าเอกสารหลายอย่างยังไม่ชัดเจนเพราะชื่อที่ปรากฏในหลักฐานเอกสารแต่ละชิ้นไม่ตรงกัน ทำให้ความน่าเชื่อถือในเอกสารลดน้อยลง
เมื่อเจอปัญหา โชค ยังไม่ถอดใจ เขาเพียรนำคำแนะนำที่ได้รับมาปรับใช้เป็นเหมือนเข็มทิศนำทาง ให้กับตนเองเพื่อจะได้รู้ว่าตนเองจะต้องเดินไปยังทิศทางไหน ประมาณเดือนมีนาคม ปี 2555 ทางเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอดอยหลวง ก็ได้มีการนัดสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีกครั้ง และได้ทำประชาคมหมู่บ้านที่บ้านสันต้นม่วง หมู่ 10 ตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อพิสูจน์ตัวบุคคล เนื่องจากชื่อสกุลที่ปรากฏของโชค มีสองชื่อสกุล จากการทำประชาคมหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านรับรองว่านายโชค แซ่โฟ้ง และ นายวิเชียร จาเล เป็นบุคคลเดียวกันจริงและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้จริง
หลังจากการประชุมประชาคมหมู่บ้านเสร็จสิ้น โดยไร้เสียงคัดค้าน นับเป็นหลักฐานพยานบุคคลสำคัญในการประกอบคำขอเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้าน ทำให้ข้อมูลต่างๆเริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ความเป็นไทยของโชคเอง ก็เริ่มประจักษ์ให้เห็นทีละน้อย แสงนำทางเริ่มคืบคลานเข้ามาในชีวิตโชคบ้างแล้วสัญชาติไทยที่รอคอยคงอยู่อีกไม่ไกลเกินเอื้อม หลังจากที่นายอำเภอได้พิจารณาข้อเสนอรอบใหม่ ได้มีคำสั่งให้นำญาติทางฝ่ายของบิดามาช่วยยืนยันตัวบุคคลอีกทางหนึ่งด้วย
จากนั้นโชคก็ได้ออกสืบเสาะเพื่อตามหาญาติพี่น้องฝ่ายบิดา 12 พฤษภาคม 2555 ที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โชคเดินทางไปพบนางบัวคำ ภาสะฐิติ เป็นน้าของนายวิชัย จาเล ผู้เป็นพ่อของโชค นับเป็นการพบกันหลังจากที่ไม่ได้เจอกันมาเป็นเวลานานตั้งแต่ที่โชค ยังเป็นเพียงเด็กชายวิเชียร อายุ 1 ขวบ แต่ความเป็นญาติที่ตัดกันไม่ขาด นางบัวคำได้ให้ความช่วยเหลือโดยไม่ขัดข้อง จึงได้มาสอบปากคำพยานคนสุดท้ายของโชค ที่ อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย
แต่ปัญหาใช่ว่าจะจบลงแค่นั้น เมื่อปลัดใหม่มาดำรงตำแหน่งแทนปลัดคนเดิม โดยท่านมีความเห็นว่า แค่คำให้การไม่มีอะไรที่จะมายืนยันว่านายวิเชียร จาเล หรือ นายโชค แซ่โฟ้ง เป็นคนเดียวกันจริง หรือเป็นลูกของนายวิชัย จาเล จริง นายอำเภอดอยหลวงได้พิจารณาและวินิจฉัยคำร้องขอของโชคอีกครั้ง “จากพยานเอกสารและพยานบุคคลที่ผู้ยื่นคำขอฯได้ส่งมอบให้กับทางอำเภอพิจารณายังไม่สามารถเชื่อและหาความชัดเจนได้ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันดังนั้นควรมีการพิสูจน์หมู่เลือดและDNA เพื่อความแน่ชัดต่อไป”
ทางเลือกสุดท้ายสำหรับโชค ก็คงจะเหลือเพียงการตรวจ DNA ตามที่ท่านนายอำเภอได้แจ้งมา แต่ด้วยปัญหาของค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์DNA ทำให้โชคได้ขอความช่วยเหลือจากทางกระทรวงมหาดไทยในด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งต่อมาในเดือนพฤษภาคม ปี 2556 ทางกระทรวงได้วินิจฉัยและมีคำสั่งให้โชคหาพยานบุคคลที่เป็นญาติกับนายวิชัย จาเล ผู้เป็นบิดา เพื่อมาพิสูจน์สัญชาติไทย
ในที่สุดการต่อสู้อย่างยาวนาน เพื่อขอคืนความเป็นไทย ที่เสียไปก็มาถึงบทสรุป วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557 นายโชค แซ่โฟ้ง ก็ได้ถ่ายบัตรประชาชนคนไทย
โชค แซ่โฟ้ง มีวันนี้ได้เพราะเขายืนหยัดที่จะสู้เพื่อพิสูจน์ความเป็นไทยในผืนดินที่เขาเกิด เรื่องราวบางช่วงบางตอนของชีวิตคนหนึ่งคนต้องผ่านอะไรมามากมาย เพียงแต่เราจะยืนหยัดต่อสู่และเก็บเกี่ยวเรื่องราวระหว่างทางเช่นไรก็เท่านั้นเอง

Copyright © 2018. All rights reserved.