สารจากผู้สูญเสียที่ทำกินสู่ข้อเสนอ คสช. ถึงเวลาชุมชนทวงสิทธิ์พิทักษ์ป่า

เสียงสวดมนต์ก้องป่าลึกในบ้าน “แม่ป่าเส้า” อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อครั้งโครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบนำสื่อมวลชนลงพื้นที่บวชป่าร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บททวงคืนผืนป่า ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดั่งเสื้อเกราะบาง ที่ชาวบ้านรู้ว่าไม่อาจป้องกันชีวิตและทรัพยากรได้ทั้งหมด แต่ก็ยังต้องทำตามจารีต ประเพณีด้วยหวังสิ่งศักดิ์สิทธิจะสนองตอบต่อความรักและความผูกพันระหว่างชาวบ้านและผืนป่าบ้าง หลังจากหลายหมู่บ้านเผชิญชะตากรรมเสียผืนนา ผืนไร่ให้กับแผนพัฒนาของรัฐบาล อาทิ แปลงปลูกยางอายุนับ 10 ปี และนาข้าวที่ทำกินมานานกว่า 15 ปี เคราะห์ร้ายดังกล่าวส่งให้ชาวบ้านเกิดน้อยเนื้อต่ำใจในความเป็นชนชั้นกสิกร แต่มีทางเลือกต่อสู้เพื่อสิทธิดังกล่าวไม่มากนัก ภายหลังจากร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) แล้ว ชาวบ้านจึงเลือกรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนสภาพปัญหา

เสร็จสิ้นพิธีบวชป่า ชาวบ้านร่วมวงเสวนา “การจัดการทรัพยากรป่าในมุมมองที่หลากหลาย” หนึ่งในสมาชิกร่วมเสวนาสะท้อนผกระทบจากแผนแม่บท มีนางอามีมะ เลายี่ปา ชาวบ้านห้วยหก ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนชาติพันธุ์ลีซอ ที่ทนทุกข์อย่างหนักเมื่อครั้งเธอกลับมาจากรับจ้างทำสวนข้างนอกพบว่า แปลงปลูกข้าวกว่า 5 ไร่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าทำลายข้าวและข้าซโพดพร้อมปักป้ายยึดคืนพื้นที่ โดยไม่มีการเข้ามาพูดคุยหรือแจ้งเตือนกับชาวบ้านอย่างเป็นทางการ

อามีมะ ย้อนความด้วยน้ำตาว่า เธอมีพื้นที่ทำกินมาหลายสิบปี ทำนาปลูกข้าวและปลูกพืชอย่างอื่นเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว 12 คนรายได้อยู่ที่ประมาณปีละ 30,000 บาท แต่ภายหลังการยึดพื้นที่ เธอไม่สามารถจินตนาการได้ว่า รายได้ที่เหลือจะเป็นเท่าไหร่ต่อปี แต่รู้ว่าลำบากลงทุกวัน

“ลูกยังเรียนอยู่ เราต้องรับจ้างหาให้ลูก ทุกวันนี้นอนไม่หลับเลย ทุกครั้งเห็นแค่ภาไร่ นาข้าวเสียหาย คิดแล้วก็เครียดทุกวัน เพราะเขาไม่เคยมาแจ้งเราก่อน เราไม่รู้ตัว กลับมาก็ไม่เหลืออะไรแล้ว ไม่เข้าใจว่าเขายังเห็นเราเป็นคนไหม” อามีมะ ระบายความเศร้า

จากเสียงสะท้อนความทุกข์ของชาวบ้าน ดร. เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อนุ กสม. ระบุว่า สังเกตได้ชัดว่ารัฐไทยไม่มีความใจกว้างเรื่องการจัดการทรัพยากร หลายแห่งไม่เปิดพื้นที่พูดคุยและเสนอทางออกร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม แต่ใช้อำนาจเข้าควบคุมคนจนอย่างไร้หลักธรรมาภิบาล

“ในแผนแม่บทนั้นที่ คสช.เขียน อ่านแล้วก็เข้าใจหลักการนะ แต่กรณีเจ้าหน้าที่ภาคปฏิบัติที่กระทำกับชาวบ้าน เชื่อว่าสวนทางกับแผน ไม่เป็นไปตามร่องรอยและกรอบพัฒนาประเทศ รัฐไทยเดินหน้ามาถึงยุคประชาธิปไตยในหนังสือนานแล้ว แต่ไม่เคยเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ผมคนหนึ่งไม่เชื่อว่าคนกับป่าแยกกันได้ ผมยังเชื่อมั่นในท้องถิ่น ในคนโบราณที่ผูกพันกับป่าอยู่เสมอ ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยทำลายพื้นที่ชีวิตของชาวบ้าน ไทยก็ล้มเหลวแล้วเรื่องการจัดการทรัพยากร เพราะคน คือทรัพยากรสำคัญที่ทำให้เกิดทรัพยากรอื่นๆ ตามมา แน่นอนว่ามีคนใช้ ก็ย่อมมีคนสร้าง เช่น กะเหรี่ยง ทำไร่หมุนเวียน เขารู้ว่าช่วงไหนทำได้ ช่วงไหนควรหยุด แต่กรณีแผนแม่บทนี้มันสาหัสเกินไป รัฐไทยต้องทบทวน และตระหนักเสมอว่าไม่มีสิทธิไปทำลายชีวิตของชาวบ้านเพียงเพื่อรักษาต้นไม้ ป่าเขา” ดร.เพิ่มศักดิ์ เสนอแนะ

แน่นอนว่าหมู่บ้านแม่ป่าเส้าไม่ใช่พื้นที่ที่เกิดผลกระทบโดยตรง แต่เป็นพื้นที่ตัวย่างที่สะท้อนการจัดการทรัพยากรได้ลงตัว จากข้อมูลของมูลนิธิพัฒาภาคเหนือ ระบุว่า แม่ป่าเส้า ตั้งอยู่ที่ ตำบลเมืองคอง เดิมเป็นที่อยู่ของชนเผ่าลั๊วะ ที่เล่าสืบต่อกันมานาน และปรากฎหลักฐานโบราณวัตถุ เช่น ถ้วยชามและก้องยาสูบดินเผา แต่ต่อมาชาวไทยเชื้อสายปกาเกอะญอได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานแทน เริ่มแรกมีประมาณ 5 ครัวเรือน ต่อมามีญาติพี่น้องอพยพจากหมู่บ้านแม่คองซ้าย มาปลูกบ้านสร้างบ้านเรือนสมทบอีกหลายหลังคาเรือน ต่อมาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านแม่ป่าเส้ากลายเป็นเส้นทางหนึ่งที่กลุ่มทหารจากยุโรปใช้เป็นเส้นทางเดิน และมีชาวบ้านบางส่วนเป็นลูกหาบให้ เมื่อสงครามเย็นลงชาวบ้านก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ ปลูกพืชไร่และทำเกษตรอย่างอื่นผสมผสาน แต่ภายหลังจาก กรมป่าไม้ได้ประกาศให้ป่าแถบนี้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และบางส่วนประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ปรากฎว่าที่ดินส่วนมากกลายพื้นที่ทับซ้อน ที่ของชาวบ้านทั้งส่วนที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมดของชาวบ้านและทางการมีความพยายามจะอพยพชาวบ้านออก จากพื้นที่พิพาท แต่ชาวบ้านคัดค้านและร่วมลงชื่อเป็นสมาชิกเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ เพื่อ เรียกร้องให้มีการกันเขตชุมชนออกจากเขตอนุรักษ์ และเสนอให้มีการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชนสำหรับการรองรับสิทธิชุมชนในการจัดการป่าอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน รวมทั้งมีการยื่นขอโฉนดชุมชนกับทางสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้มีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังพบว่าเรื่องโฉนดชุมชนไม่มีความก้าวหน้าใดๆ

ชาวบ้านจึงเลือกที่จะจัดการป่าชุมชนในรูปแบบของการจัดการโดยภูมิปัญญาและความเชื่อ เช่น พิธีป่าเดปอ คือ กรณีมีเด็กทารกเสียชีวิต จะนำเด็กที่เสียชีวิตไปฝังกับ “ต้นไม้ฮาย” ซึ่งมีกฎชุมชนว่า บริเวณนั้นชาวบ้านห้ามไปใกล้ พิธีกรรมการเลี้ยงผี ต้นไม้ที่ชาวบ้านเลี้ยงผีนั้นชาวบ้านห้ามตัด และห้ามยิงนกที่เกาะปลายต้นไม้นั้น

นอกจากการอนุรักษ์ป่าตามความเชื่อแล้ว ในเรื่องการจัดการที่ดิน หมู่บ้านแม่ป่าเส้ามีความสามัคคีเรื่องการจัดการทรัพยากรอย่างมากโดยแบ่งที่ดินไร้เอกสารสิทธิ์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน และห้ามซื้อขายเพื่อทำธุรกิจเก็งกำไรขนาดใหญ่ แต่ให้ดำเนินการถ่ายโอนที่ดินเพื่อทำกินและหารายได้มาจุนเจือครอบครัว หล่อเลี้ยงชุมชนเท่านั้น โดยปัจจุบันชาวบ้านอยู่ในช่วงยกระดับการจัดการมาเป็นแผนเตรียมจัดตั้งและพัฒนากองทุนธนาคารที่ดินของชุมชน เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมีรางวัลลูกโลกสีเขียวด้านชุมชนดีเด่น และด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2547 และรางวัล 5 ปีแห่งความยั่งยืน ในปี 2552 เป็นเครื่องยืนยันความเข้มแข็งของชุมชน

ภายหลังหมู่บ้านแม่ป่าเส้ากลายเป็นต้นแบบในการจัดการที่ดิน และป่าไม้ ชุมชนได้ออกกฎหมู่สำคัญหลายข้อ อาทิ 1.ห้ามบุคคลภายในและภายนอกหมู่บ้านล่าสัตว์ไม่ว่าสัตว์สงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้ใดผ่าฝืนจะถูกปรับตัวละ 500 บาท 2.ห้ามบุคคลภายใน-ภายนอกหมู่บ้านเปิดพื้นที่ ทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ ถ้าผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย 3.ห้ามบุคลภายในและภายนอกเข้ามาตัดไม้ทุกชนิดในเขตป่าอนุรักษ์ ถ้าผู้ใดผ่าฝืนจะถูกปรับต้นละ 500 บาท ฯลฯ ส่งผลให้มีความยั่งยืนจวบจนปัจจุบัน

นับตั้งแต่มีแผนแม่บทจัดการป่า ฯ ชาวบ้านหลายพื้นที่กลายเป็นเหยื่อพัฒนาประเทศของรัฐบาล นั่นกลายเป็นข่าวร้ายที่สุดแล้วของคนเล็กคนน้อยในประเทศไทย จากนี้หากรัฐจะพอเหลียวแลชาวบ้านธรรมดาบ้าง ความหวังของผู้ที่รวมกันบวชป่าในครั้งนี้ คงไม่มีอะไรเกินกว่า ขอเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ประโยชน์ ร่วมวางแผน และร่วมพิทักษ์ ทรัพยากรป่าไม้ที่ดินกับ คสช. หรือรัฐบาลทุกคณะบ้าง ซึ่งบ้านแม่ป่าเส้าเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจน

โดย จันทร์จรัส บุญมาก

ที่มา : http://transbordernews.in.th/home/?p=5676

Copyright © 2018. All rights reserved.