คนเท่ากัน-ลดอคติ “ต่างด้าว” ผู้สร้าง “จีดีพี” ก่อน-หลังโควิด!

ทีมข่าว “1/4 Special Report” เกาะติดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ในสภาพปัจจุบันที่แคมป์พักคนงานต่างชาติหลายแห่งพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก สถานการณ์แรงงานข้ามชาติ หรือที่สื่อมวลชนและคนจำนวนมากชอบเรียกกันว่า “แรงงานต่างด้าว” ยังคงมีการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ท่ามกลางความเสี่ยงติดโรคระบาดแพร่กระจายกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ ตามที่ปรากฏในแคมป์พักคนงานหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ยิ่งตอกย้ำ “อคติ” ความไม่พอใจของคนไทยต่อแรงงานเหล่านี้ปรากฏให้เห็นมากขึ้น

เกี่ยวกับปัญหาใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ และแนวทางแก้ไขปัญหาช่วงโควิด-19 นั้น รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจะเรียกแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านโดยชื่อใหม่ว่า แรงงานข้ามชาติ แรงงานต่างชาติ แทนคำว่าแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีอคติการดูถูกแฝงอยู่ ก่อนโควิดจะระบาด สังคมไทยมีมุมมองต่อแรงงานเหล่านี้ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก แต่เมื่อเจอการแพร่ระบาดดูเหมือนอคติและความไม่พอใจแรงงานเพื่อนบ้านในสังคมไทยจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

ปัญหาหมักหมม “แรงงานข้ามชาติ” สร้างเศรษฐกิจไทย
สำหรับปัญหาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการนำเข้าแรงงานโดยผิดกฎหมาย ทำให้พวกเขากลัวถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จนต้องไปอยู่รวมกันอย่างแออัด เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข ซึ่งปัญหาแรงงานผิดกฎหมายมันแก้ได้ยาก เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยอะ หากต้องการนำแรงงานเข้ามาทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมายไทย จะมีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายเยอะมาก หลังจากเราเริ่มต้นเอาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาลงทะเบียนใน พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบันเกือบ 30 ปีแล้ว แต่การแก้ปัญหายังสำเร็จยาก แม้ภาครัฐจะมีมาตรการผ่อนปรนและนิรโทษกรรมความผิดของแรงงานที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมาย แต่เรายังแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่สำเร็จ

จุดหนึ่งคือไทยมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านยาวมาก จนเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจดูแลไม่ครอบ คลุมทั่วถึง และการนำแรงงานเข้ามาทำงานแบบถูกต้องก็ลำบาก จึงมีคนเห็นช่องโหว่ทางกฎหมายหาประโยชน์จากเรื่องนี้เต็มไปหมด

รศ.ดร.กิริยากล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะยังคงอยู่กับสังคมไทยไปอีกนาน เพราะพวกเขาสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยขาดแรงงานมาก ซึ่งเป็นปัญหากันเกือบทุกประเทศทั่วโลก เพราะถึงจุดหนึ่ง คนในประเทศนั้นไม่อยากทำงานที่เราเรียกว่า “3 ส” คือ เสี่ยง สกปรก และแสนสาหัส หรือที่ต่างประเทศเรียกว่างาน “3 D” คือ Dirty Difficult และ Dangerous ซึ่งคนที่จะมาทำงานเหล่านี้ทั้งก่อสร้าง ทำงานแม่บ้าน อยากได้ค่าแรงสูงขึ้น แต่เมื่อนายจ้างไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้เพราะจะกระทบเรื่องต้นทุน ก็ต้องนำแรงงานจากต่างประเทศที่แม้จะยอมรับค่าแรงที่น้อยกว่าปกติ แต่โดยรวมยังถือเป็นค่าแรงที่สูงกว่าทำงานในประเทศของพวกเขาเองด้วย

ยกตัวอย่างแรงงานไทยจำนวนหนึ่งไปทำงานก่อสร้างขายแรงในต่างประเทศ เพราะได้ค่าแรงเยอะกว่าทำในประเทศ แต่จะให้เขาไปทำงานก่อสร้างในประเทศก็ไม่เอา เพราะค่าแรงน้อยมาก ดังนั้นมันจึงต้องมีการนำแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา ปัญหาดังกล่าวเจอกันทุกประเทศ ถ้าเป็นแรงงานผิดกฎหมายจะถูกกดขี่โดยที่ภาครัฐเองอาจจะหลับตาข้างหนึ่งให้กับปัญหา เรายกตัวอย่างการไปขายแรงงานของคนไทยในเกาหลีใต้ แอบเข้าไปเป็น “ผีน้อย” ซึ่งหลายคนถูกกดค่าแรงโดนเอาเปรียบ แต่เพราะเป็นการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จึงต้องเจอแบบนี้

หากเป็นแรงงานมีฝีมือ จะเป็นที่ต้องการในหลายประเทศทั่วโลก แต่แรงงานที่ไร้ฝีมือขายแรงงานนั้น จะเจอความเสี่ยงหากไปทำงานผิดกฎหมายในต่างประเทศ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหากันทั้งโลก แต่ถามว่ามันจำเป็นหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานไร้ฝีมือนั้นยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะอนาคตสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ยิ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างชาติเพิ่มมาก
ขึ้นด้วย

แม้บริษัทต่าง ๆ ในไทยจะเริ่มปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงานแทนแรงงานมนุษย์ แต่งานบางประเภทยังต้องใช้แรงคนอยู่ดี ไม่อาจใช้เทคโนโลยีทดแทนได้ ดังนั้นเมื่องานบางอย่างคนไทยไม่ทำกันแล้ว เพราะค่าแรงถูกมาก ก็ต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอยู่เสมอ โดยแรงงานเหล่านี้มีส่วนในการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในประเทศไทยให้สูงขึ้นด้วย พวกเขามีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างแน่นอน

โควิดแก้ยากคนไทย “อคติ” เพิ่ม!มองคนไม่เท่ากัน
ทั้งนี้แรงงานต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่อยู่กันอย่างผิดกฎหมาย พวกเขาจะกลัวถูกจับกุมดำเนินคดี จึงไม่กล้าออกไปนอกแคมป์มากนัก แต่เมื่ออยู่รวมกันมันก็แออัด ยิ่งช่วงไวรัสโควิดระบาด แรงงานเหล่านี้ไม่อาจทำการเว้นระยะห่างได้เลย อีกทั้งเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ เวลาพวกเขาป่วย ปกติจะไปซื้อยามากินกันเอง เมื่อเราตรวจเชื้อโควิด ก็พบว่าแรงงานเหล่านี้ติดเชื้อด้วย ยิ่งพวกเขาอยู่ในวัยหนุ่มสาวแข็งแรง ก็ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการมากยิ่งขึ้น

สำหรับวิธีการแก้ปัญหายับยั้งการแพร่ระบาดโควิด -19 นั้น ตนอยากให้มองข้ามเรื่อง “ชาตินิยม” ออกไป มองว่าพวกเขาเหล่านี้คือกลุ่มเสี่ยงในสังคมไทย เหมือนคนในชุมชนคลองเตยที่ไม่สามารถหยุดงานเว้นระยะห่างได้ จนทำให้การติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ทางภาครัฐต้องจัดหาวัคซีนให้คนในชุมชนฉีดกันทันที และแรงงานต่างชาติก็เช่นกันพวกเขาต้องทำงานก่อสร้าง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน เราควรใช้หลักเดียวกันในการแก้ปัญหา อย่าไปมองด้วยอคติว่าเป็นแรงงานข้ามชาติ เพราะหากไม่แก้ไข ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ได้

นอกจากนี้ถ้าเราขาดแคลนแรงงาน เศรษฐกิจไทยจะบอบช้ำ เรื่องสุขภาพของแรงงานข้ามชาติจึงโยงกับคนไทยด้วย การรักษาพยาบาลแรงงานเหล่านี้มีผลต่อสังคมไทยเช่นกัน ที่ผ่านมาอคติแรงงานข้ามชาติในสังคมไทยน้อยลงกว่าสมัยก่อน คือภาพรวมดูดีขึ้น แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ปรากฏว่าคนไทยมองแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในภาพลบยิ่งกว่าเดิม อย่าไปมองว่าเขาเป็นคนผิด นำเชื้อโรคเข้ามา เราต้องมองว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดเรื่องแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งภาครัฐสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อให้เกิดการคุมเข้มลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหมู่แรงงานข้ามชาติได้

จี้ภาครัฐเข้าหาแรงงานข้ามชาติมากกว่าเดิม
อีกจุดหนึ่งที่ รศ.ดร.กิริยาเน้นย้ำ คือ การแก้ปัญหาแพร่ระบาดโควิด-19 ในแรงงานข้ามชาตินั้น ต้องคำนึงทั้งทางด้านสังคมและทางด้านเศรษฐกิจด้วย โดย 2 อย่างนี้จะต้องแก้ปัญหาควบคู่กันไป ซึ่งในเรื่องสังคมนั้น ภาครัฐจะต้องเข้าหาแรงงานข้ามชาติให้มากกว่าเดิม ที่ผ่านมาเราสั่งการแบบบนลงล่าง ไม่ได้เข้าถึงพวกเขาเลย ต้องอย่าลืมว่าเมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหมู่แรงงานข้ามชาติ เขาก็รู้ว่าต้องป้องกันตัวเอง มันก็มีหัวหน้าชุมชนที่คอยดูแลคนอื่น ๆ จุดนี้รัฐสามารถเข้าไปพบได้ หรือประสานกับภาคเอกชนที่ดูแลปัญหาอยู่

โดยผู้นำแรงงานเหล่านี้เปรียบไปเหมือนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เขาก็สร้างเครือข่ายในหมู่แรงงานให้เข้มแข็งได้ ถ้าเราไปเจอตัวผู้นำ แล้วมีการพูดคุยปรึกษาให้ความช่วยเหลือ มันจะทำให้การดูแลเรื่องการแพร่ระบาดคุยกันได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่

อีกจุดหนึ่งคือเรื่องเศรษฐกิจ แรงงานข้ามชาติบางคนตกงาน ไม่มีงานทำตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งแรก ๆ แล้วเขาก็ไปอยู่ในแคมป์พักคนงานกระจุกตัวอยู่ในนั้น ถ้าเราสำรวจดูว่าพื้นที่ไหน ขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ เราก็สามารถโยกย้ายแรงงานที่ตกงานไปทำที่อื่นได้ ถือเป็นการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้มีการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายมาอีกด้วย

นี่คือ 2 สิ่งที่ต้องทำคู่กัน คือ แก้ปัญหาสังคมและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนแรกคือการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ อีกส่วนคือการดูแลปากท้อง หากทำคู่กัน จะช่วยลดปัญหาแรงงานข้ามชาติได้เป็นอย่างดี เพราะคนเหมือนกัน แต่คนไม่เท่ากัน นี่คือถ้อยคำที่สะท้อนจากปัญหาจากแรงงานข้ามชาติ หากสังคมไทยยังก้าวไม่พ้นอคติมองแรงงานเพื่อนบ้านในทางลบ ทั้งที่พวกเขามีความจำเป็นและสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย เราจะแก้ปัญหาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้ยากมากกว่าเดิม

“อนาคตมันเป็นไปได้หมดว่าแรงงานข้ามชาติในรุ่นพ่อมาทำงานเป็นกรรมกร ส่วนรุ่นลูกอาจมาทำงานยกระดับขึ้นไป เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนแก่ เพราะเด็กมีอัตราการเกิดน้อย เราจึงต้องพึ่งแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในหลาย ๆ ด้าน ทุกอย่างมันมีความเป็นไปได้หมด” รศ.ดร.กิริยา กล่าว

 

แหล่งที่มาของข่าว : https://www.dailynews.co.th/article/848159

Copyright © 2018. All rights reserved.