คุมเข้มขอบัตรหัวศูนย์ เวียงแหงจัดระเบียบขอบัตร ป้องกันกลุ่มเรียกรับประโยชน์คืนชีพ

คณะทำงานภาครัฐและเอกชน เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนบนพื้นที่สูง ภาคเหนือ เปิดเผยว่า ตามที่เครือ
ข่ายบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ทั้งเชียงใหม่,เชียงราย,แม่ฮ่องสอน ได้ติดตามปัญหากลุ่มบุคคลที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ตลอดจนหลาย ๆ ภาคส่วนพยายามหาทางออกในการจัดระเบียบชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เป้าหมาย 20 จังหวัด 80 อำเภอ”โดยยึดหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ซ้ำเติมคนมีปัญหา เสริมสร้างโอกาส และ เร่งคลายปมปัญหาไม่ให้สั่งสมจนยากจะแก้ไข กลายเป็นปัญหากระทบความมั่นคง เป็นช่องทางแสวงประโยชน์จากกลุ่มบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และแรงงานข้ามชาติเช่นที่ผ่าน ๆ มา”

ทั้งนี้การรับสิทธิ์ขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย ผ่านกระบวนการยื่นเรื่อง ยื่นเอกสารตามขั้นตอน
เป็นที่ทราบกันดีว่า เกิดช่องโหว่ จนกลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในหลาย ๆ อำเภอ เรียกรับประโยชน์ เป็นขบวนการจนมีการร้องเรียน มีหน่วยงานคดีพิเศษ และหน่วยงานส่วนกลางเข้ามาสืบเสาะหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามเบาะแส จนกระทั่งบางอำเภอ เช่น เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ต้องโยกย้ายข้าราชการระดับสูงออกนอกพื้นที่ และต่อมากรมการปกครอง ได้จัดระเบียบที่เกี่ยวข้องกับภารกิจส่วนนี้ใหม่ ในการประชุมสัมมนาการแก้ไขปัญหา ด้านสถานะบุคคล ในพื้นที่สูง กรณีไม่มีบัตรรับรองสถานะตามกฎหมายของไทย พบอุปสรรคปัญหามากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนประวัติสูญหายหรือไม่ชัดเจน ทางอำเภอไม่พิจารณารับรองคำร้องขอผู้ยื่นขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะเป็นชนกลุ่มน้อย เป็นต้น

จากอุปสรรคปัญหาดังกล่าว ทาง นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ได้แจ้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ให้รับทราบกรอบแนวทางปฏิบัติ งานรับคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมเน้นย้ำ ให้ ทุกอำเภอ ใส่ใจ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ และไม่ให้เกิดการเรียกรับประโยชน์ฟื้นคืนชีพ ซ้ำเติมกลุ่มที่เดือดร้อน ยากลำบากอยู่แล้ว

“หากผู้ยื่นคำร้องขอตามสิทธิ์มีปัญหา ถูกเรียกรับผลประโยชน์ ให้แจ้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หรือรวบรวมเอกสาร
หลักฐาน มายังกรมการปกครอง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป”
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายแก้ปัญหาบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และแรงงานต่างด้าว ในเชียงใหม่ ระบุว่า ยังมีข้อมูลจาก
กลุ่มบุคคลในพื้นที่ อาทิ อ.เวียงแหง ว่า มีการยืนคำร้องขอสัญชาติไป และเมื่อเจ้าหน้าที่ถูกตรวจสอบโยกย้ายไปบางส่วนเอกสารถูกยกเลิก และมีการประสานแจ้งผู้ยื่นเรื่องให้ติดต่อผู้ใหญ่บ้าน เพื่อดำเนินการ ซึ่งหลาย ๆ ราย กังวลการเรียกร้องค่าดำเนินการอีกรอบ เป็นต้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบ หลักเกณฑ์การกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่อพยพเข้ามา และอาศัยอยู่
มานาน ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอโดยระบุถึงมติเดิมเมื่อ 7 ธ.ค. 2553 มีข้อจำกัดและไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด เนื่องจากได้กำหนดเงื่อนเวลาของบุคคล ที่จะได้รับการกำหนดสถานะบุคคลว่าต้องเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 10 ปี จะต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยภายใน 18 ม.ค. 2538 และ มีบุคคลที่ยังคงตกหล่นจากการสำรวจ เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ โดยกลุ่มเป้าหมาย 1,170,000 คน ได้รับการกำหนดสถานะให้อาศัยอยู่ในไทยอย่างถาวรแล้ว 820,000คน คงเหลือต้องพิจารณา 2 ส่วน อีก 4 แสนคน แยกเป็นกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะ และสิทธิที่ไม่ได้เกิดในไทย และได้สำรวจจัดทำทะเบียนไว้ในอดีตภายใต้การอนุมัติของ ครม.ไม่รวมกลุ่มที่เกิดในไทย 350,000 และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่ตกหล่นจากการจัดทำทะเบียนประวัติ 5 หมื่นคน ในการจัดทำทะเบียนประวัติให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ตกหล่นตามมาตรา 19/2 และมาตรา 38 วรรค 2 พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่อ้างว่าตกสำรวจ แต่มีภูมิลำเนาต่อเนื่องในไทย และไม่มีสถานะตามกฎหมาย และกลุ่มคนไร้รากเหง้า

โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่อ้างว่ามีปัญหาสถานะและสิทธิ ที่มีภูมิลำเนาชัดเจนและอาศัยอยู่ในไทยต่อเนื่อง สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนและรับบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือบัตรหัวศูนย์ได้ สำหรับ จ.เชียงใหม่ นั้น พบว่าตามอำเภอรอบนอก เขตเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น อ.สันทราย, แม่ริม,หางดง, ดอยสะเก็ด , สารภี ยังมีกลุ่มบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่ เกิดในพื้นที่ แต่ไม่มีเอกสาร หลักฐาน ตามกระบวนการรับรองสิทธิ์ ด้านกฎหมาย มีหลายภาคส่วนทั้งทางจังหวัด,อำเภอ, สถานศึกษา,ท้องที่,ท้องถิ่น พยายามช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างโอกาสให้บุคคล โดยเฉพาะเยาวชน มีโอกาสด้านการศึกษา ,การทำงาน ตามกรอบแนวทางที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในการประชุม เมื่อ ม.ค.2564 ของคณะทำงานแก้ไขปัญหาการขอมีสถานะคนต่างด้าว เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย ระบุว่า โครงการยึดตามมติ ครม. ที่ครอบคลุม 14 กลุ่ม พบผู้ขอในระบบ 5,647 ราย จัดเตรียมคำขอยื่นต่อสำนักทะเบียนอำเภอ 3,825 ราย ยื่นเรื่องแล้ว 2,026 ราย อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบและพิจารณาระดับจังหวัด 2,815 ราย

 

ขอบคุณแหล่งที่มาของข่าว

https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1575033/

Copyright © 2018. All rights reserved.