ข้อเสนอการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)

ในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจังหวัดภูเก็ต วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

๑.ให้มีมติ ครม.คุ้มครองพื้นที่กรณีปัญหาของพีมูฟ ซึ่งอยู่ในการแก้ปัญหาร่วมกับรัฐบาลไม่ให้ถูกคุกคามจนกว่าการแก้ปัญหาจะมีข้อยุติทุกกรณีปัญหา
๒.ให้ คทช. ดำเนินการนโยบายโฉนดชุมชน เป็นแนวทางหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้แนวทาง คทช. และดำเนินการรับพื้นที่โฉนดชุมชนที่ยื่นขอไว้ ๔๘๖ ชุมชน เพื่อไปตรวจสอบและดำเนินการต่อเนื่องโดยเริ่มต้นจากชุมชนที่เป็นสมาชิกพีมูฟ ที่เสนอเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนแล้ว
๓.ให้ออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ที่ดิน ที่เกิดจากกระบวนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ โดยไม่มีการตรวจสอบ คดีผู้ได้รับผลกระทบจากแผนทวงคืนผืนป่า คดีความที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการแก้ปัญหาที่ดินกับรัฐล่าช้าจนเกิดคดีความคนจนขึ้น รวมทั้งยุติการดำเนินคดีกับทุกกรณีปัญหาที่อยู่ในกระบวนการแก้ปัญหาที่ล่าช้า
๔.ทบทวนและยกเลิกกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับ พ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้ง ๓ ฉบับ ซึ่งขัดกับสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และทบทวนกฎหมายทั้ง ๓ ฉบับด้วย

๕.ให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเร่งดำเนินการแก้ปัญหาชุมชนไร้ที่ดิน และสนับสนุนงบประมาณ ให้ บจธ.๕๕๐ ล้าน เพื่อดำเนินการจัดซื้อที่ดินตามบัญชีของชุมชนที่จะดำเนินการแก้ปัญหาคนจนได้
๖.ตามที่อดีตประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟ รองนายกรัฐมนตรี(นายวิษณุ เครืองาม) ได้เคยมีบัญชาที่จะลงดูพื้นที่การจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบาย คทช. จึงเสนอให้คณะกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟ เป็นเจ้าภาพร่วมกับเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ตจัดงานมหกรรมโฉนดชุมชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตโดยประธานคระกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟ รองนายกรัฐมนตรี ลงมาเป็นประธานจัดงาน และดูรูปธรรมในพื้นที่จริงโดยเร็ว
๗.เสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการผลักดัน พรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ตามแผนปฏิรูปประเทศ ในขณะที่ดำเนินการอยู่ให้รัฐบาลสนับสนุนการขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรี ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และ มติคณะรัฐมนตรี ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยให้มีคณะกรรมการอำนวยการ ติดตาม และขับดคลื่อนมติคณะรัฐมนตรี ทั้ง ๒ เรื่องให้เกิดรูปธรรม

๘.ให้รัฐบาลเร่งคุ้มครองเกษตรกรที่เคยได้รับสิทธิ สปก. แล้วและทำกินในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง แต่ต่อมา เกิดการทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ และอื่นๆ ซึ่งกำลังถูกยึดคืนพื้นที่ สปก. และเริ่มมีปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินของสมาชิก และที่ดินที่เตรียมการแจก สปก.ใหม่ด้วย
๙.นโยบายด้านสถานะและสิทธิบุคคล
(๙.๑) นโยบายการแก้ปัญหาด้านสถานะและสิทธิบุคคลของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์ุ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องมายาวนานเป็นการเร่งด่วนภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน
(๙.๒) ให้ขยายมติคณะรัฐมนตรี ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ เพื่อสำรวจคนตกหล่น/ตกสำรวจเป็นการเฉพาะ นำไปสู่การแก้ปัญหาคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ
(๙.๓) แต่งตั้งกรรมการ/คณะทำงานแก้ปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลที่เป็นกรรมการ/คณะทำงานกลางโดยปฎิบัติงานภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน มีนักวิชาการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มคนไร้สิทธิสถานะเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มปัญหา

แหล่งข้อมูล https://siamrath.co.th/n/194326
Copyright © 2018. All rights reserved.