ไร้สัญชาติยังไร้สิทธิ เข้าไม่ถึงรัฐเยียวยา

“เพราะฉันไม่มีบัตรประชาชน …ฉันจึงไม่ได้รับการช่วยเหลืออะไรเลย” คำพูดจากใบหน้าเศร้าหมอง ดวงตาฝ้าฟางของผู้เฒ่าชาวอาข่า อายุกว่า 65 ปีแล้ว อีกทั้งบางคนก็พิการ บางคนเป็นผู้ป่วยติดเตียง ใช้ชีวิตอยู่แต่ละวันอย่างยากลำบาก บ้างก็ไม่มีลูกหลานดูแล อยู่ตามลำพัง

ประเด็นน่าสนใจมีว่า…ผู้เฒ่าเหล่านี้บางคนตกหล่นจากการสำรวจไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร บางคนถือ…บัตรเลข 0 บางคนถือ…บัตรเลข 6 แม้จะเกิดในประเทศไทยหรือเข้ามามีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในประเทศไทย 30 ถึง 60 ปีแล้ว จนกลมกลืนเข้ากับสังคมไทย มีลูกหลานเป็นคนชาติไทย

อีกทั้ง…บางคนก็ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบถิ่นที่อยู่ 15- 20 ปี แต่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการแปลงสัญชาติ หรือเข้าสู่กระบวนการแปลงสัญชาติแล้วแต่ติดเงื่อนไขและขั้นตอนที่ต้องใช้เวลามากและเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายหน่วยงาน

อย่าทิ้งคนไร้สัญชาติไว้เบื้องหลัง จากมาตรการเยียวยาผู้ได้รับ ผลกระทบจากโควิด-19?

เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เครือข่าย สสส. ได้นำตะกร้ายังชีพจาก “โครงการเทใจ”…มีข้าวสาร ไข่ไก่ ผลไม้ สบู่ ยาสีฟันและเงินสด ไปมอบให้ถึงบ้าน น้ำตาของผู้เฒ่าก็ไหลรินด้วยความดีใจ กล่าวขอบคุณจากหัวใจคนแก่ ที่ยังมีคนจิตใจดีงามที่คิดถึงผู้เฒ่าที่ไม่มีใครมองเห็น

โครงการพัฒนาสุขภาวะผู้เฒ่ารัฐไร้สัญชาติในพื้นที่พรมแดนไทย-พม่า และไทย-ลาว ตั้งแต่ปี 2555 โดยมูลนิธิ พชภ.ได้เห็นความก้าวหน้าระดับนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา “คนไร้สัญชาติ” คือ

มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เห็นชอบร่างคำมั่นของไทย ที่จะประกาศในการประชุมระดับสูงว่าด้วย… “ความไร้รัฐ” โดยคณะกรรมการบริหารของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ United Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR) สมัยที่ 70

ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในวันที่ 7 ตุลาคม 2562…เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะพัฒนากระบวนการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 7 ประเด็น พบว่า…

ประเด็นที่มีการดำเนินการด้วยดีแล้วคือ…การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2548 ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งรัฐบาลควรเร่งดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมมีดังนี้

หนึ่ง…การยกระดับการให้ความคุ้มครองทางสังคมแก่คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ สอง…การปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการพิจารณาสัญชาติและสิทธิความเป็นพลเมือง เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการพิจารณาสถานะให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค

สาม…การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบที่จะอำนวยความสะดวกให้คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เข้าถึงบริการของสำนักทะเบียนได้สะดวกยิ่งขึ้น สี่…การเร่งรัดการขจัดภาวะความไร้รัฐในกลุ่มผู้สูงอายุไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

ข้อมูล กรมการปกครอง (ธันวาคม 2562) ระบุว่า คนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยที่มีทะเบียนราษฎรและเลขประจำตัว 13 หลัก…กลุ่มที่ 1 คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ 60,023 คน (บัตรเลข 3, 4, 5, 8)…กลุ่มที่ 2 คนที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธุ์ (บัตรเลข 6) 195,640 คน…

กลุ่มที่ 3 บุตรของคนกลุ่ม 1-2 (มีสูติบัตรเลข 7) 308,319 คน… กลุ่มที่ 4 บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน 274,675 คน (บัตรเลข 0)…กลุ่มที่ 5 บุตรของคนกลุ่ม 4 (มีสูติบัตรเลข 0) 78,340 คน รวม 916,097 คน

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่เคยมีเลขประจำตัว 13 หลักแล้วแต่ถูกจำหน่ายชื่อออกจากระบบทะเบียนราษฎรกำลังอยู่ในกระบวนการขอคืน ชื่อเข้าทะเบียนบ้าน เช่น กลุ่มไทยพลัดถิ่นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระนอง ซึ่งแจ้งว่าได้ยื่นเรื่องยืนยันการมีตัวตนที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นแล้วแต่ยังไม่ได้คืนชื่อเข้าทะเบียน

รวมทั้งคนไร้รัฐที่ตกหล่นการสำรวจ ไม่มีตัวตนทางกฎหมายของ รัฐไทยและรัฐอื่นๆในโลก

บุคคลเหล่านี้กำลังได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด ควรได้รับ “การคุ้มครองทางสังคม” ตามที่ผู้แทนไทยประกาศให้คำมั่นต่อ UNHCR

เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” นักพัฒนาซึ่งทำงานด้านชาติพันธุ์ และร่วมต่อสู้ในกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา มองว่าการพิจารณาคุณสมบัติตามที่หน่วยงานต่างๆ กำหนดว่าจะช่วยเหลือ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนที่ถูกเลิกจ้างงาน เกษตรกร เป็นต้น ไม่ควรใช้เกณฑ์การมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นคนสัญชาติไทยเท่านั้น

“ควรพิจารณากลุ่มคนไร้สัญชาติที่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร อยู่มานานจนกลมกลืนกับสังคมไทย สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมให้กับสังคมไทยไม่ให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เป็นความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยเหตุแห่งสถานะทางกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน”

มี…หนังสือสั่งการจาก อธิบดีกรมการปกครอง (นายธนาคม จงจิระ) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 คือ งานด้านสัญชาติและสถานะบุคคล เป็นหนึ่งใน 10 งานสำคัญของกรมการปกครอง

ขอให้จังหวัดแจ้งอำเภอทุกแห่งให้ตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายและดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด มีหลักการปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน โดยมุ่งแก้ปัญหาให้บุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทยได้รับการเยียวยา

“การใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจอนุมัติให้คำนึงถึงความมั่นคงของมนุษย์เป็นสำคัญ”

กรณี “สำนักทะเบียน” ที่มีบุคคลกลุ่มเป้าหมายเป็นจำนวนมากให้นายทะเบียนจัดลำดับความสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน คือ กลุ่มเด็กนักเรียน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนป่วย คนยากจน…เป็นลำดับต้น

ให้ตระหนักว่านโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายและนโยบายของรัฐให้ได้รับการแก้ไขปัญหา มิใช่เป็น การช่วยสนับสนุนให้บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติได้สถานะและสัญชาติ

ต่อมาปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายฉัตรชัย พรหมเลิศ) มีหนังสือ ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องการปรับปรุงแนวทางประกอบการพิจารณาการให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อย โดยการแปลงสัญชาติตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508

สรุปได้ว่า…รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา) ให้ความเห็นชอบปรับปรุงแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจการ พิจารณาคุณสมบัติของคนต่างด้าวในการยื่นขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป

ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่รัฐมีนโยบายแก้ไขปัญหา โดยปรับเกณฑ์การ พิจารณาคุณสมบัติ เช่น การมีความประพฤติดี, การมีอาชีพ, การมีภูมิ– ลำเนาในราชอาณาจักรต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี, การมีความรู้ภาษาไทย

สาระของหนังสือสั่งการทั้งสองฉบับเป็นเสมือนการเน้นย้ำการปฏิบัติ ตามมติคณะรัฐมนตรีให้กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการพัฒนาสถานะให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค

“โควิด-19”…ระบาด สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง หลายชีวิต หลายอาชีพที่ลำบากอยู่แล้วก็ยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก…ทุกชีวิตล้วนต้องการความช่วยเหลือ ดูแล เพียงรอโอกาสจะมาถึงตัวเท่านั้น.

 

แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/1847119

Copyright © 2018. All rights reserved.