งานวันชนเผ่าพื้นเมืองปี 2562 ชี้ยังมีปัญหาที่ดิน-สถานะบุคคล ขวางการเข้าถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสมัชชาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองประจำปี 2562 เลขาธิการฯ ชี้ปัญหาที่ดิน-สถานะบุคคล ขวางการเข้าถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ แนะยอมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติในสังคมพหุวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสมัชชาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่าย จัดงาน “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2562” โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กว่า 36 กลุ่มเข้าร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในเวทีการเสวนาเรื่อง “ตัวตนชนเผ่าพื้นเมืองและการยกระดับมติ ครม. แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงและชาวเล” เนื่องในงานวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2562  สรุปว่า แม้ปัจจุบันสังคมไทยจะยอมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติมากขึ้น แต่ประเด็นปัญหาที่ยังดำรงอยู่เมื่อพิจารณาจากเรื่องร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับ คือ ปัญหาที่ดินทำกิน โดยชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยบนพื้นที่สูงหรืออาศัยอยู่ในป่า ตลอดจนชนเผ่าพื้นเมืองชาวเลที่อาศัยตามเกาะแก่งในทะเลหรือพื้นที่ชายฝั่งมายาวนานหลายร้อยปี มักเกิดข้อพิพาทระหว่างชนเผ่าเหล่านั้นกับรัฐหรือเอกชนในประเด็นความเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริง ปัญหาดังกล่าวยึดโยงกับการจัดการที่ดินและระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน และหากไม่มีการแก้ไขเชิงโครงสร้างปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรก็จะยังดำรงอยู่ โดยคนส่วนน้อยหรือนายทุนก็ยังคงเป็นผู้ถือครองที่ดินจำนวนมากตามการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเนื่องจากที่ดินเป็นทั้งปัจจัยการผลิตและทุน

นายโสพล กล่าวต่อไปว่า ประเด็นปัญหาต่อมาของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ปัญหาด้านสถานะบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่ยึดโยงกับสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ หลักคิดสำคัญของเรื่องนี้คือมนุษย์ทุกคนต้องมีรัฐสังกัด ไม่ว่าจะสังกัดในฐานะพลเมืองหรือในฐานะที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้น ด้วยเหตุผลและความจำเป็นที่มิอาจก้าวล่วงได้ เช่น เป็นบุคคลที่ไม่มีรัฐใดรับรองความเป็นพลเมืองแต่มีถิ่นที่อยู่หรือมีถิ่นพำนักในประเทศไทยเป็นการถาวรและ/หรือมีจุดยึดโยงกับประเทศไทยโดยการแต่งงาน ก่อตั้งครอบครัว หรือมีบุตรกับคนไทย เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องถือสัญชาติไทย แต่จะต้องมีสถานะใดสถานะหนึ่งเพื่อจะเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ และอนาคตหากคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดก็สามารถขอมีสัญชาติไทยได้ อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานะบุคคลให้ทันสมัยและเอื้อต่อการได้มาซึ่งสิทธิสถานะของคนทุกคนมากยิ่งขึ้น โดยปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขลุล่วงไปมาก แต่การปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ก็ยังมีข้อติดขัดและใช้เวลาในการดำเนินการยาวนาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขต่อไป

“หลักการสำคัญของเรื่องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่ทุกคนควรตระหนัก คือ การยอมรับความแตกต่างหลากหลายระหว่างเชื้อชาติ ยอมรับความเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ และเข้าใจในความเป็นพหุสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การไม่เลือกปฏิบัติแบ่งเขาแบ่งเรา มองคนเป็นคน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนทุกเผ่าพันธุ์ หากมีหลักคิดเช่นนี้เป็นที่ตั้ง การแก้ปัญหาให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์หรือปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ก็จะลุล่วงไปได้ด้วยดี” นายโสพลกล่าวทิ้งท้าย

 

แหล่งข่าว : https://prachatai.com/journal/2019/08/83808

Copyright © 2018. All rights reserved.