“ณัฐวุฒิ – จุติ” อภิปรายนโยบายสิทธิคนชายขอบ

“ณัฐวุฒิ บัวประทุม” ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กระตุกรัฐบาล ต้องเข้าใจคนชายขอบ ด้าน “จุติ ไกรฤกษ์” รมว.พม. ย้ำ นายกฯ กำชับให้ดูแลเป็นพิเศษ พร้อมเชิญ ส.ส.อนาคตใหม่ ร่วมแก้ปัญหา

วันนี้ (26 ก.ค.2562) นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ้นอภิปรายนโยบายด้านสิทธิของผู้ด้อยโอกาส ที่ปรากฏในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา โดยระบุว่าหากดูจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และคำแถลงนโยบายของรัฐบาล มีการใช้คำที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ผู้ประสบปัญหาทางสังคม จึงตั้งคำถามว่าการให้ความหมายของคำว่าผู้ด้อยโอกาสของนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างไร พวกเขาไม่ใช่คนด้อยสิทธิ ด้อยโอกาสในความหมายที่ต้องให้การสงเคราะห์ แต่เขาเป็นเจ้าของสิทธิของตนเอง เป็นประธานแห่งสิทธิ มีศักดิ์และศรี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน หลักคิดเหล่านี้หากปรับให้เข้าใจตรงกัน จะทำให้นโยบายที่เกี่ยวข้องมีความชัดเจนมากขึ้น

นายณัฐวุฒิ ระบุถึงนโยบายด้านแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะโอกาสของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่น ปัญหาเด็กและเยาวชนถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ ที่พบว่าปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขยอมรับอย่างเป็นทางการ ว่ามีอัตราการรังแกกันในโรงเรียนสูงเป็นอันดับสองของโลก Bullying หรือ การรังแกกัน ทั้ง ครูละเมิดเด็ก เด็กละเมิดกันเอง หรือคนภายนอกเข้าไปละเมิดทางเพศเด็กในโรงเรียน จึงตั้งคำถามว่านโยบายในการป้องกันปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างไร โดยพบว่ามีเด็กอยู่ในอัตราเสี่ยงมากถึง 2.7 ล้านคน

ขณะที่กลุ่มความหลากหลายและเสมอภาคทางเพศ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง โดยพบว่าประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยมีถึง 4.3 ล้านคน หรืออาจถึง 7 ล้านคน ไทยรับข้อแนะนำจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูพีอาร์ โดยรับมา 187 ข้อ หลายข้อพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่กลับไม่มีในคำแถลงนโยบายรัฐบาล

ไม่มีคำว่าหลากหลายทางเพศในคำแถลงนโยบายรัฐบาล ท่านมองเขาอย่างไร การสมรส เรื่องสิทธิการใช้ชีวิตคู่ เรื่องทรัพย์สิน และท่านมองเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร 

เช่นเดียวกับกรณีผู้หญิง ยกตัวอย่างกลุ่มท้องไม่พร้อม นายณัฐวุฒิ กล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านกฎหมายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยมีการออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 4 ฉบับ แต่ยังเหลือส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทยที่ยังไม่ออกกฎกระทรวง

นอกจากนี้ยังระบุถึงผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ซึ่งประเทศไทยมีผู้ต้องขังหญิงสูงที่สุดในโลกมากถึง 4 หมื่นคน แต่เมื่อจะมีการออกกฎหมายดูแลผู้ต้องขังหญิงเป็นกรณีพิเศษ กลับมีการทักท้วงว่าเขียนแบบนั้นไม่ได้

 

ท่านทราบไหมครับ มีบางท่านบอกว่าเขียนแบบนั้นไม่ได้ ชายและหญิงเท่าเทียมกัน ถ้าเขียนแบบนี้ แสดงว่าเลือกปฏิบัติต่อผู้ชาย นี่หรือครับ วิธีคิดของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศไทย 

กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ นายณัฐวุฒิ ระบุ ข้อมูลประเทศไทยมีผู้พิการ 3.7 ล้านคน แต่ร้อยละ 50 ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน โดยยกตัวอย่างที่ประชุมทีโอที ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ประชุมรัฐสภา กลับไม่มีสัปปายะสถาน ไม่มีทางที่วีลแชร์จะสามารถเข็นขึ้นด้วยตัวเองได้ โดยเสนอให้มีเรื่องบทบาทของการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน หรือ CBR (Community based Rehabilitation) โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ อสม. อพม. มีบทบาทอย่างไร

ขณะที่ กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ที่มีการระบุในถ้อยคำแถลงนโยบายว่าจะมีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องชาติพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ตั้งคำถามถึงกฎหมายที่จะมีการแก้ไขว่าเป็นอย่างไร


ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสภาชนเผ่าพื้นเมืองหรือไม่ ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับเขตวัฒธรรมพิเศษ ที่พวกเขารอมาโดยตลอดหรือไม่ ใช่กฎหมายให้เขาใช้ชีวิตดำรงอยู่ในป่าตามวิถีชีวิตของเขาหรือไม่ ใช่กฎหมายให้สถานะบุคคลหรือไม่ พวกเราใช้ชีวิตเลข 13 หลัก ไม่แปลกอะไร ใช้ชีวิตเหมือนคนโดยทั่วไป พวกเขามีเลข 0 คนจำนวนมากไม่มีแม้กระทั่งเลขตัวใดตัวหนึ่ง

 

ขณะที่กลุ่มลูกหลานแรงงามข้ามชาติในไทย ซึ่งเป็นกลุ่มชายขอบที่สุด นายณัฐวุฒิ ระบุว่า หากนายกรัฐมนตรีจะแก้ไขคำพูดที่ได้พูดกับ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กรณีโรฮิงญา ที่ว่า “ปล่อยให้คนที่ต่างจากเราเข้ามาอยู่ในประเทศเรา จะมีปัญหา” หากนายกฯ จะอธิบายว่าไม่ได้พูด หรือมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็จะมีประโยชน์ทำให้เราเห็นว่าในฐานะประชาคมอาเซียน เราไม่ได้มองคนอื่นในประเทศเราแบบนั้น พร้อมเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขตั้ง “อาเซียน เฮลท์ฟันด์” (Asean Health Fund) เพื่อแชร์กันเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

“คุณไม่เคยลำบากจนยากไร้ แต่ปากคุณเอาใจคนยากจน” พูดง่ายๆ พวกเราพูดแบบนักการเมือง ประชาชนฟังแล้วนึกว่าเราเข้าใจเขา แต่จริงๆ เราไม่เข้าใจ ขอเรียกร้องประธานฯ ผ่านไปถึงนายกฯ และรัฐมนตรี พิสูจน์ให้เห็นว่า เวลามองคนด้อยโอกาสทั้งหมด มองอย่างเคารพความแตกต่าง มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมเราหรือไม่ หากทำได้ พร้อมให้กำลังใจ สนับสนุนงานของท่าน และเดินร่วมงานไปกับท่าน

รมว.พม. เปิดรับทุกคำแนะนำ พร้อมชวนกันแก้ปัญหา

ด้าน นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวชี้แจงกรณีนี้ โดยระบุว่า ได้พบกับตัวแทนสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และได้ตกลงร่วมกันว่าเรื่องนี้สำคัญ พวกเขาต้องมีที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะจัดทำเวิร์กชอปสำหรับคนที่สนใจ เพื่อทำให้ปัญหานี้ได้ถูกแก้ไข รวมถึงกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย


นายกรัฐมนตรีกำชับมาโดยตลอดว่าอย่าทิ้งคนกลุ่มนี้ โดยเบื้องต้นจะประสานงานไปยังสมาชิกสภาท้องถิ่น เพื่อลงพื้นที่ไปดูว่า กระทรวง พม. จะมีบทบาทเชิงรุกได้อย่างไรบ้างภายใต้ข้อจำกัดที่มี

ส่วนกรณีการตั้งครรภ์ไม่พร้อม นายจุติ ระบุว่า มีจำนวนมากและพวกเขาเป็นอนาคตของประเทศ ก็จะดูแลว่าบุตรที่เกิดมามีความสมบูรณ์ มีโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่น ทั้งอาชีพและการเข้าสู่สังคม ซึ่งอาจต้องบูรณาการกับกระทรวงแรงงาน โดยมี กระทรวง พม. เป็นพี่เลี้ยงให้ก่อนในเบื้องต้น

สำหรับการเตรียมตัวคนไทยสู่สังคมสูงอายุ ก็จะมีการทำเวิร์กชอปเชิงปฏิบัติการ โดยมองไปที่อนาคต 15 ปี ไทยต้องมีความพร้อมเตรียมการอย่างไร

นายจุติ ยังกล่าวในตอนท้ายว่า เชิญชวนนายณัฐวุฒิเข้าร่วมกันแก้ไขปัญหา และตั้งใจจะเชิญ ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่หลายคนมาร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ พร้อมขอบคุณที่ให้ความสนใจและชี้ปัญหาให้เห็น

 

“อนุพงษ์” แจงแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงกรณีการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติในประเทศไทย โดยระบุว่า เริ่มมีการสำรวจตั้งแต่ปี 2538 แล้วเสร็จปี 2554 ซึ่งกลุ่มที่ได้รับการสำรวจแล้วมีหมายเลขทั้งหมด ส่วนกระบวนการให้สัญชาติต้องดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนคนที่ตกสำรวจก็จะดำเนินการให้ แต่บุตรที่เกิดจากคนเหล่านี้ได้รับสัญชาติทั้งหมด

พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า การที่จะให้ใครเข้ามาในแผ่นดินนี้โดยให้กฎหมาย สัญชาติ ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ใบต่างด้าว ให้เป็นคนสัญชาติไทยที่จะทำอะไรก็ได้ ต้องคิดให้ละเอียด มันเป็นสองด้านที่ต้องคิดให้ละเอียด เพราะคนไทยเองก็ยังไม่มีที่ดินทำกินอีกมาก

ไม่ได้เถียง แต่อย่าให้เข้าไปใกล้เป็นม้าอารีย์ มันก็จะไม่ไหว ถามว่าทำไมต้องเห็นแก่ตัวอย่างนั้น เราได้รับคำชมเชยในเรื่องคนไร้รัฐ เพราะเราให้มากจริงๆ 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมาเราให้หลายหมื่นคน

พร้อมระบุชมเชยว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่ต้องคิดให้ละเอียด อาจจะต้องมาคิดในส่วนของนิติบัญญัติว่าจะให้เขาไหม ส่วนกลุ่มอื่นที่ละเอียดอ่อนขอไม่กล่าว เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินไป

 

แหล่งข่าว : https://news.thaipbs.or.th/content/282084

Copyright © 2018. All rights reserved.