ศธ.สุ่มตรวจจัดการศึกษาเด็กไร้สัญชาติร.ร.ยังขาดความเข้าใจ

ศธ.เร่งสร้างความเข้าใจจัดการศึกษาคนไร้สัญชาติ หลังสุ่มตรวจพบหลายพื้นที่ขาดการดูแลให้มีคุณภาพ ไม่รู้ ปัญหาการสอนภาษาไทย ยังพบเด็กมาบงทะเบียนหวังได้วีซ่าพำนักในไทย แต่ไม่มาเรียนจริง เล็งถกร่วมจัดการศึกษาในค่ายผู้ลี้ภัย

ดร.วีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานติดตามการดำเนินงานกำหนดสถานะบุคคลในสถานศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในศธ. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(ททท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้หารือถึงการจัดการศึกษาให้แก่คนไร้สัญชาติที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งจากการลงพื้นที่สุ่มตรวจการจัดการศึกษาให้แก่คนกลุ่มนี้ พบปัญหาว่า บางสถานศึกษาไม่ทราบนโยบายว่าต้องเข้าไปจัดการศึกษาให้คนกลุ่มนี้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง และไม่ทราบวิธีปฏิบัติ ยังมีปัญหา เรื่องการสอนภาษาไทย เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้มีหลายสัญชาติ มีปัญหาเรื่องการพัฒนาสถานะของผู้เรียนหลังจากเรียนแล้วว่าจะได้รับสิทธิในการเปลี่ยนสัญชาติ หรือได้ไปเรียนต่ออย่างไร และยังค้นพบว่าบุคคลเหล่านี้จำนวนหนึ่งไม่สนใจที่จะมาเรียนจริง แต่ลงทะเบียนเรียนไว้เพื่อให้ได้รับสิทธิในการไปขอวีซ่าพำนักในประเทศไทย

“ที่ผ่านมาก็มีแนวปฏิบัติให้สถานศึกษาอยู่แล้ว แต่การประชาสัมพันธ์อาจจะไม่ทั่วถึง และบางมาตรการยังไม่ชัดเจน เช่น แนวทางพัฒนาสถานะและสิทธิของเด็ก วิธีการให้ครูสอนภาษาไทยได้ดีขึ้นกับกลุ่มคนที่เป็นนักเรียนสัญชาติอื่น การแจ้งว่านักเรียนที่มาลงทะเบียนเข้าเรียนจริงหรือไม่ต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาให้วีซ่า เป็นต้น ดังนั้น ได้มอบให้สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ศธ.ไปจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนและแจ้งไปต้นสังกัด เพื่อแจ้งต่อไปยังสถานศึกษา และจะมีการประชุมศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้สื่อสารและให้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน”ดร.วีระกุล กล่าว

ดร.วีระกุล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงกลุ่มผู้ที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยสงคราม ซึ่งโดยหลักการต้องอยู่ที่ตรงนั้นการเดินทางออกมาเรียนนอกค่ายน่าจะไม่ถูกต้อง แต่ปรากฏว่าขณะนี้มีเด็กจำนวนหนึ่งมาเรียนในโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งทาง สพฐ.ชี้แจงว่าได้แจ้งไปสถานศึกษาทุกแห่งแล้วว่าให้ดูสถานะของผู้ที่เข้ามาเรียนด้วย ซึ่งคนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยต้องได้เรียนซึ่งขณะนี้ก็มีหลายหน่วยงานเข้าไปจัดการศึกษาให้ในค่ายผู้ลี้ภัย โดยที่ประชุมเห็นว่าการเข้าไปจัดการศึกษาควรเป็นการจัดการศึกษาที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และองค์กรเอกชน ไม่ใช่ต่างคนต่างเข้าไปจัดแบบที่ผ่านมา ซึ่ง ศธ.จะหารือเรื่องนี้กับสำนักงานสภาความมั่งคงแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ว่า จะพัฒนาวิธีการจัดการศึกษาให้แก่ผู้หนีภัยสงครามอย่างไร.

ที่มา : https://mgronline.com/qol/detail/9610000110208

Copyright © 2018. All rights reserved.