บทความ “การแจ้งเกิด” กับ “การขีดฆ่าวงจรแห่งการไร้ซึ่งสถานะทางทะเบียนของผู้ไร้เดียงสา”

การแจ้งเกิด กับ การขีดฆ่าวงจรแห่งการไร้ซึ่งสถานะทางทะเบียนของผู้ไร้เดียงสา บทความ โดย ชญาดา รุ่งเต่า ร่วมกับ เจสสิก้า แอน นิคสัน ฝ่ายสื่อสารองค์กร องค์การยุติธรรมนานาชาติ

ในขณะที่สถานการณ์ความมั่นคงของประเทศกำลังร้อนฉ่า ด้วยเหตุการณ์ท้าทายประเด็นมนุษยชนว่าด้วยการจัดการปัญหาความรุนแรงทางภาคใต้ ที่ได้เขย่าความมั่นคงแห่งสถาบันที่เคารพหรือยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย ด้วยการฆ่าชีวิตพระสงฆ์หรือครูรายวัน อีกมุมหนึ่งได้เกิดภาพการคร่าชีวิตรายวันเช่นกัน เพียงแต่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ และเกิดกับกลุ่มที่กระแสสังคมทั่วไปยังคงมีทัศนคติที่มองเห็นว่าเป็นอื่น นั่นคือ เด็กทารกที่ลืมตาดูโลกแต่ถูกขีดฆ่าทางสถานะบุคคล ในการนับขึ้นทะเบียนเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพียงเพราะเกิดจากบิดาหรือมารดาที่เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

เฉกเช่น ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ผู้ที่ติดตามข่าวคนไร้รัฐไร้สัญชาติ อาจเคยได้ยินเรื่องราวสุดเศร้าของแม่เลี้ยงเดี่ยวชาวไทยใหญ่ที่ถูกจับกุม ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เธออุ้มลูกน้อยอายุเพียง 20 วัน ณ ที่ว่าการอำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีภาพที่พึงสงวนไว้หลุดออกไปสู่สังคมออนไลน์อันน่าสะเทือนใจเมื่อแม่ได้อุ้มลูกแนบอกด้วยสายตาที่หวาดหวั่นภายในห้องคุมขัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาพหรือเหตุการณ์ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้น เพราะช่องว่างแห่งดุลพินิจในความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎรในบางพื้นที่ ที่ปฏิเสธการรับแจ้งเกิดแม้ว่าจะมีกฎหมายตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองว่าด้วย เรื่องการรับแจ้งเกิด ฉบับวันที่ 22 มกราคม 2558 ซึ่งมีเนื้อหาโดยรวมกำหนดให้ “นายทะเบียน สามารถรับแจ้งเกิดหรือจดทะเบียนการเกิด และออกสูติบัตรให้กับคนที่เกิดในราชอาณาจักรไทยทุกคน ไม่ว่าบิดามารดาของเด็กจะเป็นคนต่างด้าวประเภทใด มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่ก็ตาม” สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเหมือนกับน้ำผึ้งหยดเดียว ที่นำไปสู่ปัญหาที่น่าปวดหัวพัวพันไปอีกหลายปัญหาหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น การพิจารณาผลักดันแม่และเด็กออกนอกประเทศในช่วงเปราะบาง การแยกแม่เด็กออกจากที่คุมขัง ลูกอ่อนที่ขาดโอกาสในการได้กินนมแม่ การพิสูจน์สัญชาติเด็กตามที่แม่ระบุว่ามีพ่อเป็นคนไทย และอีกมากมาย

ในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ มีสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ยากต่อการแก้ นั่นคือ การขาดเอกสารการแจ้งเกิด หรือเอกสาร ทร. 1/1 จากสถิติการตรวจสอบคุณสมบัติด้านสถานะบุคคล ปี 2561 เพียงแค่พื้นที่จังหวัดเดียว คือ แม่ฮ่องสอน มีสถิติของคนที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคลด้วยการขาดใบแจ้งเกิดมากถึงเกือบครึ่งต่อครึ่ง คือ 12,100 ราย จากจำนวนคนไร้รัฐไร้สัญชาติทั้งหมด 37,000 กว่าราย (ข้อมูลจากคณะทำงานการจัดการแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สิทธิการก่อตั้งครอบครัวและการอยู่อาศัยคนไร้สถานะทางกฎหมายตามหลักสิทธิพลเมืองในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการจัดสัมมนาโดยเครือข่ายสถานะบุคคล 32 องค์กร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิแห่งชาติ เพื่อร่วมหาทางออกถึงปัญหาของสิทธิการตั้งครอบครัว และแนวทางรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่ทวีความรุนแรงพัฒนาการก่อตัวขอปัญหาไปตามโลกที่ไร้พรมแดน

โดยส่วนหนึ่ง นายวีนัส สีสุข ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ได้กล่าวถึงขั้นตอนการแจ้งเกิดไว้ว่า “บิดามารดามีหน้าที่ในการแจ้งเกิดสำหรับเด็กที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ภายใน 15 วันหลังจากคลอด แก่สำนักทะเบียนอำเภอ หรือท้องถิ่น ยิ่งมีการแจ้งช้า ก็ยิ่งทำให้กระบวนการมีความยุ่งยากมากขึ้น เพราะยิ่งแจ้งช้าปล่อยไว้นานวัน เช่น บางคนมาแจ้งตอนอายุ 20 ปี หลักฐานเอกสารต่าง ๆ หรือแม้แต่พยานบุคคลก็ยากที่จะรวบรวม ในรูปแบบเอกสารสูติบัตรปัจจุบันได้มีการปรับปรุงช่องของการใส่ข้อมูลที่รองรับต่อการจดทะเบียนแจ้งเกิดบุตรในกรณีที่มีบิดามารดาไม่มีสัญชาติไทยแล้ว

ดังนั้นนายทะเบียนมีหน้าที่ต้องรับแจ้ง” แต่มีจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้ทำการแจ้งเกิดด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นขาดความรู้ อยู่ห่างไกล หรือความเข้าใจของเจ้าหน้าที่นายทะเบียนผู้รับแจ้ง ยิ่งปล่อยไว้นานวัน การหาหลักฐาน การพิสูจน์หลักฐานยิ่งทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะรายที่ต้องใช้พยานบุคคล ยิ่งอายุมาก คนที่จะสามารถยืนยันรับรองการเกิดก็อาจจะจากโลกนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ กลายเป็นกลุ่มที่เรียกว่า “คนไร้รากเหง้า” ซึ่งยืนยันว่าตนเกิดไทยแต่ไม่มีหลักฐานการเกิด จะให้ทำการขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์ต่างด้าวก็กลายเป็นทำไม่ได้ เพราะเจ้าตัวบอกเป็นคนไทย กลายเป็นคนที่ไม่รู้ว่าจะเป็นพลเมืองของผืนแผ่นดินใด

ในขณะที่สถานการณ์การแก้ปัญหากำลังดำเนินไป โดยทางเครือข่ายสถานะบุคคลได้มีโอกาสนำเสนอรายงานสถานการณ์และปัญหาล่าสุดต่ออธิบดีกรมการปกครอง เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา นำไปสู่แนวโน้มในการแก้ปัญหาในเชิงนโยบายและลงไปสู่เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ เพียงไม่ถึงสัปดาห์ทางเครือข่ายสถานะบุคคลได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีปฏิเสธการรับแจ้งเกิดของน้องเกด (นามสมมุติ) ที่แม่พาไปแจ้งเกิด ณ สำนักทะเบียนของเทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ แต่กลับได้รับการปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ ด้วยเหตุผลที่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่มีบ้านเลขที่ลงให้ เนื่องจากครอบครัวนี้อาศัยอยู่บ้านเช่า ครั้นจะยืนยันตามหลักเกณฑ์ก็กลัวจะจบเรื่องลงด้วยการถูกแจ้งจับอย่างที่เป็นข่าว

ในกรณีดังกล่าว คุณเขมชาติ ศักดิ์สกุลมงคล ผู้อำนวยการองค์การยุติธรรมนานาชาติ และหนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนของเครือข่ายสถานะบุคคล ผู้รับเรื่องด้านการให้คำปรึกษาในกรณีการปฏิเสธรับแจ้งเกิดล่าสุด ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า “เรื่องการขาดเอกสารการแจ้งเกิดนับเป็นสิ่งที่น่าหนักใจในการแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งยังคงพบในปัจจุบัน แม้จะมีข้อกฎหมายรองรับ สิ่งสำคัญคือการร่วมกันแก้ปัญหาของทุกฝ่ายด้วยใจจริง แบบอย่างที่ดีซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นแก้ปัญหาที่เน้นการเปิดโอกาสให้ประชาชน และภาคประชาสังคม อย่างโรงเรียน หรือโรงพยาบาลมามีส่วนร่วมกับภาครัฐ คือ โมเดลการแก้ปัญหาที่เน้นการมีส่วนร่วม ที่เกิดขึ้นจากคณะทำงานการจัดการการแก้ปัญหาด้านสถานะบุคคลในพื้นที่แม่ฮ่องสอน

โดยหน่วยงาน กพร. มีการยอมรับและมอบรางวัลเลิศรัฐด้านการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและประชาชนในปีที่ผ่านมา ที่น่าชื่นชมคือคุณหมอสุพัฒน์ ใจงาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้าและทีมห้องคลอดก็ทำการจดแจ้งเกิดร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม อุดรอยรั่วของปัญหาการแจ้งเกิดเพื่อลดปัญหาการก่อตัวของปัญหาสถานะบุคคลที่สูงขึ้น ดังนั้นผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างเจ้าหน้าที่ทะเบียนอำเภอ ควรได้รับการสนับสนุนในด้านความรู้ข้อกฎหมาย รวมถึงตัวผู้ประสบปัญหาที่ควรตระหนักถึงสิทธิตน อย่างในกรณีล่าสุดของการปฏิเสธแจ้งเกิดด้วยการขาดเอกสารทะเบียนบ้าน แท้จริงสามารถลงรายการในทะเบียนกลางของกรมการปกครองได้ ต่อมาเมื่อเราได้รับข้อร้องเรียนและไปเข้าพบเจ้าหน้าที่ทะเบียนเพื่อประสานความเข้าใจ ซึ่งล่าสุดก็ได้มีการนัดหมายวันที่จะสอบประวัติดำเนินการแจ้งเกิดแล้ว”

ในการรณรงค์ #IBELONG ของ UNHCR เพื่อขจัดปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมด ภายในปี พ.ศ. 2567 จะสามารถเป็นจริงและไปข้างหน้าได้เต็มกำลังจนสำเร็จดังฝัน ก็ต่อเมื่อคณะทำงานหรือผู้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่ต้องพะวงเฝ้าอุดรอยรั่วของปัญหาในการปฏิเสธการรับแจ้งเกิด ที่เป็นเหมือนการรักษาบาดแผลในขณะที่เลือดยังคงไหลไม่หยุดเฉกเช่นในกรณีที่เกิดขึ้นรายวันกับชีวิตของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

องค์การยุติธรรมนานาชาติ คือ องค์กรระดับสากลที่ปกป้องคนยากไร้จากความรุนแรงในประเทศไทย องค์การยุติธรรมนานาชาติทำงานเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐผู้มีอำนาจปกครองในในระดับท้องถิ่น ด้านการแก้ไขปัญหาทางสถานะบุคคล การต่อต้านการกระทำความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก และการต่อต้านการค้ามนุษย์

ขอบคุณแหล่งที่มาของบทความ : https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/913228
Copyright © 2018. All rights reserved.