70 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เตือนใจ ดีเทศน์ มอง “คนไร้รัฐในไทย”

เมื่อไม่นานมานี้ระทรวงการต่างประเทศได้จัดการบรรยายพิเศษในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และการประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 100 คน โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ประสบการณ์การทำงานในเรื่องคนไร้รัฐ พัฒนาการและข้อท้าทายในการขจัดคนไร้รัฐในประเทศไทย” ในฐานะที่มีประสบการณ์การทำงานในเรื่องดังกล่าวมานานกว่า 40 ปี หนึ่งในผลงานสำคัญคือการก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เมื่อปี 2528 เพื่อศึกษาและพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา โดยเน้นการรักษาป่าและการเกษตรที่ยั่งยืน ทำให้ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ อาทิ รางวัล Global 500 ของ UNEP เมื่อปี 2535 รางวัล Goldman Environmental Prize เมื่อปี 2537 การเป็น 1 ใน 25 ของสตรีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่นของโลกของ UNEP เมื่อปี 2540

นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐอย่างเป็นระบบ และมีพัฒนาการเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมอบสถานะทางกฎหมาย รวมถึงการรับแจ้งเกิดและออกสูติบัตร การแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิอาศัยและการเข้าถึงสวัสดิการสังคม ทั้งนี้ไทยเป็นหุ้นส่วนที่ดีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอชซีอาร์) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน(ไอโอเอ็ม) โดยไทยยังได้รับการหยิบยกให้เป็นตัวอย่างของภูมิภาค ในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการเกิดปัญหาบุคคลไร้รัฐในประเทศ นอกจากนี้ไทยยังได้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Group of Friends ของโครงการ #IBelong Campaign ของยูเอ็นเอชซีอาร์ ซึ่งมีเป้าหมายขจัดปัญหาบุคคลไร้รัฐให้หมดไปภายใน 10 ปี หรือปี 2567 อีกด้วย

ขณะที่นางเตือนใจได้เล่าถึงประสบการณ์และการเรียนรู้กว่า 40 ปี ในเรื่องการขจัดคนไร้รัฐในประเทศไทยผ่านมุมมองเกี่ยวกับประเด็นอัตลักษณ์ คุณค่า และความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ และได้สรุปนโยบายและสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์และการไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ทั้งพัฒนาการเชิงบวก เช่น การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 รับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรแก่เด็กทุกคนที่เกิดในไทย การปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และความท้าทายที่สำคัญ เช่น สิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน สิทธิในสถานะบุคคลทางกฎหมาย ความสมดุลมั่นคงในการดำรงชีวิต และการบริหารจัดการ ในหลายกรณีแม้ผู้อยู่อาศัยในไทยมานานจนผสมกลมกลืนเป็นคนไทยแต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย เนื่องจากติดขัดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแปลงสัญชาติ ที่ดินทำกินและที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้รับผลกระทบจากการแย่งชิงพื้นที่ การออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ และการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทางบกและทางทะเลทับซ้อน

นางเตือนใจได้เสนอให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะการเชื่อมข้อมูลทางทะเบียน และการเร่งเสริมสร้างความตระหนักรู้ของประชาชน และได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่ว่า “ประชาชนที่อยู่ในประเทศมีมานานแล้วแต่ก็ไม่ใช่คนไทย คือเขาไม่ถือว่าเป็นคนไทยแท้จริงเขาอยู่และเกิดในเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้รับประโยชน์ของความเป็นไทยแท้จริง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ ถ้าไม่มีใครเอาใจใส่ก็จะทำให้ความมั่นคงของประเทศด้อยไป” และหวังว่า ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการขจัดความไร้รัฐได้ในปี 2567

แหล่งข่าว https://www.matichon.co.th/foreign/indepth/news_1222339

Copyright © 2018. All rights reserved.