ลงพื้นที่ให้คำปรึกษา บ้านหัวยน้ำขุน พื้นที่คนไร้สัญชาติ

สำนักกฏหมายสัญชาติเคลื่อนที่ ภายใต้โครงการ The development of rights status for access to livelihoods ร่วมกับ ADRA  เดินทางลงพื้นที่ บ.ห้วยน้ำขุ่น ม.16 ต.ห้วยน้ำขุ่น อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เพื่อให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษากับกลุ่มชนเผ่าไร้สัญชาติในพื้นที่ทั่วตำบลห้วยน้ำขุ่น ระหว่างวันที่  26-28 มิ.ย. 56 มีกลุ่มชาวบ้านไร้สัญชาติจำนวนไม่น้อย ทยอยเดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ เพื่อขอคำปรึกษาแนะนำ เกี่ยวกับปัญหาสถานะบุคคล
                ด้วยการเดินทางมาพบกลุ่มคนไร้สัญชาติที่นี่เป็นไปด้วยความอยากลำบาก อยู่ในช่วงฤดูที่จะเข้าสู่หน้าฝนเส้นทางผ่านหุบเขาสูงชัน ตลอดระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร จากอำเภอแม่สรวยจังหวัดเชียงราย เป็นอีกเหตุปัจจัยที่ยังคงทำให้ประชาชนที่นี่ยังคงเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่สามารถใช้สิทธิในฐานะพลเมืองไทย ชาวบ้านหลายครอบครัวเคยเดินทางไปมาระหว่างสำนักทะเบียนอำเภอเพื่อยื่นคำขอมีสัญชาติ แต่ด้วยเพราะขั้นตอนกระบวนการดำเนินเรื่อง ต้องมีการสอบพยาน การตรวจสอบพยานหลักฐานมากมายหลายครั้ง ทำให้ชาวบ้านเกิดความท้อถอย อีกทั้งยังมีครอบครัวจำนวนมากที่ขาดความรู้และความเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินเรื่องหลายครอบครัวขาดผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำ หลายครอบครัวสื่อสารได้เพียงเฉพาะภาษาชนเผ่าท้องถิ่น
                นางนาคือ จะมือ อายุ 73 ปี ชาวลาหู่ กล่าวว่าเป็นคนไร้สัญชาติที่อพยพมาจากอำเภอแม่ฟ้าหลวงเมื่อ30 ปีที่แล้ว เมื่อปี พ.ศ.2542 เคยได้รับการสำรวจจากเจ้าหน้าที่อำเภอแม่สรวย ได้บัตรสีเขียวขอบแดงมาเก็บไว้แต่ตนเองก็ไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร มีเพื่อนบ้านพูดคุยกันว่าจะมีมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้ จึงเดินมาจากบ้านมาที่นี่ ไกลกว่า1 กิโลเมตร เพื่อมาพบเจ้าหน้าที่เพื่อขอคำปรึกษา นางนาคือ ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้ตนเองแก่ชรามาก ทำงานหาเงินไม่ไหวแล้ว อยากได้เบี้ยยังชีพเหมือนเพื่อนบ้าน เงิน 700 บาทต่อเดือนก็ยังช่วยซื้อข้าวสารไว้กินในครอบครัวได้
                ด.ช. เดชาวัต จะแฮ อายุ 13 ปี นักเรียนชาวลาหู่กล่าวว่า ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านห้วยน้ำขุ่น ตอนนี้อาศัยอยู่ตายายและพี่ชาย ตั้งแต่ตัวเองเกิดมายังไม่เคยเจอหน้าพ่อและแม่เลย ไม่รู้ว่าตอนนี้ไปอยู่ที่ไหนไม่เคยติดต่อมาเลย ยายของผมก็มีบัตรประชาชนแล้วแต่ผมและพี่ยังไม่มี ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรเพราะโตขึ้นเมื่อผมเรียนจบอยากเดินทางไปหางานทำต่างจังหวัด ถ้าผมทำเรื่องนี้สำเร็จ ก็จะได้เป็นคนไทยถูกต้อง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมและพี่จะทำเรื่องยื่นขอสัญชาติ เพราะเมื่อก่อนยังเป็นเด็กอยู่ไม่เข้าใจว่าจะต้องทำอย่างไร
                บ้านห้วยน้ำขุ่น เป็นชุมชนขนาดใหญ่มีประชากรหลากหลายชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันมากกว่า 4700 คนหรือกว่า 500 หลังคาเรือน มี ชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ปลูกข้าว ข้าวโพด ปลูกชา ปลูกกาแฟเป็นรายได้หลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ถึงแม้นการเปิดสำนักกฏหมายเคลื่อนที่เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำขั้นตอนการยื่นคำร้อง คำขอสัญชาติต่างๆ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในขั้นตอนในกระบวนการที่จะนำไปสู่การพิสูจน์สถานะและเข้าถึงสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ ในฐานะพลเมืองของรัฐ แต่กลุ่มชาวบ้านเหล่านี้ยังคงต้องเผชิญกับขั้นตอนต่างๆที่ซับซ้อน แต่การเดินทางมาพบกันครั้งนี้ก็เป็นการจุดประกายความหวัง ที่จะทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้และความเข้าใจ มีความมั่นใจและตื่นตัวต่อการเตรียมความพร้อมในเรื่องเอกสาร การค้นหาพยานบุคคลและเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในการยื่นคำร้อง ยื่นคำขอสถานะบุคคลต่างๆ ต่อทางราชการ
                นายสมชาติ พิพัฒธราดล หัวหน้าสำนักงานกฏหมายเพื่อการพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิกระจกเงากล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 วัน ที่ผ่านมามีชาวบ้านกว่า 500 คน มารับบัตรคิวเพื่อขอคำแนะนำในการดำเนินเรื่องเกี่ยวกับสัญชาติหลายครอบครัวไม่เข้าใจขั้นตอนว่าจะต้องทำอย่างไรบางครอบครัวก็ตกสำรวจของราชการติดต่อกันหลายครั้งหลายครอบครัวยื่นคำร้องไปที่อำเภอแล้วแต่ก็ยังไม่คืบหน้าและจากการทำงานที่นี่ยังพบเด็กกำพร้า จำนวนมากที่ถูกทอดทิ้ง ครอบครัวพ่อแม่แยกทางกัน เด็กหลายคนอยู่กับตายาย ซึ่งเป็นปัญหาที่เราต้องเร่งช่วยเหลือชาวบ้านเหล่านี้ต่อไป
ทีมข่าว TOBETHAI  มูลนิธิกระจกเงา
สนับสนุนโดย Diakonia
Fri, 06/28/2013
Copyright © 2018. All rights reserved.